ขับเคลื่อนไทย ต้องพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย ผู้ใหญ่ปรับมุมคิดเข้าใจคน Gen Z
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จาก 8 ด้าน ร่วมกล่าว ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตการศึกษาไทย”
ดร.กฤษณพงศ์ เปิดประเด็นด้วยสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ นั่นคือ “กำลังแรงงานลดลง” ไทยกลายเป็น “สังคมสูงวัย” จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง คนวัยทำงานก็น้อยลง สวนทางกับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรวัยแรงงานมากกว่าและผู้สูงอายุน้อยกว่า ดังนั้นในอนาคตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
“การเกิดมัน Drop (ลดลง) ไปตั้ง 40 ปีแล้ว คุณมีชัย (มีชัย วีระไวทยะ : นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่สอนให้คนไทยรู้จักการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว) ประสบความสำเร็จในการวางแผนครอบครัว ฉะนั้นคนไทยเกิดน้อยลงมาแล้ว 40 ปี แต่เรายังวางแผนกันผิด เรายังไปเปิดโรงเรียน ขยายโรงเรียน ขยายครู ทั้ง ๆ ที่คนไม่เกิดมาแล้ว คนเรียนหนังสือมากขึ้นไม่ใช่เพราะคนเกิดมากขึ้น แต่คนเรียนต่อมากขึ้น เรามีโรงเรียนมากขึ้น เรียนหนังสือฟรี เราเปิดการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับจาก 6 เป็น 9 เป็น 12 ปี สิ่งนี้มันทำให้คนเรียนต่อเพิ่มขึ้นขณะที่คนเกิดน้อยลง ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของนักเรียนในใช่คนเพิ่มขึ้น เราวางแผนผิดมา 30-40 ปี”
ดร.กฤษณพงศ์ ชวนมองโครงสร้างประชากรต่างประเทศ ที่น่าสนใจคือ ฮ่องกง ประชากรเพศชายหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นย้ายถิ่นออกไป เรื่องนี้ให้บทเรียนกับสังคมไทยว่า “หากยังจมอยู่กับการทะเลาะเบาะแว้ง คนเก่งๆ ก็มีแนวโน้มจะทิ้งประเทศไทยไปอยู่ที่อื่น” แต่ในทางกลับกัน “ไทยควรหาทางดึงกำลังแรงงานมาจากประเทศอื่น” แต่ที่ผ่านมาทำกันไม่เป็นระบบ เช่น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ถูกปล่อยให้ข้ามแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่ไม่เคยมีการฝึกอบรมทักษะให้แรงงานกลุ่มนี้
หนึ่งในประเทศประสบความสำเร็จในการใช้ชาวต่างชาติในการพัฒนา คือ สิงคโปร์ ดึงชาวต่างชาติทั้งสมองและแรงงานเข้าประเทศ ขณะที่ประเทศไทยนั้นก็คุ้นเคยกับคำว่า “คนโพ้นทะเล” อยู่แล้ว นั่นคือชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากบนแผ่นดินไทย ซึ่งสังคมไทยมีความพิเศษตรงนี้สามารถทำให้คนชาติอื่นๆ กลายเป็นคนไทยได้ง่าย เฉลี่ยแล้วภายใน 1 รุ่น คนไทยทุกวันนี้หลายคนก็มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเล
ปัญหากำลังคนจึงแก้ได้หากไม่ยึดติดกับการต้องใช้เฉพาะคนไทย ขอเพียงหาทางให้ชาวต่างชาติรักเมืองไทยและต้องการกลายเป็นคนไทย เช่น ดูแลเอาใจใส่แรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เห็นเป็นเพียงแรงงานเท่านั้น รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบ อาทิ ทุกวันนี้แรงงานฝีมือชาวต่างชาติก็ยังต้องต่อวีซ่าในไทยทุกๆ 90 วันอยู่ ต้องมีนโยบายดึงคนเก่งจากต่างชาติเข้ามาเป็นคนไทย แม้ไม่เป็นในรุ่นพ่อแม่แต่เชื่อว่าทำได้ในรุ่นลูก
