กำกับดูแล ไม่ใช่แค่ตรวจจับ

ยุคสมัยเปลี่ยน..การกำกับดูแลต้องปรับ

ไม่ใช่แค่ตรวจจับ..แต่ต้องเสริมแรงให้สื่อดีอยู่ได้ด้วย

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตสื่อไทย”

ในอดีตสื่อมวลชนจะเป็นผู้กำหนดวาระ โดยไล่เรียงจากบุคคลที่มีความสำคัญในสังคมมาก-น้อยไปตามลำดับ เช่น ข่าวภารกิจหรือการให้สัมภาษณ์ของผู้นำประเทศ ไปจนถึงข่าวบุคคลทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเดือดร้อนลำบากและต้องการความช่วยเหลือ สื่อมวลชนจึงมีบทบาทในการกำหนดมติมหาชน (Public Opinion) แต่ปัจจุบัน บุคคลต่าง ๆ สามารถนำเสนอเรื่องราวของตนเองได้ เช่น นักการเมืองใช้ช่องทางถ่ายทอดสด (Live) ผ่านเฟซบุ๊ก หรือโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ แล้วมีประชาชนเข้ามาติดตาม

นักการเมืองที่ใช้สื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์มาก ๆ ก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump-อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) สถิติก่อนที่เขาจะถูกแบนทวิตเตอร์ ในช่วงท้ายหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเขาก็ถูกแบน เขาบอกว่าสิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พูดเป็น Fake News (ข่าวปลอม) เป็น Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน) เป็นสิ่งที่ Mislead (สร้างความเข้าใจผิด) คนอเมริกัน แต่ถ้าดูโดยสถิติ เมื่อก่อนจะเป็นทวิตเตี้ยน ก็คือลงทวิตเตอร์บ่อยๆ จนเป็นประชากรทวิตเตอร์ เป็นทวิตเตี้ยนที่ Active (กระตือรือร้น) มาก ถามว่ามีผลต่อ Public Opinion (มติมหาชน) ไหม? ตอบว่า มี แล้วก็โดยที่ Bypass (ตัดข้าม) เลย Bypass สิ่งที่เรียกว่าสื่อมวลชน พูดถึงคำว่าสื่อเราก็คงต้องเข้าใจนิดว่าตกลงอะไรคือสื่อกันแน่?

ภาพเดิม ๆ ของสื่อมวลชน คือการทำงานแบบเป็นเส้นตรง (Linear) แม้จะปรับเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิทัลแล้วก็ตาม (เช่น ทีวีดิจิทัล) สื่อมวลชนถูกเรียกว่า “สื่อกระแสหลัก” หมายถึงสื่อระดับชาติ สื่อธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวาง ถูกมองว่าสามารถเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Keeping หรือ Gatekeeper) กำหนดการรับรู้และความคิดของคนในสังคมว่าจะให้คิดเกี่ยวกับอะไร หรือใครจะเป็นผู้นำทางความคิด (Opinion Leader) ในสังคม

ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชนเลยก็ได้ เพราะเรื่องราวต่าง ๆ สามารถติดตามได้บนอุปกรณ์ (Device) ซึ่งอยู่ในมือของทุกคนผ่านการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม โดยข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบกองบรรณาธิการ แต่ดูจากความต้องการของผู้รับสาร (Audience) หรือลูกค้า (Customer) แล้วไปค้นหาข้อมูลมานำเสนอ อีกอย่างมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยประมวลผล เช่น จำนวนคนดู ประชากรกลุ่มไหนดูบ้าง ทั้งหมดนี้อาจทำโดยคน ๆ เดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีกองบรรณาธิการ

การทำความเข้าใจสื่อในปัจจุบันต้องมุ่งไปที่แพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ มีวิธีการนำเสนอเนื้อหาแตกต่างกันในการทำให้น่าสนใจและมีผู้ติดตาม ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงผู้ผลิตเนื้อหา แต่ยังนับรวมถึงผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน แม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ในอดีตให้บริการเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ) ปัจจุบันก็ยังหันมาเป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วย

ผู้ใช้สื่อก็มีหลายระดับ แล้วก็ในแง่ของ Skill (ทักษะ) ก็เหมือนกัน ผู้ใช้สื่อที่ชาญฉลาดสามารถที่จะ Create (สร้างสรรค์) ได้ สามารถที่จะสร้างและ Transform (เปลี่ยนผ่าน) ธุรกิจ หรือ Activity (กิจกรรม) ของตัวเองได้ให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ตัดขาดจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ทวิตเตอร์ในตะวันออกกลาง ในช่วงของอาหรับสปริง มันก็จะถูกใช้เพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง ขณะที่ทวิตเตอร์ในเมืองไทยในช่วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

เมื่อดูบริบทของประเทศไทยต้องกล่าวถึงสื่อโทรทัศน์ เพราะไทยมีการเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์มากถึงร้อยละ 99 แต่ปัจจุบันจะพบการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต (เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ) มากขึ้น โดยมีการเปิดเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรับชมสื่อโทรทัศน์เพียงร้อยละ 48 “กลุ่มผู้ชมที่หายไปคือเด็กหรือคนรุ่นใหม่ ที่มีคำกล่าวว่าคนรุ่นใหม่ไม่ดูโทรทัศน์” ตัวชี้วัดที่น่าสนใจคือ “เรตติ้ง” ในอดีตสถานีโทรทัศน์อาจทำ   เรตติ้งในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่มักรับชม (Prime Time) ได้ถึงระดับ 20 ซึ่งเป็นเรตติ้งสูงที่สุด แต่ระยะหลัง ๆ เหลือเฉลี่ยเพียงระดับเลขหลักเดียวเท่านั้น นาน ๆ จะมีปรากฏการณ์ที่เรตติ้งขึ้นไปถึงระดับเลข 2 หลักสักครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ การรับชมเนื้อหาผ่านอินเตอร์เน็ตโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนด้านโครงข่าย หรือระบบ OTT (Over-the-top) ได้รับความนิยมมากขึ้นแทนการผ่านโทรทัศน์แบบเดิม ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศ (เช่น iQIYI , Netflix , Amazon) แต่ยังมีผู้ประกอบการไทย (เช่น Bugaboo ของช่อง 7 , 3Plus ของช่อง 3) ขณะที่ VOD (Video on Demand) หรือการรับชมเนื้อหาแบบไม่อิงกับผังรายการ ยอดผู้รับชมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการเผยแพร่เนื้อหาผ่านระบบ OTT แต่การแข่งขันก็สูงมาก เช่น Line ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนทนา เคยเปิดบริการ Line TV เป็น OTT แบบ VOD แต่ปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2564 หรือ Netflix ที่ปัจจุบันจำนวนผู้เป็นสมาชิกลดลง

เมื่อนำสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อไทย พบว่า ในปี 2562 ซึ่งยังไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เนื้อหาจากสื่อโทรทัศน์ (ไม่ว่าจะรับชมผ่านโทรทัศน์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ) ที่คนไทยนิยมติดตามมากที่สุดคือละคร แต่ปัจจุบันหรือปี 2565 กลายเป็นข่าวในประเทศที่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ตั้งแต่ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะข่าวในประเทศเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการ OTT จากต่างประเทศให้ไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ในไทยยังให้ได้

ขณะที่สื่อประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ระบบเคเบิ้ล โทรทัศน์ระบบดาวเทียม ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันก็ได้รับความนิยมน้อยลง ซึ่งจะเห็นความพยายามอยู่รอดผ่านการขายสินค้า แต่หลายอย่างที่นำมาขายก็ไม่ผ่านขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุดท้ายคือสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นประเภทของสื่อที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) มากที่สุด สวนทางกับการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น

โดยแพลตฟอร์มยอดนิยม 5 อันดับแรกของคนไทย คือ เฟซบุ๊ก ยูทูป ไลน์ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ตามลำดับ แต่หากแบ่งตาม Generation (ช่วงวัย) เฟซบุ๊กก็จะเป็นกลุ่ม Gen Y , Gen X เป็นหลัก ส่วนอินสตาแกรมจะเป็น Gen Y เป็นหลัก ขณะที่ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ เป็น Gen Z เช่นเดียวกับ ติ๊กต๊อก (TikTok) ก็เป็นพื้นที่ของ Gen Z เป็นหลัก

Opinion Leader ในอดีต ตอนนี้ก็ถูกแทนที่ด้วย Social Influencer (ผู้มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์) ของปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เด็กจะไม่บอกว่าอยากเป็นนักข่าวแล้ว เด็กทุกคนจะเป็น Content Creator (ผู้ผลิตเนื้อหา) คือไม่จำเป็นต้องมี Ethics (จริยธรรม) อะไรเลย คือคุณ Create (ผลิตเนื้อหา) เป็น คุณทำ Multi-Platform (สื่อสารข้ามแพลตฟอร์ม) เป็น นั่นคือลักษณะที่เป็น Skill ฉะนั้น Traditional Media Journalist (สื่อมวลชนแบบดั้งเดิม) ที่ยืนคืออะไรตรงไหน?

ทั้งนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า “สำนักข่าวหรือสื่อมวลชนแบบเดิมสูญเสียความเป็นเสาหลักด้านการสื่อสารไปมาก” ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นสื่อพยายามดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด เช่น จากรายการอ่านข่าวที่มีเฉพาะข้อเท็จจริง (Fact) กลายเป็นรายการเล่าข่าวที่มีการใส่ความเห็น (Opinion) ลงไปด้วย และล่าสุดในปัจจุบันก็เป็นรายการขยี้ข่าว แต่การแข่งขันแบบนี้นอกจากจะไม่สร้างความประเทืองปัญญา (Dumbing Down) แล้วยังพากันฉุดรั้งมาตรฐานให้ต่ำลงไป(Racing to the Bottom)

โดยสิ่งที่พบได้บ่อยๆ ในความพยายามดิ้นรนของสื่อ คือ 1. Sensationalize ทำเนื้อหาให้ดูเร้าใจ 2. Dramatize ทำให้ข่าวดูเหมือนละคร 3. Polarization กระตุ้นการแบ่งขั้วที่มีอยู่แล้วในสังคมให้ยิ่งแบ่งขั้วมากขึ้น (ข้อนี้ไม่ค่อยพบในสื่อหลัก แต่จะไปพบมากในสื่อสังคมออนไลน์ ที่คนแยกขั้วแยกความคิดแล้วรวมตัวอยู่ด้วยกัน) 4. Disinformation ข้อมูลข่าวกุ-ข่าวลวง บิดเบือน และ 5. Bad Taste รสนิยมที่ไม่ดี ส่วนในด้านการกำกับดูแล ต้องยอมรับว่าไปไม่ถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่การกำกับดูแลเนื้อหาของไทยก็ยังแบ่งออกไปอยู่ในหลายหน่วยงาน

Content 3 ส่วน ที่จริง ๆ แล้วเป็น Audio Visual (สื่อโสตทัศน์) ทั้งหมด ก็อยู่ใน 3 ที่ ถ้า Audio Visual ผ่านออนไลน์ เป็นเรื่องของกระทรวง DE (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ถ้าเป็นเกมหรือภาพยนตร์อยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม แต่ กสทช. ดูเฉพาะ Audio Visual ที่ออกโทรทัศน์กับวิทยุเท่านั้น มันไม่มีการบูรณาการใด ๆ ทั้งสิ้น

ยังมีปัญหาจากคำว่า Disinformation หรือข้อมูลบิดเบือน ถูกโหมกระพือได้ง่ายขึ้นจากอัลกอริทึม (Algorithm) ในสื่อสังคมออนไลน์ ที่จะคัดกรองเนื้อหาซึ่งผู้ใช้งานแต่ละรายที่ชื่นชอบมาให้ นำไปสู่การตอกย้ำกับความคิดที่เหมือนกัน แต่ขาดปฏิสัมพันธ์กับความคิดที่แตกต่างออกไป โดยมีคำเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ฟองสบู่ตัวกรอง (Filter Bubble) และ ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber)

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกลไกต่อสู้กับปัญหาข่าวลวง-ข้อมูลบิดเบือน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรตรวจสอบ อาทิ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวง DE หรือ โคแฟค (Cofact) ที่เป็นการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม แม้กระทั่งเฟซบุ๊ก ก็ยังร่วมมือกับสำนักข่าว AFP เพื่อตรวจสอบข่าวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันยังมีการสร้างความรู้เท่าทัน เช่น ในโรงเรียน โดย กสทช. ก็สนับสนุนในส่วนหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง “ความพยายามกำกับดูแลให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรม อาจต้องใช้เทคโนโลยี (เช่น AI) เพื่อสร้าง ระบบ Social Credit ขึ้น” โดยไม่ใช่การกำกับดูแลเฉพาะเนื้อหาเชิงลบแต่ยังรวมถึงเนื้อหาเชิงบวกด้วย ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตของ กสทช. ซึ่งหากช่องใดที่คะแนน Social Credit (คะแนนความประพฤติ) อยู่ในเกณฑ์ดี หมายถึงผลิตเนื้อหาเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น ลดค่าธรรมเนียม สนับสนุนโควตาจัดทำรายการ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่ไม่ว่าช่องทางใด ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

ในช่วงท้าย ศ.ดร.พิรงรอง ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง นอกจากประเทศไทยแล้วเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยน เกาหลีใต้ยกเรื่องการผลิตเนื้อหา (Content) ขึ้นเป็นวาระทางสังคม มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศไทยก็มีศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมอยู่มาก แต่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากขาดการบูรณาการร่วมกัน และขาดการมองสื่อในภาพรวมแบบครอบคลุม (Comprehensive)

ไม่อยากใช้คำว่า Reform (ปฏิรูป) แต่จริง ๆ ก็คือ Reset (เริ่มต้นกันใหม่) ระบบกำกับดูแลและส่งเสริมสื่อ กำกับดูแลไม่ใช่การตรวจหาข้อผิดหรือการบังคับเท่านั้น แต่มันต้องเป็นการส่งเสริม เป็นการอภิบาลให้สื่อที่ดีอยู่ได้ และสื่อที่สามารถจะทำให้สังคมยั่งยืน แล้วก็คุณค่าต่าง ๆ อย่างเกาหลี จะเห็นว่าคุณค่าต่าง ๆ ของวัฒนธรรม ของความเชื่ออะไรต่าง ๆ ของเขา เขาทำเป็น Story Telling (การเล่าเรื่อง) เป็น Narrative (เรื่องราว) ที่อยู่ในเนื้อหาของซีรีส์ของเขา แล้วเขาก็สามารถที่จะนำเสนอเป็น Export (ส่งออก) ได้ด้วย