ผลศึกษา “บทบาทสื่อกับการป้องกันความสูญเสีย จากการเสียชีวิตของหมอกระต่าย-แตงโม ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จากฐานข้อมูล “ไวซ์ไซท์” พบสัดส่วนการเสนอข่าวแตงโม มากกว่าหมอกระต่าย 3 เท่า ขณะที่มิติข่าวการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสีย พบข่าวหมอกระต่ายมีสัดส่วน 1:3 ส่วนข่าวแตงโม มีสัดส่วน 1:70
คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ศึกษาการนำเสนอข่าวของสื่อผ่านทางโซเชียลมีเดียในประเด็น “บทบาทสื่อกับการป้องกันแก้ไขความสูญเสีย จากกรณีการเสียชีวิตของหมอกระต่ายและแตงโม นิดา” โดยใช้ฐานข้อมูลของ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ “ZOCIAL EYE” ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ หลังการเสียชีวิตของหมอกระต่าย และ 2 สัปดาห์ หลังวันที่แตงโม นิดา ตกจากเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
ผลการศึกษาข้อมูลจากแพล็ตฟอร์ม FB Page ของสื่อมวลชน/สำนักข่าว ได้แก่ เพจสื่อ เพจรายการ เพจคอลัมน์ ของหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์สำนักข่าวของทั้งสื่อหลักดั้งเดิม และสำนักข่าวออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโม นิดา ถูกนำเสนอมากกว่าข่าวที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ในจำนวนสัดส่วนชิ้นข่าว 6,756 : 2,338 หรือ ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโม นิดา ถูกนำเสนอมากกว่าข่าวที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ประมาณเกือบ 3 เท่า
แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนข่าวในมิติการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสีย พบว่า กรณีการเสียชีวิตของหมอกระต่าย พบจำนวนข่าวในมิติการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสีย เปรียบเทียบกับข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิต เป็นจำนวน 802 : 2,338 ชิ้นข่าว หรือในสัดส่วนประมาณ 1 : 3 ในขณะที่ กรณีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา พบ ข่าวในมิติการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสีย เปรียบเทียบกับข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิต เป็นจำนวน 94 : 6,756 ชิ้นข่าว หรือในสัดส่วนประมาณ 1 : 70
ส่วนสาเหตุที่ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโม นิดา ถูกนำเสนอมากกว่าข่าวที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ประมาณเกือบ 3 เท่า อาจเป็นเพราะ การเสียชีวิตของแตงโม นิดา มีเงื่อนงำที่ต้องสืบสวน ค้นหามากกว่าการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุและอย่างไร
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษายังพบว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่สื่อมวลชนได้ใช้โอกาสในการทำหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับการกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ หรือมีศักยภาพ ความพร้อม ความสนใจ และการสร้างความตื่นตัวสนใจของสังคม ด้วยการนำเสนอข้อมูลเพื่อป้องกันอันตรายและความสูญเสียในการข้ามถนนจากอุบัติเหตุการเสียชีวิตของหมอกระต่ายถนน และในการสัญจรทางน้ำ จากเหตุการณ์ตกเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาของนักแสดง แตงโม นิดา
ทั้งนี้ อาจเป็นการยากที่จะกำหนดว่า สื่อควรนำเสนอจำนวนข่าวในมิติการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสียในสัดส่วนเท่าไรจากข่าวการเสียชีวิตที่เป็นที่สนใจ แต่ผลจากการศึกษาครั้งนี้ในทั้งสองกรณีการเสียชีวิตได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอว่า สิ่งสำคัญในการทำหน้าที่ของสื่อในมิติการป้องกันแก้ไขจากความสูญเสีย คือ การกำหนดทิศทางการติดตาม และการนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมิติการป้องกัน แก้ไข เพื่อลดความสูญเสีย โดยภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ โดยภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ มีความสามารถ และ โดยผู้ขับขี่รถยนต์ ผู้ใช้รถใช้ถนน ใช้เรือ ในการสัญจรทางน้ำในการเดินทาง
กล่าวโดยสรุป กรณีข่าวความสูญเสีย ที่เป็นที่สนใจของสังคม นอกจากการนำเสนอข่าวในมิติเหตุการณ์ ทั้งในเชิงรายงานเหตุการณ์ และ/หรือ การรายงานเชิงสืบสวน สื่อควรถือเป็นโอกาสในการทำหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้ ทั้งกระตุ้นเตือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการร่วมรับผิดชอบทั้งโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ โดยภาคส่วนที่มีศักยภาพ มีความพร้อม ที่สำคัญคือภาคส่วนทางสังคม ในกรณีศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ผู้ใช้เรือ ในการสัญจรทางน้ำ เพื่อร่วมกันป้องกันแก้ไขความสูญเสียไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ >>> https://www.presscouncil.or.th/academic/8049