ส่วนการพัฒนาคนไทย “การมองคนจึงต้องนับรวมทุกช่วงวัย” ทำอย่างไรให้วัยแรงงานมีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น วัยเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปได้กลับมาเรียน รวมถึงที่จบไปแล้วควรกลับมาทบทวนความรู้ด้วย ส่วนผู้สูงอายุยังต้องทำงานต่อไปแต่จะทำงานประเภทใด โดยรวมหมายถึงการ “Upskill & Reskill” กำลังคน ทั้ง 3 ช่วงวัยต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน อนึ่ง นอกจากการทำงานแล้ว ยังต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น (Generation) ด้วย
“ถ้าเรารวม ป.1-ป.6 ม.1-ม.6 รวม 12 ปี แล้วก็อุดมศึกษา รวม ปวช. ปวส. กับมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งหมด 16 ปี มีประมาณ 12 ล้านคน เราใช้เงิน 4 แสนล้าน แต่คนที่กำลังงานมี 45 ล้านคน เราเกือบไม่ได้ใช้เงินพัฒนา 45 ล้านคนเลย นี่เป็นปัญหาของเมืองไทย เราพัฒนาไม่ขึ้นเพราะเราใส่เงินที่วัยเรียน ไม่ใส่เงินที่วัยทำงาน ฉะนั้นต่อไปถ้าจะทำอะไร ถ้าจะมั่งคั่ง เราต้องใส่เงินที่วัยทำงานมากกว่านี้ ไม่ใช่ใส่เงินที่วัยเรียน”
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยหนีไม่พ้นการลงทุนจากต่างประเทศ กลับกันไทยเองก็ต้องส่งแรงงานที่มีคุณภาพไปต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศส่งกลับไทย ส่วนการยืดวัยเกษียณออกไปอย่างไรก็ต้องทำ แต่จะต้องดูทั้งเรื่องการเงินและคุณภาพชีวิต “คนไทยทุกวันนี้อายุยืนแต่สุขภาพสั้น” คนไทยไม่ชอบดูแลสุขภาพ ทำให้สุขภาพพังก่อนอายุจริงประมาณ 20 ปี ต้องผลักดันคนเก่งเข้าสู่ระบบการผลิต เช่น แต่เดิมไทยเน้นสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นนักวิจัย ต้องดันคนกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ภาคการผลิตเพื่อสร้างผลผลิตออก แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ยังมีด้านอื่นๆ ที่ควรส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้และชื่อเสียงแก่ประเทศได้ เช่น กีฬา ศิลปะ
เมื่อพิจารณาประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” พบครัวเรือนยากจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษาได้ สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีล่าสุด จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลง ดังนั้นต้องตามหาเด็กที่หลุดออกไปให้เจอแล้วใช้กลไก เช่น กยศ. , กรอ. ดึงกลับมาเข้าระบบการศึกษาให้ได้ แต่ก็ต้องดูแลครัวเรือนของเด็กด้วย เพราะคงจะเป็นเรื่องยากในการให้เด็กกลับไปเรียนหากพ่อแม่ยังตกงาน
อีกทั้งเด็กไทยยังเจอปัญหา “การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)” เพราะช่วงโควิดการเรียนและฝึกปฏิบัติต่างๆ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เช่น พบเด็ก ป.3 อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ทั้งที่เคยเรียนไปแล้วตอน ป.1-ป.2 แต่เมื่อไม่ได้ใช้ นานๆ เข้าความรู้ก็หายไปหมด เมื่อกลับมาเรียนได้อีกครั้งก็ต้องทบทวนความรู้เก่าด้วย หรือแม้กระทั่งมีเด็กเรียกครูว่าป้า เพราะไม่ได้ใช้คำว่าครูเรียกผู้ใหญ่คนใดเลยมาตลอด 2 ปี ซึ่งในปี 2563-2564 เด็กไทยต้องหยุดเรียนไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เมื่อคำนวณมาเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจะพบความเสียหายอย่างมาก
“เราต้อง Matching (จับคู่) การศึกษากับตลาดแรงงาน นั่นแปลว่าต้องผลักคนไปอาชีวะให้มากขึ้น เราไม่ต้องการนักวิชาการเท่าไร เราต้องการคนที่ทำงานได้ดี ก็คือเข้าไปสู่อาชีวะ อันนี้เป็นเรื่องที่สื่อต้องช่วยทำความเข้าใจให้ได้ค่อนข้างมาก อันนี้ก็หมายความว่าต้องผ่านกลไก กยศ., กรอ. ดึงให้คนไปอาชีวะมากขึ้น แล้วรัฐไม่พอเอกชนก็ต้องมาลงทุน”
ดร.กฤษณพงศ์ ชวนคิดต่อไปถึงการทลายข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ “ภาคเศรษฐกิจมีเงินมาก เช่น ตลาดทุน มีเงินมากกว่างบประมาณแผ่นดิน” ข้อแนะนำคือ “ต้องมีภาษีที่ระบุวัตถุประสงค์การใช้เฉพาะด้าน (Earmarked Tax)” ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อนึ่ง ต่างประเทศมีตัวอย่างการออก “Social Impact Bond” ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาสังคม เช่น ที่ประเทศอังกฤษ มีการออก Social Impact Bond โดยกระทรวงยุติธรรม จัดทำโครงการจ้างงานผู้พ้นโทษจากเรือนจำ เพื่อแก้ปัญหาการกลับไปกระทำผิดซ้ำ
หรือที่อินเดีย มีองค์กรประชาสังคม (NGO) ออก Social Impact Bond เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษา ส่วนประเทศไทย บ.แสนสิริ ออก Social Impact Bond ในชื่อ Zero Dropout Bond ดำเนินการให้ จ.ราชบุรี ตั้งเป้าหมายเด็กทุกคนต้องได้เรียนหรือได้รับการฝึกอาชีพ ระดมทุน 100 ล้านบาท ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งได้ผลตอบแทนดีไม่แพ้พันธบัตรของรัฐ อีกทั้งนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ในช่วงท้าย ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต่างช่วงวัย โดยเฉพาะ “ความไม่เข้าใจคนเจนแซด (Gen Z)” ซึ่งต้องเข้าใจว่า คนเจนแซดไม่เหมือนคนรุ่นก่อนในช่วงอายุเท่ากัน ทั้งนี้ ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 มีการสำรวจความคิดเห็นคนเจนแซดหลายร้อยคน ที่ส่วนใหญ่กำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัย และผลสรุปที่ได้ก็ต้องบอกว่าน่าดีใจ เพราะทัศนคติของคนเจนแซดนั้นก็ดูสมเหตุสมผล (Make Sense) “แต่การจะเข้าใจคนเจนแซด ผู้ใหญ่ก็ต้อง Upskill & Reskill ทางความคิด” ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนความคิดตนเองด้วย จึงจะสื่อสารกับคนเจนแซดได้
“คนเจนแซดเขาพูดถึงความเท่าเทียมทั้งด้านกฎหมาย การปฏิบัติ ความยุติธรรม เขาพูดถึงคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาที่ทัดเทียม ค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องการศึกษา ฉะนั้นเขาไม่ใช่คนที่น่ากลัวนะ พวกเจนแซดเราต้องคุยกับเขา ต้องรู้ว่าจริงๆ เขาคืออะไร ผมมีความรู้สึกว่าเราขาดความเข้าใจคนเจนแซด ถ้าเราไม่เข้าใจเขา ผมไม่เชื่อว่าเราพัฒนาประเทศได้ เพราะอย่างไรเราก็ต้องตายไป แต่พวกเขาจะขึ้นมาปกครองประเทศ มันต้องหาวิธี Communicate (สื่อสาร) กับพวกเขาให้ได้”
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย