โควิด-เงินเฟ้อ 2 วิกฤติซ้อนทับ ถึงเวลาไทยปรับครั้งใหญ่

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จาก 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย”

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจไทย มี 3 เรื่องที่เป็นโอกาสและความท้าทาย 1.วงจรวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ (Recovery & Recession) จะมีทั้งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยและช่วงเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งแต่ละประเทศจะผ่านช่วงเวลาแบบนี้แตกต่างกัน เช่น ในช่วงปี 2563-2564 สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รุนแรง หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรค ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกหดตัวลงร้อยละ 3.1 ในปี 2563 ขณะที่ประเทศไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 6.1

ต่อมาในปี 2564 หลายประเทศเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับความพร้อมด้านสาธารณสุข (เช่น วัคซีน) ทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กิจการต่าง ๆ ทยอยกลับมาเปิดทำการ โดยประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจก็จะมีความพร้อมก่อน ทำให้ในปีดังกล่าว เศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 6 รวมถึงประเทศไทยก็กลับมาเติบโตเช่นกันแต่ในระดับต่ำกว่า อยู่ที่ร้อยละ 1.6 แต่ก็เชื่อว่าในปี 2565-2566 เศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ

ผลกระทบและการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีความแตกต่างกันในหลายประเทศ บางประเทศก็จะได้รับผลกระทบมากและไม่ค่อยมีความพร้อมด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจก็อาจจะถดถอยยาวนาน ฟื้นตัวได้ช้า บางประเทศก็สามารถจัดการปัญหาสาธารณสุขได้ดี ฟื้นตัวได้เร็ว แต่อันนั้นเขาก็จะต้องเผชิญกับการจัดการ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ที่ช่วงโควิดมันถูกล็อกดาวน์ อีกหลายส่วนก็ต้องพยายามคลี่คลาย บางประเทศก็ยังคงมีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมาก แล้วก็ยอมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป อย่างเช่นประเทศจีน เป็นต้น

แต่ว่าบางประเทศที่ฐานะการเงินการคลังค่อนข้างอ่อนแอ ในการรับมือโรคระบาดที่อาจฟื้นตัวได้อย่างเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงในด้านเศรษฐกิจ อันนั้นก็พอเข้าใจได้ คือโควิดทำให้เกิด Recession (ภาวะถดภอย) ลงมา ตอนฟื้นตัว (Recovery) ก็จะสำคัญกับความพร้อมด้านสาธารณสุข ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป แต่บังเอิญเมื่อต้นปี 2565 ก็มาเกิดเหตุขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ก็คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็ส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นมาในหลายๆ ประเทศ

จากวิกฤติโควิด-19 สู่วิกฤติเงินเฟ้อจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศที่เปราะบางและฟื้นตัวได้ช้าก็จะมีความเสี่ยงสูง สภาพปัญหาที่พบก็จะค่อนข้างรุนแรง เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน ลาว เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากโควิดสภาพยังก็คงเปราะบาง ยังเจอปัญหาเงินเฟ้อซ้อนเข้ามาอีก ขณะที่ สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิดได้เร็ว แต่ภาวะเงินเฟ้อที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มขึ้นอีกช่วงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้องดำเนินนโยบายที่เป็นการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ดูเหมือนภาวะถดถอยจะกลับมาอีกครั้ง

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเชื่อมโยงกับโลกค่อนข้างมาก เช่น หากประเทศคู่ค้าฟื้นตัวได้ดีไทยก็ส่งออกได้ดี เห็นได้จากในช่วงปี 2564-2565 ขณะที่เมื่อสถานการณ์โควิดทุเลาเบาบางลง การท่องเที่ยวก็จะกลับมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2.นโยบายการเงินและความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเงิน (Rate & Risks) ในแต่ละช่วงเวลาทางเศรษฐกิจ จะมีการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังที่เหมาะสม โดยทั่วไปหมายถึงการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของแต่ละประเทศ

ซึ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 รุนแรง หลายประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงิน-การคลัง แต่เมื่อสถานการณ์เบาลง นโยบายการเงิน-การคลังก็กลับมาตึงอีกครั้ง เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก เพราะนอกจากการสู้รบแล้วยังมีมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย รวมถึงการกีดขวางกันในรูปแบบต่างๆ ทำให้การขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานยืดเยื้อในหลายอุตสาหกรรม

สำหรับอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปของไทยในปี 2565 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน แม้กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสร้างกรอบไว้ที่ร้อยละ 1-3 แต่เข้าใจว่าการประมาณการทั้งปี 2565 อาจสูงถึงร้อยละ 6.2 ซึ่งในอดีตอาจเคยมีสถานการณ์แบบนี้ แต่ในช่วง 10 ปีล่าสุด หรือนับตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2550-2551) เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยและโลกไม่เคยมีปัญหาเงินเฟ้อในระดับนี้ ลำพังอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1-2 ก็ถือว่าพิเศษแล้ว  ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวหลากหลาย

ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต้องปรับตัวพร้อมรับกับสถานการณ์และความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องก็จะส่งผลทำให้ภาคธุรกิจเองมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หลายคนก็กำลังตั้งรับกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาธุรกิจที่มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำก็จะกระทบแน่ นอกจากนั้นก็จะส่งผลกระทบไปที่ครัวเรือน ทำให้อัตรากำลังซื้อลดทอนลงไป อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

แล้วก็อาจจะมีความเสี่ยงที่มาจากแรงกดดันทางด้าน Demand (ความต้องการ) ด้วยถ้าเศรษฐกิจเราเริ่มเปิดจากมาตรการโควิด อัตราพลังงานที่เพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นแรงผลักทางด้าน Supply (การจัดหา) แต่พอเศรษฐกิจเปิด ด้าน Demand ก็จะส่งแรงกดดันมาอีก เพราะฉะนั้นอัตราเงินเฟ้อในช่วงใกล้ๆ นี่ก็จะถูกกดดันทั้งทางด้าน Supply และด้าน Demand ได้

จากภาวะเงินเฟ้อ นำไปสู่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่ากรอบเป้าหมาย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมเงินเฟ้อให้เข้มข้นขึ้น และส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว

ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์เสี่ยง (Risk Asset) สภาพคล่อง อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อาจกลายเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังของประเทศอืนๆ และกระทบต่อเศรษฐกิจหลายภาคส่วน โดยประเทศไทยเองก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น กนง. ช้าไปก้าวหนึ่งหรือไม่ หรือการประชุมรอบหน้าจะขึ้นเท่าไร แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ก็ต้องทำอย่างรอบคอบระมัดระวังอย่างมาก

ยังมีปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็อาจต้องดูแลกันเฉพาะกลุ่ม เช่นเดียวกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าของไทย ซึ่งก็เชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของไทยเองด้วย รวมถึงเศรษฐกิจประเทศจีน ที่จะกลับมาเติบโตตามอัตราที่คาดการณ์กันไว้ได้หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจจีนก็สัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย เช่น ในปี 2564 ไทย-จีน มีมูลค่าการค้ารวมกัน 3.3 ล้านล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่างไทยกับต่างประเทศ

ดังนั้นต้องดูว่านโยบายปลอดโควิด (Zero COVID) ของจีนที่มีการล็อกดาวน์ในหลายเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลกับห่วงโซ่อุปทานและการค้าในภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจนำไปสู่การแบ่งขั้วและกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจสร้างความไม่แน่นอนใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมโยงต่างๆ มีอุปสรรค และหากยืดเยื้ออาจลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

สุดท้าย 3.การปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Reform) เศรษฐกิจไทยนั้นมีความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) พอสมควร เพราะที่ผ่านมามีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ระดับหนึ่ง หากมองในภาพรวมหรือมหภาค เชื่อว่าสามารถผ่านความผันผวนไปได้ ไม่น่าจะกลายเป็นวิกฤติ แต่ในระดับจุลภาค หมายถึงแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม ก็จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป อีกทั้งที่น่ากังวลคือปัญหาที่สืบเนื่องมาแต่ก่อนโควิด โดยต่อไปศักยภาพในการเติบโตของไทยอาจไม่เหมือนเดิมด้วยเหตุต่างๆ จึงต้องนำมาสู่การปฏิรูป

เป็นที่ทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายเรื่อง เช่น พูดถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง สมัยเดิมอาจพูดถึงเติบโตปีละ 5% หรือมากกว่า ระยะหลังเราเห็น 3% ก็ค่อนข้างเห็นว่าเต็มศักยภาพแล้ว แล้วความจริงบางด้านเห็น 1% ต่ำกว่า 1% 2% แล้วก็มันมีปัญหาในลักษณะการพัฒนาของเราที่บางครั้งดูเหมือนเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

ด้านหนึ่งคือผลประโยชน์จากการพัฒนาใม่ได้กระจายไปในภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ประเทศไทยในหลายโอกาสก็ถูกจัดให้เป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีความเหลื่อมล้ำสูงในหลายเรื่องอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ด้านโอกาส และความสามารถในการแข่งขันระหว่างธุรกิจเล็กกับธุรกิจใหญ่ ปัญหาคอร์รัปชั่นที่กลายเป็นต้นทุนแฝงในหลายธุรกรรมที่หลายภาคส่วนต้องแบกรับต้นทุนสูงกว่าปกติ

เมื่อบวกกับปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก พฤติกรรมของคนและรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้งานหลายอย่างต้องเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ ขณะที่ประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัย คนจึงมีความสำคัญมากขึ้น หากปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาและการก้าวต่อไปของประเทศได้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงจึงต้องคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาที่ให้ความสาคัญกับการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง และต้องเป็นการพัฒนาที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ 1.เพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ในระยะสั้นควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ไทยชำนาญอยู่แล้ว เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ยานยนต์ การค้า Hospitality (การบริการ) เป็นต้น และอุตสาหกรรมที่ยังไม่ชำนาญแต่สามารถต่อยอดได้ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ

ระยะกลาง มุ่งขยายตลาดครอบคลุมเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) หรือหากรวมบังกลาเทศได้ด้วยก็จะยิ่งมีตลาดใหญ่ขึ้นไปอีก โดยเน้นการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายคมนาคม และระยะยาว ผลักดันให้ไทยเป็น Innovation Hub และ Startup Nation รายได้มาจากนวัตกรรมของตนเอง ส่งเสริมการวิจัยและใช้ Big Data เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

อนึ่ง สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งแม้จะมีความพยายามส่งเสริมเรื่องแหล่งทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs และ Startups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น แต่ปัญหาของ SMEs ซับซ้อนกว่านั้น การช่วยเหลือ SMEs จึงไม่อาจหยุดอยู่เพียงการทำให้เริ่มกิจการได้ แต่ต้องทำให้มีศักยภาพในการดำเนินกิจการต่อไปได้ ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรง

2.ลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคให้ทัดเทียมกรุงเทพฯ สร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ปฏิรูประบบภาษี ส่งเสริมสถาบันการเงินระดับชุมชน สวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน-วิสาหกิจเพื่อสังคม หาทางเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในภาคเกษตรและแรงงานระดับฐานราก ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงโอกาส โดยเฉพาะด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

และ 3.ปฏิรูปกฎหมายและกลไกของรัฐ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา อันมีผลต่อการปรับเปลี่ยนแรงจูงใจและส่งเสริมระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจให้ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เช่น การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) รัฐควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแลเป็นผู้ส่งเสริม

มีหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางการพัฒนาที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ระบบฐานข้อมูลที่รองรับการเข้าถึงจากทุกภาคส่วน การจัดสรรงบประมาณไปสู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกลไกประเมินและติดตามผล นอกจากนั้นควรปฏิรูปด้านการคลังและส่งเสริมความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ รวมถึงมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐ ให้เกิด Value Creation (การสร้างมูลค่า) อย่างเต็มศักยภาพ

การปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐเป็นส่วนสาคัญในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการปฏิรูปด้านการเพิ่มผลิตภาพและด้านการลดความเหลื่อมล้ำด้วย!!!


อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย