สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จาก 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม”
ประเทศไทยเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน 1.ความเสื่อมโทรม มีปัญหาในทุกมิติ เช่น ฝุ่น 2.5 ไมครอน (PM2.5) ขยะล้นทะเล ภูเขาหัวโล้น 2.ความขัดแย้งระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา เช่น อุตสาหกรรมกับสิทธิชุมชน ดังตัวอย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือกรณีโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ 3.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องการถือครองที่ดิน
ขณะเดียวกันเมื่อมองออกไปในระดับโลก ไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) “ปัจจุบันอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส หากปล่อยให้ไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย” ซึ่งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดตั้งนาฬิกานับถอยหลัง (Climate Clock) ตามเมืองใหญ่ ๆ ของโลก กระตุ้นเตือนมนุษยชาติให้เกิดความตระหนัก
ตอนนี้เรานับถอยหลัง เราเหลือเวลาอีก 7 ปีเท่านั้น ที่เป็นช่วงสุดท้ายที่จะควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศา ในอีก 80 ปีข้างหน้า คือปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ.2643) เราเหลือเวลา 7 ปีเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราปล่อยใน 7 ปีนี้มันจะอยู่ในโลกไปอีกเป็นร้อยปี เพราะอายุของก๊าซเรือนกระจกมันอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก แล้วมันออกอิทธิฤทธิ์ได้เป็นร้อยปี
ในทางกลับกัน “การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด” กำลังเป็นกระแสที่มาแรงในปัจจุบัน ซึ่งเป็น “ความหวัง” เพราะร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคพลังงาน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 7 (Affordable and Clean Energy) ว่าด้วยเรื่องพลังงาน กับ เป้าหมายที่ 13 (Climate Action) และนำไปสู่เป้าหมายที่ 8 (Decent Work and Economic Growth) ว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน เมื่อมหาอำนาจโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนผู้นำจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) ท่าทีของประชาคมโลกกับประเด็นสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน ในเดือน เม.ย. 2564 ได้จัดประชุม World Leader Climate Change ทำให้ชาติมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น รัสเซีย จีน ตลอดจนประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลก แสดงจุดยืนร่วมกันว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง
ดร.บัณฑูร ฉายภาพมุมมองต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมในอนาคต ว่า “ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่การมองเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม” แต่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขัน สิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เพียงเรื่องต้นทุน แต่เป็นการสร้างรายได้ เป็นการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ งานรูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนอกจากนั้นยังเชื่อมโยงกับความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ด้านอาหาร ตลอดจนความท้าทายด้านการพัฒนาประเทศว่าจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างไร
สิ่งที่ประเทศไทยต้อง “ปรับ-รื้อ-สร้าง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.ระบบคณะกรรมการระดับชาติ ประเทศไทยมีคณะกรรมการรูปแบบนี้มากถึงกว่า 300 ชุด แม้กระทั่ง SDGs 17 เป้าหมาย แต่ละเป้าหมายก็ยังมีคณะกรรมการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกที่จำเป็นต้องมี เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับหลายกระทรวง กลไกคณะกรรมการจึงถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนและต้องอาศัยการทำงานข้ามกระทรวง
“ปัญหาที่เราเจอ ผมนั่งเป็นกรรมการป่าไม้แห่งชาติ กรรมการการพัฒนาที่ยั่งยืน กรรมการพลังงาน เรามักจะเจอกับปรากฏการณ์ที่ว่าผู้แทนที่มาร่วมประชุม แม้ว่าหัวโต๊ะจะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ บางท่านก็จะบอกว่าเพิ่งได้รับมอบหมายมาเมื่อเช้านี้ ยังไม่ทราบข้อมูล ยังไม่ทราบว่ากระทรวงจะเอาอย่างไร แล้วเมื่อจบจากกรรมการชาติก็ใช้เวลาอีก 2-3 เดือน 2 เดือนนี่อย่างเร็วไปถึงขั้น ครม. แล้วก็จะมีการท้วงติงมาจากหลากหลายกระทรวง ที่เป็นผู้แทนที่ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุมในกรรมการชาติ ณ วันนั้นเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
นี่ปัญหาที่เราต้องปรับรื้อกรรมการชาติ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความซับซ้อนตรงนี้ได้ ย้ำนะว่ามีความจำเป็น แต่ถ้าองค์ประกอบเป็นแบบนี้ แล้วไม่มี Authority (อำนาจ) ที่จะตัดสินจบในตัวเองแบบนี้ เราไม่สามารถจะรับมือปัญหานี้ได้ แม้ว่าในกรรมการวันนั้นจะมีผลสรุปตรงกันทั้งหมด Consensus (ฉันทามติ) แต่อีก 2 เดือนถึงจะรอ Approve Endorse (อนุมัติรับรอง) โดย ครม. เราไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้”
ต่อมาคือ 2.กฎหมาย แม้จะทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่กฎหมายของไทยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ประมาณ 50 ฉบับ ว่าด้วยดิน น้ำ ป่า พลังงาน แร่ธาตุ ฯลฯ กฎหมายเหล่านี้ยังออกเป็นกฎหมายรองได้อีกรวมกันนับหมื่นฉบับ ซึ่งแม้จะมีความคาดหวังตั้งแต่เมื่อครั้งมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่กฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีการฟ้องคดีในศาลปกครองจำนวนมากในประเด็นสิ่งแวดล้อม
ประเด็นต่อมา “การทำให้ยุทธศาสตร์ลงไปถึงระดับปฏิบัติ” ยุทธศาสตร์และนโยบายมีมากในระดับบน แต่ขาดการถ่ายไปสู่ระบบผัง เช่น ผังเมืองที่มี 5 ระดับ นอกจากนั้นยังมีผังน้ำ ผังป่า ซึ่งควรมีผังพลังงานด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ที่มีความขัดแย้งระหว่างความต้องการตั้งโรงไฟฟ้ากับชุมชนที่ไม่ยอมรับ ทั้งนี้ มาเลเซีย สามารถทำ “Vision 2020” ได้สำเร็จ เพราะสามารถนำยุทธศาสตร์ถ่ายมาสู่ระบบผัง สู่ระบบแผน ซึ่งแผนนั้นมีระบบงบประมาณรองรับ
ซึ่งต้องบอกว่า ระบบงบประมาณของไทยออกแบบไว้ดีมาก มีทั้งงบประมาณรายกรม งบประมาณที่ยึดโยงกับวาระ (Agenda Base) และงบประมาณเชิงพื้นที่ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด แต่ปัจจุบันยังไม่ถูกนำออกมาใช้ ขณะเดียวกันยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ทั้งการตัดสินใจ (EIA, EHIA) กฎหมาย เครื่องมือเชิงพื้นที่ (ผังเมือง เขตคุ้มครองและควบคุมต่าง ๆ) เครื่องมือทางเทคนิค (มาตราฐานและตัวชี้วัด) เทคโนโลยี รวมถึงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (กองทุนต่าง ๆ) โดยสรุปแล้ว ในการจัดการกับปัญหา ต้องใช้หลายเครื่องมือผสมผสานกัน
นอกจากเครื่องมือเดิมที่มี ประเทศไทยยังต้องการเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น “SEA” หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ที่ดำเนินการตั้งแต่ระดับนโยยาย ต่างจากเครื่องมือเดิมอย่าง EIA ที่ประเมินผลกระทบเป็นรายโครงการแล้วหาทางลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด SEA มีการประกาศไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 แต่ปัจจุบันเป็นแผนที่ 13 แล้วก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีแล้ว “การทำให้สินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมราคาสูงกว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผ่านเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
อีกตัวแปรหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ “พลังของผู้บริโภค” เช่น คนเจนแซด (Gen Z) หรือคนรุ่นใหม่มีค่านิยมอยากรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ และคนเหล่านี้ต้องอยู่ต่อไปในอนาคต จึงต้องใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์สร้างพลังนี้ขึ้นมา เครื่องมือ “ใครได้ประโยชน์ก็สมควรจ่าย (Payment for Ecosystem Service)” เช่น มีภาคเอกชนเข้าไปสนับสนุนชาวบ้านที่ดูแลป่าชุมชน เพื่อให้ป่านั้นยังเป็นแหล่งต้นน้ำ ส่วนภาคเอกชนก็ได้ประโยชน์ทั้งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย หรืออีกทางหนึ่ง ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอายุการใช้งานสั้น ต้องลงทุนเพื่อควบคุมขยะตลอดกระบวนการตั้งแต่การผลิต การใช้ จนกลายเป็นขยะ
สุดท้ายคือ “รัฐธรรมนูญ” ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญมักเน้นกันอยู่ที่ 3 ส่วน คือ 1.การเข้าสู่อำนาจ เช่น กติกาการเลือกตั้ง 2.การจัดสรรอำนาจ เช่น จำนวนของสภาที่มีอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และ 3.การตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่น องค์กรอิสระต่างๆ “สิ่งที่ยังพูดถึงน้อย คือการกำกับดูแลการใช้อำนาจ” ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างสมัยรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในมาตรา 67 วรรค 2
มาตราดังกล่าวทำให้ 76 โครงการที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถูกศาลปกครองสั่งระงับ พร้อมกับกำหนดให้ต้องทำ EIA, EHIA รวมถึงให้องค์กรอิสระเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ทั้งนี้ ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นต้นด้วยโครงการหรือกิจกรรม แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้กันในปัจจุบัน ใช้คำว่าการดำเนินการใดของรัฐ ซึ่งผู้ร่างให้เหตุผลว่าต้องการกำหนดกติกากระบวนการนโยบายสาธารณะ ในการตัดสินใจซึ่งไม่จำกัดเฉพาะโครงการหรือกิจกรรม ดังนั้นต้องการให้นำมาใช้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“จาก 3 ปัญหาที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง ข้อเสนอที่ได้กล่าวถึงทั้งหมดนี้คือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การปรับรื้อสร้างเครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งระบบคณะกรรมการ ระบบกฎหมาย การที่จะมีชุดเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ใช้อย่างผสมผสานกันมากกว่าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ใช้ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SEA Payment for Ecosystem Service การกำหนดกติกาในรัฐธรรมนูญ และการสร้างพลัง Gen Z เพื่อรองรับกับพลังผู้บริโภคในอนาคต”
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย