สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางอาเซียน”
นายกวี กล่าวถึงอาเซียนโดยแบ่งเป็น 9 หัวข้อ หรือ “9 ทิศทาง” ได้แก่ 1.อาเซียนต้องสร้างสัมพันธ์อันดีกับประชากรวัยทำงานหนุ่ม-สาว เยาวชน รวมทั้งภาคประชาสังคมให้มากที่สุด เพิ่มความตระหนักรู้ และ “ความรู้สึกร่วมเป็นร่วมตาย” เรื่องนี้เริ่มต้นได้ที่ประเทศไทย ซึ่งพบว่า หนุ่ม-สาวปัจจุบันมองไม่เห็นประโยชน์ของอาเซียน ไม่รู้ว่าอาเซียนเป็นโอกาสของการมีงานทำได้อย่างไร
เนื่องจากที่ผ่านมา วาระอาเซียนในไทยถูกขับเคลื่อนโดยกระทรวงการต่างประเทศเพียงหน่วยงานเดียว ไม่มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็เป็นอีกกลุ่มที่อาเซียนต้องเข้าหาให้มากขึ้น ซึ่งปัญหาของอาเซียนคือ การตัดสินใจมักเป็นแบบผู้ใหญ่สั่งการจากบนลงล่าง (Top-Down) แต่ก็เข้าใจได้เพราะอาเซียนเป็นประชาคมที่ชาติสมาชิกมีความหลากหลายทางระบอบการเมืองมาก
เอาจริงๆ ถ้าใครรู้เรื่องอาเซียน ต่อจากนี้ไปมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับ IT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) Fintech (เทคโนโลยีด้านการเงิน) ประเด็นแรกนี้สำคัญ เราต้องเข้าหาคนหนุ่ม-สาวให้ได้ คือคนหนุ่ม-สาวบ้านเรามองอาเซียนเป็นเรื่องไกลตัว
2.อาเซียนต้องขันน็อตบางตัวให้แน่นขึ้น เช่น ทำตามสัญญา 221 ข้อตกลง ความเป็นแกนกลาง จุดยืนร่วมการตัดสินใจ เพิ่มอำนาจเลขาธิการ ฯลฯ อาเซียนมีข้อตกลงจำนวนมากแต่ไม่ค่อยถูกนำไปปฏิบัติ ขณะที่จุดยืนอย่างหนึ่งของอาเซียนคือต้องอาศัยฉันทามติ ข้อดีคือข้อตกลงอะไรที่ทำร่วมกันแล้วถอยไม่ได้ แต่ข้อจำกัดคือทำไม่ได้เต็มที่ การตัดสินใจก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล่าช้า เพราะ 10 ชาติสมาชิกมีความหลากหลายทางการเมือง การแก้ปัญหานั้นสามารถทำได้แต่ต้องอดทนและใช้เวลา
ส่วนบทบาทของเลขาธิการอาเซียน (Secretary General) เดิมนั้นมีค่อนข้างน้อย กระทั่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน จึงได้พยายามทำให้ตำแหน่งนี้มีบทบาทมากขึ้น จากที่เลขาธิการอาเซียนทำเพียงส่งข่าวสารต่าง ๆ ให้กับคณะกรรมการในอาเซียน ดร.สุรินทร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย พยายามพาอาเซียนไปสู่เวทีโลก
3.อาเซียนต้องเปิดล็อก รับสมาชิกใหม่ (ติมอร์ตะวันออก) และเพิ่มคู่เจรจา ปัจจุบันอาเซียนก่อตั้งมา 54 ปีแล้ว แต่ยังคงจำนวนชาติสมาชิกไว้เพียง 10 ประเทศ เป้าหมายต่อไปต้องรับติมอร์ตะวันออกเพิ่มเข้ามา ซึ่งประเทศไทยนั้นสนับสนุนติมอร์ตะวันออกมาก และติมอร์ตะวันออกก็มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย ตั้งแต่ยุคเพิ่งเริ่มก่อตั้งประเทศเนื่องจากเวลานั้นไทยส่งทหารเข้าไปช่วยพัฒนา
ทำไมติมอร์ตะวันออกถึงถูกขัดขวางมาเป็นเวลา 12 ปี ที่ไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิก คำตอบคือสิงคโปร์ไม่ยอม สิงคโปร์ถือว่าถ้าเกิดมีติมอร์ตะวันออกเข้ามา ติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศเล็ก มีประชาธิปไตย จะทำให้มีการเปรียบเทียบสิงคโปร์กับติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์เลสเตในภาษาโปรตุเกสมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งมันจะกระทบกระเทือนผลประโยชน์สิงคโปร์ในติมอร์ตะวันออกมากมาย
ในขณะนี้ 2 ประเทศเท่านั้นที่ครองติมอร์ตะวันออก แล้วเพิ่งมีประเทศจีนเข้ามาเสริม ก็คือ ออสเตรเลียกับสิงคโปร์ ใคร ๆ ก็บอกว่าติมอร์ตะวันออกยากจน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเงินที่ได้มาจากน้ำมัน งบประมาณที่เขามี เงินฝากเหลือเฟือ กระทั่งออสเตรเลียก็ยังอยากจะได้ ฉะนั้นติมอร์ตะวันออกสำคัญ
อีกประเทศที่อาจได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนในอนาคตคือ ปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นชาติผู้สังเกตการณ์อาเซียนมาตั้งแต่ปี 2529 ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านว่า ปาปัวนิวกินี ไม่สามารถเข้าร่วมอาเซียนได้เพราะอยู่ภูมิภาคแปซิฟิก แต่ปัจจุบันไม่ว่าประเทศจะตั้งอยู่ตรงไหนของโลก อยากจะเข้าร่วมประชาคมระหว่างประเทศประชาคมใดก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกประชาคมนั้นจะมีมติรับให้เข้าร่วมหรือไม่เท่านั้น เช่น ประชาคมเอเชียตะวันออก ในอดีตมีเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี แต่ปัจจุบันขยายรวมไปถึง อินเดีย และ ออสเตรเลีย
4.อาเซียนต้องยกฐานะ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (EU) เป็น Comprehensive Strategic Partnership อย่างเร่งด่วน ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของการมี Strategic Partnership เพราะทำกับประเทศต่าง ๆ ไว้มากถึง 173 คู่ เนื่องจากโลกยุคใหม่ไม่ต้องการความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตรไปร่วมกันโจมตีประเทศที่ 3 ดังนั้นจีนจะไม่สร้างพันธมิตรด้านการทหาร เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับจีนทำผิดหลักการที่ตนเองให้คำมั่นสัญญาไว้
ปัจจุบันประเทศที่เป็น Comprehensive Strategic Partnership กับอาเซียนคือจีนและออสเตรเลีย โดยมีสหรัฐอเมริกา กับอินเดีย รอเข้าร่วม อนึ่ง สำหรับอินเดียนั้นเป็นตัวอย่างของความพยายามไม่เลือกข้างในความขัดแย้งใหญ่ ๆ ระดับโลก เช่น ในปัจจุบันที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน อินเดียไม่ได้เลือกข้างตามกระแสของชาติตะวันตก แม้ตะวันตกจะเรียกร้องในฐานะเป็นชาติที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน และเป็นชาติประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โก๊ะจ๊กตง (Goh Chok Tong) เคยเปรียบอาเซียนเหมือนเครื่องบิน ที่หากได้ทั้งอินเดียและจีนมาเป็นปีกซ้าย-ขวา จะทำให้อาเซียนทะยานไปได้ไกลในน่านฟ้าโลก
5.สมาชิกอาเซียนต้องไม่แตกแถวเข้าร่วมพันธมิตรทางการทหาร ต้องสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงเคารพและปกป้องสิทธิพลเมืองอาเซียนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม)
6.อาเซียนต้องสนับสนุนพหุภาคีนิยมไร้ร่องรอยทุกรูปแบบที่ยั่งยืน มีธรรมาภิบาล แม้จะเป็นเรื่องยากเพราะ 10 ชาติสมาชิกปัจจุบันมีความเจริญไม่เท่ากัน แต่อาเซียนกำลังเริ่มร่างวิสัยทัศน์ใหม่ 2026-2036 (ปี 2569-2579)
7.อาเซียนต้องปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เป็นพื้นที่เซฟโซนสำหรับสันติภาพ ความร่วมมือ การปรองดองของมหาอำนาจ โดยใช้กลไกอาเซียน และแผน AOIP ให้เป็นประโยชน์ หลายคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาเซียนอ่อนแอ แต่อาเซียนก็มีศักยภาพในการเปิดพื้นที่ให้ผู้นำหรือตัวแทนของชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งได้มาเจรจากัน ขณะเดียวกัน อาเซียนยังมีแผน AOIP (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) หรือมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งคนในแวดวงธุรกิจควรให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวโยงกับการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
8.อาเซียนต้องลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของสมาชิกโดยเร็ว ในอาเซียนมีชาติที่จัดว่าร่ำรวยอยู่ 2 ประเทศ คือบรูไนกับสิงคโปร์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอให้ชาติที่ร่ำรวยควรจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มขึ้นแต่ก็ถูกทั้ง 2 ชาติคัดค้าน ความเหลื่อมล้ำในอาเซียนจึงยังคงมีอยู่ แต่บางประเทศก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กัมพูชา สมาชิกล่าสุดของอาเซียนที่เพิ่งเข้าร่วมในปี 2542 ในเวลานั้นมีความกังวลกันว่ารับมาแล้วจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ปัจจุบันระบบการเงินในกัมพูชาทันสมัยขึ้นมาก
9.อาเซียนคือ DNA ไทย..ไทยคือ DNA ของอาเซียน หากแผนพัฒนาต่าง ๆ ของไทยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน ท้ายที่สุดผลประโยชน์ของอาเซียนก็จะย้อนกลับมาที่ไทยด้วย
ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อหรือไม่ว่าคนที่เป็นสมาชิกอาเซียนต้องเคยมาประเทศไทย แต่ประเทศอย่างบรูไน ถ้าถามอาจจะมีคนบอกยังไม่เคยไป ฉะนั้นนักข่าวไม่ต้องไปถามนายกฯ ว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากอาเซียน ทุกวันนี้อาเซียนก็คือ DNA ของไทย การค้าของไทยตอนนี้อาเซียนเป็นอันดับ 1 สินค้าไทยเดี๋ยวนี้ในอาเซียนเป็นที่รู้จักกันดี