เทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์สังคมได้อย่างไร?

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางเทคโนโลยีสารสนเทศ”

เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่เพียงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี การมองเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว จะมองเห็นแต่เพียงฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ หรือโปรแกรมเมอร์ แต่ต้องเป็นการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดการพัฒนาขึ้น (Digital for Development) หมายถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้โดยมองความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้ง เช่น พัฒนาขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือไปให้ถึงชุมชน ให้ชุมชนสามารถใช้งานได้เพื่อตอบโจทย์ในบริบทของตนเอง

เมื่อดูกระแสความเปลี่ยนของโลก พบว่ามีถึง 12 เรื่อง คือ 1. โครงสร้างพลังงาน ชาวโลกเริ่มลดการใช้พลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์พัฒนาไปจากเมื่อ 10-20 ปีก่อนมาก อีกทั้งการติดตั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นดินแต่ไปทำบนผืนน้ำได้เช่นกัน หรือแม้แต่ติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนก็กลายเป็นภาพที่คุ้นชินมากขึ้น

2. อินเทอร์เน็ต โครงการ Starlink ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำขึ้นสู่อวกาศ (ไม่เกิน 1,000 กม. จากพื้นโลก) ปัจจุบันปล่อยไปแล้ว 2,000 ดวง จากเป้าหมาย 10,000 ดวง ซึ่งสามารถยิงสัญญาณลงมาพื้นโลก นำไปสู่อนาคตที่อินเทอร์เน็ตจะให้บริการจากในอวกาศได้ ซึ่งปัญหาที่มีในปัจจุบัน เช่น การหลงป่า ต่อไปจะไม่ใช่ปัญหาอีกเพราะสามารถระบุตำแหน่งของผู้ประสบเหตุได้ง่ายขึ้น

3. การเชื่อมต่อ สิ่งของรอบตัวสามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย นำมาซึ่งแนวคิดว่าจะดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ใช้งานได้อย่างไร ขณะเดียวกันเทคโนโลยียังปรับวิถีชีวิตของคนให้โหยหาความรวดเร็วมากขึ้น เช่น เครือข่าย 4G ที่ใช้กันในปัจจุบันและยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่อนาคตจะเป็นยุคของ 5G แต่ระยะแรก ๆ อาจจะทยอยเปลี่ยนผ่านในบางพื้นที่ก่อน เช่น โรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม

4. การเดินทาง ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) กำลังมาแรง แต่สิ่งที่ EV แตกต่างจากยานยนต์แบบเดิมคือชิ้นส่วนส่วนใหญ่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นจึงมีผู้เปรียบเปรยว่า ยานยนต์ในอนาคตจะเป็นเหมือน Computer on Wheels (คอมพิวเตอร์ติดล้อ) จึงต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลมารองรับ  

5. ห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องชิปอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องตีโจทย์ให้แตกว่าห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในเรื่องนี้จะทำอย่างไร 6. ความปลอดภัย กฎหมายและมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในกิจการสาธารณูปโภคที่สำคัญมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก หากระบบควบคุมถูกโจมตีอาจเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติได้

7. การเงิน ธนาคารที่ดำเนินกิจการโดยใช้พนักงานจำนวนมาก เผชิญคู่แข่งกับผู้ให้บริการด้าน ฟินเทค (FinTech) ที่ใช้คนทำงานน้อยกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพแทบไม่แตกต่างกัน 8. ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะมีประโยชน์มากหากภาครัฐสามารถใช้เพื่อให้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร 9. ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) เทคโนโลยีช่วยได้ทั้งระบบเฝ้าระวัง (Monitoring) และประเมินผล (Evaluate)

10. ภาคการผลิต ปัจจุบันโรงงานบางแห่งแทบไม่มีแรงงานมนุษย์แล้วเพราะใช้เครื่องจักรทำงานแทน ซึ่งเครื่องจักรได้เปรียบมนุษย์ตรงที่สามารถสั่งให้ทำงานได้ทุกเวลา และมีความแม่นยำมากกว่า ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือจะทำอย่างไรกับมนุษย์ที่ต้องตกงาน

11. สื่อสังคมออนไลน์ คนไทยเป็นชาติหนึ่งที่ใช้สื่อประเภทนี้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หรือบางครั้งถึงกับเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยซ้ำไป ซึ่งการใช้ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ และ 12. การดูแลสุขภาพ เช่น การรักษาทางไกลที่แพทย์กับผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาพบกันทุกครั้ง (Telemedicine)

ผมเคยไปทำโครงการที่โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งสามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลอุ้มผางที่อยู่ตรงชายแดนเมียนมาได้ ก็ปรากฏว่าเป็นระบบที่ใช้ได้ มี Delay Time (สัญญาณส่งผ่านช้ากว่าเวลาจริง) น้อยมาก ประโยชน์คืออะไร? พื้น ๆ คือคุณหมอที่อุ้มผางมีน้อย Specialists (แพทย์เฉพาะทาง) ก็มีน้อย หลายครั้งเขาต้องการ Consultancy Service (บริการให้คำปรึกษา) จากแม่สอด ก็สามารถทำกันได้ แต่ที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือให้คนไข้อยู่หน้าจอ วัด EKT กันเดี๋ยวนั้น มีกราฟให้ดู ส่งต่อไปยังแม่สอด ก็เป็นประโยชน์กับคนไข้มหาศาล

บริบทของดิจิทัลทุกวันนี้ต้องบอกว่าไปเร็วมาก หากสังคมไทยยังก้าวแบบช้า ๆ ก็จะตามไม่ทัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการไม่มีนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังไม่ทันการนำไปใช้กับ 12 ด้านที่กล่าวมาข้างต้นด้วย ดังนั้นส่วนใหญ่หากไม่ใช้ระบบจ้างเหมาช่วง (Outsource) หรือนำเข้า (Import) เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในเบื้องต้นอาจใช้การได้ แต่ในระยะยาวความคุ้มทุนจะลดน้อยลง

ดร.พิเชฐ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใกล้ตัวและคุ้นเคย 1. ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ปัจจุบันถูกนำมาใช้มากขึ้น เช่น ในด้านการตลาด เมื่อผู้ใช้งานเลือกซื้อสินค้าชนิดใด ระบบจะแสดงสินค้าประเภทเดียวกันขึ้นมาให้ผู้ใช้งานได้มองเห็นอีก ซึ่งความสามารถ Machine Learning ของเทคโนโลยี ทำให้ตรวจจับ (Detect) พฤติกรรมของผู้บริโภค และประมวลผลความต้องการได้

2. อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) จะมีประโยชน์มากในด้านการเกษตร ในการดูสภาพดิน ปริมาณแร่ธาตุ (NPK) ที่เหมาะสม ซึ่งเซ็นเซอร์ตรวจจับนอกจากจะแสดงผลได้แล้ว ยังส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่ระบบคลาวด์ (Cloud) โดยผู้ใช้งานสามารถดูผลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

3. การเรียนทางไกล (Distance Learning) เห็นได้จากช่วงโควิด-19 ระบาด ในห้วงเวลา 2-3 ปีมานี้ การเรียนการสอนหันมาทำผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสิ่งที่นักการศึกษาต้องคำนึงมากไปกว่าการเข้าถึง (Access)  คือการสร้างเนื้อหาที่มีความหมาย (Meaningful Content) เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย

เมื่อพูดถึง “โครงสร้างดิจิทัล” จะแบ่งได้ 2 ด้าน คือ “เชิงระบบ” หากนับจากปัจจุบันไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะมีความสำคัญ 1. Machine Learning นักพัฒนาโปรแกรม (Developer) ทั่วโลกสามารถต่อยอดความรู้กันไปได้เรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโปรแกรมแบบเปิด (Open Source) ดังนั้นการเป็นผู้ใช้งาน (User) หรือผู้บริโภค (Consumer) คงไม่พอ ต้องยกระดับเป็นผู้ผลิต (Producer) หรือนักพัฒนานวัตกรรม (Innovator)

2. Platform Base แพลตฟอร์ม (Platform) คือตัวกลางที่รวบรวมฐานข้อมูล เช่น แอปพลิเคชันสั่งและส่งอาหาร มีระบบฐานข้อมูลผู้บริโภค ผู้ทำงานส่งอาหาร และร้านอาหาร ประกอบกับระบบระบุพิกัดผ่านดาวเทียม (GPS) เป็นต้น ดังนั้นจึงบอกได้ว่าฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อยู่ในแพลตฟอร์ม ทำให้แพลตฟอร์มรู้ว่าผู้บริโภคแต่ละรายมีพฤติกรรมอย่างไร นำไปสู่การวางแผนการขายหรือบริการที่เหมาะสมแบบเจาะจง 3. Crowd Base ที่ผ่านมาถูกใช้ในการระดมทุน ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มขยายไปใช้งานด้านการเมือง

กับ “เชิงพฤติกรรม” แบ่งได้ 4 ระดับ ตั้งแต่ 1. Ignorance ใช้อย่างเดียวโดยไม่เข้าใจที่มาที่ไปของเทคโนโลยี และมักอยู่ในภาวะจำยอม 2. Awareness มีความตระหนักรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี แต่ยังอยู่ในระดับไม่ซับซ้อน 3. Empowering สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการได้ จึงดูแลตนเองให้ปลอดภัยในสังคมยุคดิจิทัลได้ และ 4. Transformation หรือนักคิดสร้างสรรค์ นอกจากเลือกใช้งานเทคโนโลยีได้แล้ว ยังคิดต่อไปว่าจะสามารถพัฒนาอะไรเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่

ส่วน “คุณสมบัติที่มาพร้อมกับดิจิทัล” ปัจจุบันดิจิทัลแพร่หลายไปทุกหนทุกแห่ง (Ubiquitous) แม้ชนบทจะมีปัญหาแต่ก็เป็นปัญหาเชิงเทคนิค ซอกแซกเข้ามาอยู่ในชีวิต (Pervasive) และจับต้องไม่ได้ (Invisible) แต่ในอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลจะเอื้อให้ผู้ใช้งานควบคุมได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนักพัฒนาโปรแกรมเสมอไป รวมถึง “Web 3.0” ซึ่งอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันหรือ Web 2.0 มีการรวมศูนย์ข้อมูล เช่น เฟซบุ๊กหรือกูเกิล เป็นตัวกลางที่เมื่อผู้ใช้งานจะทำอะไรก็ต้องมาผ่านก่อน แต่การค้นหาข้อมูลจะพบข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ (Garbage) จำนวนมาก แต่ในยุคของ Web 3.0 ผู้ใช้งานจะค้นหาข้อมูลโดยคัดกรองในส่วนนี้ได้ง่ายขึ้น

ในช่วงท้าย ดร.พิเชฐ ยกตัวอย่าง ภาคที่น่าสนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 1. ระบบเกษตรและสหกรณ์ เสริมศักยภาพของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนพ่นสารกำจัดศัตรูพืช IoT วิเคราะห์คุณภาพดิน-กระบวนการผลิตซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ใช้ Blockchain เข้ามาช่วยในระบบการเงินของสหกรณ์ ซึ่งจะสนับสนุนระบบการจัดซื้อเครื่องมือทางการเกษตร 2. การค้า (E-Commerce) ชุมชน ระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้ชุมชนต่าง ๆ มีช่องทางจำหน่ายสินค้าของตนเอง ไม่เฉพาะแต่ในประเทศแต่รวมถึงทั่วโลก

3. Digital Learning ซึ่งควรเป็นการเรียนรู้แบบ Experiential Learning (การเรียนรู้เชิงประสบการณ์) รวมถึงส่งเสริมการ Upskill และ Reskill 4. Smart Cites  มีการเริ่มต้นดำเนินโครงการนำร่องใน จ.ภูเก็ต เมื่อภาคเอกชนเห็นว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาดูแลเมืองจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอย่างไร จึงรวมตัวกันตั้ง บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง เพื่อดำเนินการ ซึ่งจากภูเก็ต แนวคิดแบบเดียวกันขยายแล้วปัจจุบันกว่า 20 จังหวัด โครงการแบบนี้ภาครัฐไม่ควรผลักดันเอง แต่ควรเป็นผู้สนับสนุน

 และ 5. E-Government เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ประหยัดเวลา และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีตัวอย่างตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2543 เมื่อ กรมศุลกากร ทำระบบ Electronic Data Interchange ใช้เวลา 7 ปีในการเริ่มโครงการ หลังจากนั้นระบบสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ Trade Facilitation (การอำนวยความสะดวกทางการค้า) สำหรับ International Trade (การค้าระหว่างประเทศ)

ระบบ Data Center (ศูนย์รวมข้อมูล) ของรัฐควรจะใช้ คำนวณแล้วถ้าใช้ Data Center ใช้ Cloud ภาครัฐ แล้วให้ภาครัฐมาช่วยกันใช้ pay-per-use (จ่ายเพื่อใช้งาน) แต่ละกรมกองก็ไม่จำเป็นต้องซื้อฮาร์ดแวร์-ซอฟท์แวร์เยอะแยะซ้ำซ้อนใช้ไม่เต็มที่ ประหยัดได้อย่างน้อย 30% สุดท้าย Citizen Service (การบริการประชาชน) พลเมืองก็จะมีความพอใจมากขึ้น Transaction (ธุรกรรม) หรือใบอนุญาตในการขอแต่ละครั้ง แทนที่จะใช้เวลา 14 วัน อาจจะ 14 นาที ดิจิทัลมันทำให้ได้หมด ระบบมีอยู่แล้ว


อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย