สื่อเพื่อส่งสารให้คนไทยป้องกันเอาตัวรอดจากพิบัติภัย

ให้ความรู้เรื่อง… เอาตัวรอดจากพิบัติภัย

ไม่ต้องผลิตใหม่… แค่ใส่เพิ่มไว้ท้ายข่าว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ พิบัติภัยในประเทศ ทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ รุนแรงมากขึ้น แนะคนไทยจดจำ-เก็บเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินแบบพร้อมใช้ รวมทั้งเตรียม ‘กระเป๋ายังชีพ’ มาตรฐานสำหรับ 72 ชั่วโมงแรก ไว้รับมือน้ำท่วม เผยสื่อส่งสารสู่สังคมน้อยไป ขณะที่ผู้ผลิตเนื้อหายอมรับ เรตติ้ง-รายได้-คนดู ส่งผล Content กลุ่มนี้ไปไม่รอด สะกิดนักข่าว ‘อย่าทำตัวเป็นผู้ประสบภัย’ ขณะเข้าพื้นที่ ด้านนักวิชาการชี้ทางออก “ไม่ต้องผลิตใหม่” แค่เติมความไว้รู้ท้ายข่าวก็เพียงพอแล้ว

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “สื่อเพื่อส่งสารให้คนไทยป้องกัน-เอาตัวรอดจากพิบัติภัย” ดำเนินรายการโดย นายณรงค สุทธิรักษ์ และ นายวิชัย วรธานีวงศ์ โดยมีผู้ร่วมสนทนาได้แก่ นายเลอพงศ์ สวนสังข์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายณัฐพงศ์ สุวรรณรัตน์ Executive Producer รายการคนหลังข่าว TNN 16 ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม (‘นาฏราช’ ครั้งที่ 7) และ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองและการพัฒนาองค์กรในวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.)

การให้ความรู้ เรื่องการป้องกันภัยพิบัติ การเอาตัวรอด ในสถานการณ์พิบัติภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และ/หรือ จากการกระทำของมนุษย์เอง ถูกตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเกิดเพลิงไหม้สถานบันเทิงเมาท์เทน บี จ.ชลบุรี ที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบน ‘โซเชีลมีเดีย’อย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนยืนดูผู้ที่วิ่งออกจากสถานที่เกิดเหตุในลักษณะที่ถูกไฟคลอกร่างกาย โดยไม่มีผู้ใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งกรณีของเพื่อนผู้ถูกกราดยิงในจังหวัดยะลา ตะโกนถามหาหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อจะแจ้งเหตุร้ายต่อเจ้าหน้าที่  ทั้ง ๆ ที่ 191 เป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้แจ้งเหตุร้ายได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจากต่างประเทศที่ระบุว่า แม่ชาวอเมริกันสอนและฝึกซ้อมลูกน้อยให้เอาตัวรอด หากเกิดการกราดยิงในโรงเรียนนั้น  นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องให้ความรู้กับประชาชนแล้ว สื่อมวลชนก็ถูกคาดหวังจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องในให้ความรู้  การเตือนภัย และการเอาตัวรอดในสถานการณ์พิบัติภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราด้วย

นายเลอพงศ์ ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์สาธารณภัยในประเทศไทย ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีรูปแบบแปลกใหม่ รวมถึงสาธารณภัยที่เกิดจากธรรมชาติได้ทวีและรุนแรงขึ้น ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และ 2) ภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ รวม 18 สาธารณภัยซึ่งในประเทศไทยจะเกิดภัยทั้ง 2 รูปแบบ อย่างไรก็ตามภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ พอที่จะป้องกัน ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดได้ ถ้าเรามีความตระหนักใส่ใจ มีการป้องกัน จะลดผลกระทบได้

สำหรับ ปภ.ได้เตรียมความพร้อม รับมือสาธารณภัยต่าง ๆ โดยดำเนินการตั้งแต่ ก่อนเกิดภัย ด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ ออกนโยบาย ทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมถึงให้ความรู้กับประชาชน และเครือข่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ กรณีที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรือจากธรรมชาติ เพื่อให้ความรู้ รวมถึงขณะเกิดภัย ถ้าประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐเตรียมความพร้อมก็จะลดผลกระทบความรุนแรงได้

3 วิธีเอาตัวรอดจากสาธารณภัย

สิ่งสำคัญในการเอาตัวรอดจากสาธารณภัยต่าง ๆ มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การตระหนักรู้ เป็นสิ่งที่สำคัญสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน ปภ.และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านช่องทางโซเชียล รวมทั้งมีหนังสือให้ค้นคว้าได้ รวมถึงจัดทำโครงการให้ความรู้กับประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เพราะเรื่องเหล่านี้

2. รู้แล้วต้องให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญ ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้ความรู้นักเรียนด้วย มีภาคบังคับให้เรียนให้รู้ หากเรียนแล้วไม่สนใจ ใส่ใจก็จะทำให้สิ่งที่เรารู้สูญหายไป ซึ่งในต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับเด็กประถม มัธยม ก็จะมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

3. การปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างประเด็นสำคัญ ทางหนีไฟ สำหรับอพยพ ถ้ามีคำสั่งคำเตือนต่าง ๆ เช่นมีข้อห้ามสูบบุหรี่ ก็ให้ทำตามกฎระเบียบ กฎหมาย จะลดผลกระทบได้

แนะประชาชนเตรียมความพร้อม

ผอ.ส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ปภ.ยังสะท้อนปัญหาด้วยว่า มีจะมีการให้ความรู้ของฝ่ายราชการ และมีการสอนในระบบการศึกษา แต่ประเทศไทยไม่ค่อยเกิดภัยใหญ่ ๆ อย่าง แผ่นดินไหว วาตภัย ประชาชนจึงไม่ได้สนใจการป้องกันและการเอาตัวรอด

ส่วนข้อแนะนำสำหรับประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ จะป้องกันตัวเองและจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ผอ.เลอพงศ์ ระบุว่า สิ่งที่สำคัญในการป้องกันคือการเตรียมความพร้อม ต้องมีแผนในการปฏิบัติ คนไทย อาจจะเห็นว่าไม่เหมือนญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อเมริกา ที่มีสาธารณภัย แต่เราจะคิดแบบนั้นไม่ได้ ต้องคิดว่าวันนี้สาธารณภัยทวีความรุนแรง และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่เกิดจากธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม พายุ หรือแผ่นดินไหวก็เริ่มมีการขยับตัวของเปลือกโลกใกล้ ๆ ประเทศเรา ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามีความตระหนัก ใส่ใจ เตรียมความพร้อม เราต้องมีการวางแผนก่อนเกิดภัย

ในต่างประเทศ ประชาชนจะมี Survival Bag หรือ ‘กระเป๋ายังชีพ’ แทบทุกบ้าน และมีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งโดยหลักแล้วพื้นฐาน 72 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่สำคัญ กรณีถ้าเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ ยกตัวอย่างน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เราจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งมันเกิด Disaster ขนาดใหญ่

แม้ภาครัฐจะช่วยเต็มที่อยู่แล้ว แต่ความช่วยเหลือแบบทั่วถึง 100% เป็นไปไม่ได้ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ช่วยกับผู้รอรับความช่วยเหลือ ฉะนั้นถ้าเราตระหนัก และเตรียมความพร้อมสำหรับ 72 ชั่วโมงแรก ประชาชนก็จะสามารถดำรงชีพได้ด้วยตัวเองเพื่อรอรับความช่วยเหลือกรณีที่เกิดสาธารณภัย ก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ ซึ่ง Survival Bag ประชาชนสามารถทำเองได้ เช่น อาหารที่พร้อมฉีกซองรับประทาน น้ำดื่ม เอกสารสำคัญ ไฟฉาย รวมทั้งอุปกรณ์ยังชีพเบื้องต้น ซึ่งหากเกิดเหตุเราก็สามารถคว้ากระเป๋าใบนี้ คนในครอบครัวเราสามารถเอาชีวิตรอดได้ อย่างน้อย 72 ชั่วโมง เป็นพื้นฐาน

หรือกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาคารสูง คอนโดมิเนียมนั้น การฝึกซ้อมแผน ที่นอกจากจะต้องทำเป็นประจำทุกปีแล้ว ตัวเราเองอาจจะต้องซ้อมเองด้วยว่า หากเกิดเหตุจะอพยพ หรือหนีอย่างไร นี่คือในส่วนของการเตรียมความพร้อม ที่ต้องตระหนัก ที่อยากเน้นย้ำถึงการใส่ใจให้ความสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น ความสูญเสียในเหตุการณ์ 9/11 ตึกเวิล์ดเทรดฯ สหรัฐอเมริกานั้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการซ้อมอพยพหนีไฟในตึกหลายครั้งมาก ในทางกลับกัน ถ้าเหตุการณ์ในครั้งนั้น เกิดก่อนที่จะมีการซักซ้อมหนีไฟ จำนวนผู้เสียชีวิตจะมากกว่าที่เห็น นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าทุกคนตระหนักรู้ ใส่ใจซ้อมแผนให้มีความตั้งใจจริง ถ้าเกิดเหตุจะลดผลกระทบได้มาก

สื่อยังมีบทบาทเตือนภัยน้อย-หนุนร่วมมือ

ขณะที่มุมมองต่อสื่อว่า ทำหน้าที่เตือนภัย ให้ความรู้ประชาชน ได้มากน้อยแค่ไหน ผอ.ส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ปภ.ระบุว่า ยังมีน้อย หากเทียบกับนิสัยคนไทย สื่อมีส่วนสำคัญมากถ้าร่วมกันสร้างกระแส ความตระหนักด้านสาธารณภัย ทำให้ประชาชนอินไปตาม และรับกับกระแส จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้และให้ความสำคัญมากกว่านี้

ขณะที่ ปภ.เอง ได้มีการผลิตสื่อต่าง ๆ หลายรูปแบบ เกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ เพื่อแจกจ่ายให้กับเยาวชน ตามโรงเรียนต่างๆ ทำข้อมูลต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ของกรม ปภ. ทำอนิเมชั่นสำหรับกลุ่มเด็ก ๆ เผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง Facebook ซึ่งเป็นการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง แต่พลังภาครัฐไม่เพียงพอที่จะช่วยกันผลักดัน ดังนั้นอีกส่วนคือ การร่วมมือกับสื่อมวลชนต่าง ๆ ‘แมสมีเดีย’ ก็มีการให้ความรู้ รายการในสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอด ยังมีส่วนน้อย ดังนั้น หากสื่อเช่นทีวี จะมีรูปแบบรายการที่ให้ความรู้เพิ่มเติมขึ้น หรือมีไอดอลสื่อต่าง ๆ เซเลบ มาช่วยกันขับเคลื่อน ก็อาจจะทำให้เกิดความรับรู้อย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้ประชาชนตระหนักขึ้น เพราะสื่อมีส่วนสำคัญมากในเรื่องการป้องกันสาธารณภัย

ผอ.เลอพงศ์ ยังฝากถึงประชาชน ด้วยว่า นอกจากการตระหนักรู้ ก็จะต้องมีความกลัวด้วย เมื่อเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย ให้คิดเสมือนว่า หากเกิดเหตุอะไรขึ้น อย่างเช่น ไปห้างสรรพสินค้าต้องคิดไว้ในใจว่า ถ้าเกิดเหตุไฟไหม้เราจะหนีอย่างไร ช่องทางหนีไฟต่าง ๆ ในอาคารสูง ในห้าง ในโรงหนัง ให้สังเกตทาง ไฟป้ายเตือน ขณะเดียวกัน เจ้าของสถานที่ต่าง ๆ ก็ต้องมีแผนสำรอง การอพยพประชาชน การระงับเหตุเบื้องต้นอย่างไร

การบันทึกหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุ สายด่วนฉุกเฉินต่าง ๆ เอาไว้ในมือถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อเวลาเกิดเหตุ หากทำอะไรไม่ถูก อย่างน้อยก็โทรแจ้งได้ “ผมไม่สอนให้จำ แต่ทุกคนต้องบันทึกเบอร์ต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในโทรศัพท์ ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา โดยสัญชาตญาณมนุษย์ อาจจะตกใจแล้วลืม ทำอะไรไม่ได้ จำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยโทรศัพท์ทุกคนมี กดเบอร์ฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้” ผอ.ส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ปภ.ระบุ

สื่อหลักควรให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติมากขึ้น

ขณะที่สื่อมืออาชีพด้านรายการ อย่าง นายณัฐพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลนาฏราช จากสกู๊ปข่าว ‘เหตุระเบิดสี่แยกราชประสงค์’ เมื่อปี พ.ศ.2558 ฉายภาพถึงพัฒนาการของสื่อหลักอย่างทีวี จากประสบการณ์ การผลิตสื่อด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า การผลิตสื่อในบ้านเราตอนนี้ อยู่ที่ปลายเหตุ คือไปให้ความรู้เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว  แต่ไม่พูดถึงว่า การจะเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่ควรจะรู้ก่อนเกิดเหตุจะต้องทำอย่างไร

กรณีเมาท์เท่นบี นายณัฐพงศ์ เห็นด้วยว่า สถานบันเทิงต่าง ๆ ควรมีการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ด้วยการประกาศ แจ้งเตือนเป็นระยะ ๆ เช่นทางออก ทางหนีไฟอยู่ตรงไหน และต้องทำอย่างไรถ้าเกิดเหตุขึ้น เหมือนกับการโดยสารเครื่องบินที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้โยสารทราบว่า ทางออก มีจุดไหนบ้าง มีกี่ทาง มีเส้นนำทางอยู่ตรงไหน สถานบันเทิงก็ควรจะมี เช่น ก่อนที่เปลี่ยนดีเจ นักดนตรีจะเปลี่ยนวง ก็ควรบอกเพื่อเตือนสตินักท่องเที่ยว ผู้ใช้บริการ ในสถานบันเทิงนั้น ๆ

กับดักเรตติ้ง-รายได้ แนะภาครัฐสนับสนุน

ขณะที่ในมุมของผู้ผลิตสื่อถึงการให้ความสำคัญเรื่องภัยเหล่านี้ นายณัฐพงศ์ เห็นว่า สื่อหลักควรใส่ใจให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติมากขึ้น รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องให้การสนับสนุน เพราะรายการเหล่านี้เรตติ้งไม่สูงเนื่องจากพฤติกรรมคนดู ให้ความสนใจกับข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่สนใจดูเนื้อหาที่ให้ความรู้ในการป้องกัน  ซึ่งมีผลต่อโฆษณา นอกจากนี้รายการที่คนดูน้อย ก็จะถูกจัดไปอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ไปอยู่ในช่วงเที่ยงคืน(24.00 น.) หรือช่วงบ่ายสาม (15.00 น.) ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กยังไม่กลับจากโรงเรียน ขณะที่ช่วงที่เหมาะสมในการออกอากาศ ก็เป็นไพร์มไทม์ หรือเป็นช่วงหารายได้  ดังนั้นรายการเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ ถ้ารัฐไม่เข้ามาสนับสนุน ผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็จะไม่นำเสนอเพราะไม่มีรายได้  นอกจากนี้ สื่อสาธารณะที่เป็นของรัฐเอง ก็ไม่ค่อยมีการผลิตรายการในลักษณะนี้เท่าไหร่ ถ้าจะให้เอกชนผลิต เอกชนก็ต้องมองถึงรายได้เป็นหลัก

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ ที่สื่อจะร่วมมือกับมูลนิธิใหญ่ ๆ เช่น ร่วมกตัญญู ป่อเต็กตึ๊ง ฯลฯ ที่มีการบริจาคเงินและสิ่งของให้กับประชาชนอยู่เนือง ๆ นั้น สามารถเชิญมาเป็นสปอนเซอร์ผลิตรายการกับ ‘แมสมีเดีย’ เพื่อให้ความในรู้เรื่องเตือนภัยได้หรือไม่ นายณัฐพงศ์ ให้ความเห็นว่า คงต้องดูวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ต่าง ๆ ว่า สามารถทำได้หรือไม่ แต่ในเบื้องต้นนั้น สปอนเซอร์ควรเป็นหน่วยงานภาครัฐ

ต้องเตือนภัยทุกรูปแบบรวมทั้งการหลอกลวง

สำหรับรายการประเภทเตือนภัย ที่ยังคงปรากฎให้เห็นในรายการทีวี วิทยุ ก็พอมีอยู่บ้าง แต่เริ่มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้รับการตอบรับจากผู้สนับสนุนรายการ

ตอนนี้ ผมผลิตเอง ออกอากาศเอง ในช่วงเวลาของรายการ เหลือประมาณ 5-6 นาที จากที่เคยผลิตเป็นรายการครึ่งชั่วโมง (20 นาที) ซึ่งไม่ใช่ภัยพิบัติอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของการหลอกลวงต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย

ส่วนการพัฒนาคนสื่อ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น จำเป็นที่จะต้องทำ อย่างน้อยที่สุดก็ให้คนสื่อมีความรู้ไว้ก่อน จะได้แนะนำผู้รับสารได้ ที่สำคัญคือ เวลาคนสื่อลงพื้นที่ ต้องไม่เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน หรือกลายเป็นผู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ควรอยู่ในขอบข่ายที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ ไม่ต้องห่วงว่า ภาพจะไม่สวย ไม่ได้ข้อมูลที่ลึกที่สุด เพราะชีวิตเราสำคัญกว่าการที่จะได้ข้อมูล หรือภาพในเชิงลึก คือ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เราเข้าไปทำข่าว ไม่ใช่เช้าไปทำตัวเป็นผู้ประสบภัย

แนะแทรกความรู้เตือนภัยในข่าวกระแส

ในมุมมองของ นักวิชาการด้านสื่อ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ มองบทบาทสื่อในการรายงานข่าวเรื่องภัยพิบัติว่า การรายงานส่วนใหญ่ ตามข้อเท็จจริง หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการเตือนภัยล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว ถ้าเราจะรายงาน ที่ให้ความรู้และประโยชน์กับคนดูคนฟังจะเป็นเรื่องดี

จากที่ได้ศึกษา (สำรวจ) กลุ่มที่เป็นเจน Z ที่ไม่ค่อยได้ติดตามสื่อหลัก โดยสอบถามถึงความต้องการให้สื่อปรับปรุง เพื่อให้เขาสนใจ ก็ได้คำตอบว่า ยังติดตามคอนเทนท์เป็นเรื่อง ๆ โดยเฉพาะที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงมองว่า ทำอย่างไรจะให้เรื่องที่คนสนใจ ที่เป็นกระแส เช่นเรื่องไฟไหม้ เรื่อง(ดารา)ตกน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวคน

ถ้าสื่อจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนติดตาม ในคำตอบจากแบบสอบถาม ระบุว่า ให้เตือนภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนั้น จะทำอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรนั้น ขอแนะนำว่า ควรจะมีเนื้อหาในลักษณะของการให้ความรู้กับเหตุการณ์ที่นำเสนอนั้น “ตบท้ายเข้าไปในข่าว” คือ ต้องทำสคริปต์ เพื่อให้ผู้ประกาศอ่านเติมเข้าไปในเนื้อหาตอนท้ายข่าว พร้อมภาพกราฟิกประกอบว่า เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ ควรทำอย่างไร และมีหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับสารอย่างจริงจัง

รูปแบบนี้คือการสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนทางหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องผลิตรายการขึ้นมาใหม่ แต่ใช้การรายงานภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใน โดยผู้ดำเนินรายการ สามารถสอดแทรกความรู้เข้าไปในข่าวที่คนกำลังสนใจอยู่ ก็ใช้โอกาสนั้นในการให้ข้อมูล น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า และน่าจะเป็นผลิดีมากกว่า การผลิตคอนเทนท์ที่เป็นเรื่องเตือนภัยโดยเฉพาะ

 รวมถึงการให้ข้อมูลเรื่อง ช่องทางการติดต่อฉุกเฉิน ก็จะทำให้คนจดจำได้ อีกทั้งปัจจุบัน การจะทำให้น่าสนใจ ก็ควรมีอินโฟกราฟิกประกอบเรื่องราว แม้ข้อมูลจะไม่ได้เกี่ยวกับเขาโดยตรง แต่เมื่อมีการรายงานข่าวเรื่องที่คนสนใจ มีคนติดตามข่าวจำนวนมาก หากใส่ข้อมูลเตือนภัยเข้าไป ไม่น่าจะกินเวลามากนัก แต่จะทำให้ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ความรู้เรื่องสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

หนุนสื่อใช้แนวปฏิบัติ-องค์กรสื่อร่วมดูแล

ที่ผ่านมาการรายงานข่าวในกลุ่มภัยพิบัติสื่อหลัก แม้หลายสถานี ‘โปรดิวเซอร์’ จะตระหนักตรงนี้ แต่ถ้าออกมาเป็นแนวปฏิบัติว่า ควรให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น ในกรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ก็น่าจะทำให้ โทน (Tone) ของการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นดราม่าลดลง เช่น บางทีการมีแหล่งข่าวหิวแสง ที่ชอบมาโปรโมทในข่าว แต่สื่อกลับไปให้พื้นที่กับคนหิวแสงมากกว่าเนื้อหา ก็เลยทำให้โทนของเนื้อหาในส่วนอื่น ๆ ที่ควรจะได้ประโยชน์ลดลง ทั้งที่สิ่งที่ผู้หิวแสงแสดงตัวคือดราม่า ซึ่งดรามากทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องบันเทิง แต่มันอยู่ทุกวงการ

นอกจากนี้ Immersive Graphic ที่ทีวีช่องต่าง ๆ มี ก็สามารถนำมาใช้ในประเด็นเหล่านี้ได้ โดยใช้จำลองเหตุการณ์ และถ้านำมาเติมในเรื่องการให้ความรู้กับคน ก็จะช่วยเสริมขึ้นมา ซึ่งการไปทำคอนเทนท์ออกมาเป็นช่วงรายการ อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าการมานำมาเป็นภาพประกอบ (Insert) ในคอนเทนท์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้ฝ่ายกำกับดูแลสื่อก็ควรมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้ง กสทช. กองทุนพัฒนาสื่อ สภาวิชาชีพสื่อต่าง ๆ ด้วย

พร้อมกันนี้ รศ.สุรสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์ม ที่ทำเพจ เว็บไซต์ ที่ทำคอนเทนท์ ขณะเกิดมีเหตุการณ์แล้วจะหยิบประเด็น หรือบางแง่มุม ที่สื่อกระแสหลักไม่ได้พูดถึงและได้รับความสนใจมาก มีคนติดตามมากนั้น หากทีวี หรือวิทยุ มองถึงจุดนี้ และเพิ่มเติมความรู้เข้าไปก็จะทำให้คนหันมาสนใจ เรื่องที่่ไม่ใช่ดราม่าอย่างเดียว

ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ มรฏ.สวนสุนันทา ก็มีการเรียนการสอนเทคนิค ‘การเล่าเรื่อง’ (Story telling) ให้น่าสนใจอยู่แล้วว่า จะทำอย่างไรให้คนติดตามดู แต่ไม่ได้ไปถึงขั้นว่ากรณีข่าวภัยพิบัติจะต้องทำอะไร อย่างไร หากเรียนรู้แล้ว เอาไปประยุกต์ใช้ น่าจะเกิดประโยชน์  ที่สำคัญคือ ที่สอนกันไป เรียนกันไป จะนำไปใช้กันอย่าง อย่างไรเราก็สอนกัน แต่ถ้า ‘พี่ใหญ่’ ที่อยู่ในสถานีทีวีไม่เล่นด้วย หรือสถานีก็ไม่เอาด้วยอีก ก็ไม่เกิด ฉะนั้นจึงต้องไปที่ระดับโปรดิวเซอร์ ที่ควบคุมการผลิต และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ควรจะต้องได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลนี้ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมที่จะช่วยให้คะแนน ชมช่องที่มีการนำเสนอเรื่องที่เกิดประโยชน์