ยูโทเปียสปช.:’จอกอ’
ยูโทเปียสปช. : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล
อาจารย์เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้พูดถึงเป้าหมายการปฏิรูปทั้ง 6 ข้อ คือระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมต่อสังคมไทย ระบบเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดคอร์รัปชั่น ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม รัฐให้บริการอย่างทั่วถึงสะดวกรวดเร็ว และต้องบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เป็นธรรม ว่าเป็นความฝัน หรือความคิดในเชิงอุดมคติ หากแต่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจส่วนตัวที่จะนำพาให้ สปช.มุ่งไปยังเป้าหมายนั้นให้ได้
ผมให้การเคารพอาจารย์เทียนฉายอย่างยิ่ง และเชื่อในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกัน เพื่อนพ้องใน สปช.หลายคน อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ที่ได้ร่วมงานกันในศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) ที่อาจารย์เทียนฉายเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร
และที่ผ่านมา ตัวแทนของศูนย์คุณธรรมทั้งสองคนก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำงานใน สปช. นั่นหมายถึงความเชื่อถือในองค์กรที่สูงอย่างยิ่ง แต่สิ่งหนึ่งผมเคยตั้งข้อสังเกต และเคยเสนอในที่ประชุมหลายครั้ง คือ ความเป็นอิสระของศูนย์คุณธรรม ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้งานของศูนย์คุณธรรมเอื้อมไปไม่ถึงนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย
ครั้งสุดท้ายที่พบกัน อาจารย์เทียนฉายยอมรับว่า การอยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานรัฐ เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับการขับเคลื่อนจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองจริง และเป็นความตั้งใจที่จะผลักดันให้ศูนย์คุณธรรมเป็นองค์กรอิสระที่มีความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจ สามารถที่จะกำกับ ดูแล เรื่องจริยธรรมได้อย่างทั่วถึงและจริงจัง
จากศูนย์คุณธรรม มาถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ โครงสร้างอาจแตกต่างกัน วิธีการในการไปสู่เป้าหมายก็ต่างกัน โดยเฉพาะ สปช.หลายท่านคงพอได้สัมผัสถึงความพยายามในการเข้ามาชี้นำ แทรกแซงการทำงานของอำนาจนอก สปช. การสั่งการผ่านสื่อ ให้ สปช.อยู่ในแถว และระมัดระวังในการพูดจา ไม่ว่าจะโดยถือเอาอำนาจสุดท้ายในการเลือกคนเข้ามาเป็น สปช.หรือไม่ แต่ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดว่า กระบวนการเสนอความเห็นจนกระทั่งการตราเป็นร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มีโอกาสที่จะถูกแปลงสาร หรือฆ่าตัดตอนมากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะเมื่อมีแนวคิดส่วนใหญ่ว่า ไม่จำเป็นต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ แต่อาศัยความเห็นร่วม โดยผ่านการระดมความเห็นผ่านกรรมาธิการวิสามัญ การประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งการเสนอข้อมูล ผลการศึกษาผ่านองค์กรต่างๆ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกซึมความเห็นจากกลุ่มอำนาจบางกลุ่มได้ ว่ากันเฉพาะการปฏิรูปสื่อ ประเด็นที่เป็นห่วงกันมาก คือ ข้อเสนอในลักษณะการควบคุม บังคับการทำงานของสื่อ โดยผ่านองค์กรรัฐ หรือกำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบการ ตัวแทนสื่อที่มาจากภาครัฐ และตัวแทนภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมในกรรมาธิการ อาจให้ความเห็นสนับสนุน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า สื่อไม่มีความรับผิดชอบ โดยอาศัยปรากฏการณ์สื่อการเมืองที่ผ่านมา
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปของ 4 องค์กรสื่อ ที่จะทำงานปฏิรูปในภาคผู้ประกอบวิชาชีพ และตรวจสอบการทำงานของ สปช. โดยเฉพาะในด้านสื่อสารมวลชน ตั้งหลักกันว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 เป็นแม่บทของเนื้อหา ที่จะศึกษาแก้ไข หรือเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยเน้นหนักในส่วนที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน อันนับเป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อทั้งหมด
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เป็นหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่แน่นอนว่า จะต้องมีความรับผิดชอบกำกับอยู่ด้วย ภารกิจสำคัญของ สปช.สายสื่ออันดับแรก คือต้องผลักดันให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อให้ได้ และเมื่อถึงขั้นตอนกรรมาธิการร่าง อย่างน้อยต้องรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานในส่วนนี้ ที่รวมถึงบทบาทขององค์กรรัฐที่รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเขียนว่าเป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ที่ยังไม่ได้เป็นอิสระและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่า หลายเรื่องที่ สปช.ตั้งใจทำ ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของเวลา เป็นเรื่องอุดมคติที่ยังไม่ปรากฏผล แต่การต้านอำนาจนอก สปช.เป็นเรื่องจำเป็น สำคัญ เรื่องนี้เรื่องเดียว จะทำให้พังทั้งหมด