2 ปี นับจากนี้ ชี้ชะตาประเทศไทย เปิดปัจจัยเสี่ยงและทางออกเพื่อประชาธิปไตยยั่งยืน
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จาก 8 ด้าน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย”
นายอภิสิทธิ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า ในยุคที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก่อตั้งขึ้น เป็นช่วงเดียวกับที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประกาศใช้ ในเวลานั้นประชาชนตั้งความหวังมากว่าไทยกำลังเดินทางไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยเทียบเคียงนานาประเทศในโลก อีกทั้งขณะนั้นสื่อมวลชนเองก็มีสิทธิเสรีภาพและความตื่นตัวสูงมาก แต่เมื่อผ่านไป 25 ปี ต้องยอมรับว่าหลายเรื่องเหมือนกลับมาเริ่มต้นกันใหม่
ทำไมการเมืองที่ดีวันนี้ถึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก? การเมืองที่ดีที่ว่านี้ คือการเมืองที่เข้มแข็ง การเมืองที่โปร่งใส การเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งผมก็ยังยึดถึงว่า ระบอบประชาธิปไตยน่าจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดที่จะได้การเมืองแบบนั้น ที่การเมืองที่ดีกำลังเป็นที่ต้องการ ก็เพราะว่าผมเชื่อว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างเกือบทุกเรื่อง ใครที่ได้อ่านหนังสือซึ่งเป็นโครงการอนาคตประเทศไทย ที่ฉายภาพฉากทัศน์ประเทศไทย ปี 2585 คือ 20 ปีจากนี้ โดยอาจารย์มิ่งสรรพ์ (ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด) และคณะ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าเรายังทำทุกสิ่งทุกอย่างแบบที่ทำกันอยู่นี้ นับวันเราก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจ สังคมก็จะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยก ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น สภาวะแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยาก็จะเสื่อมโทรม
จากการคาดการณ์อนาคตข้างต้น หากคิดเปลี่ยนแปลงไม่ปล่อยให้เดินไปสู่จุดนั้น ประเทศไทยก็จำเป็นต้องปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง แต่การปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีภาวะการนำทางการเมือง และภาวะการนำทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าทิศทางการเมืองที่วิเคราะห์กันไว้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ทุกคนย่อมต้องมีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบในการกำหนดทิศทาง
นายอภิสิทธิ์ เล่าต่อไปว่า ย้อนไปเมื่อปลายปี 2564 มีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษาคนหนึ่งที่มาขอสัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาคนนี้ตั้งคำถามได้น่าสนใจ “ท้ายที่สุดแล้ว..ประชาธิปไตยหรือเผด็จการฝายไหนจะชนะ?” เพราะในรอบ 20 ปีมานี้ ปรากฏภาพความถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ที่เชื่อกันมาว่าเมื่อมีประชาธิปไตยแล้วประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอาจไม่จริงเสมอไป และประชาชนก็สามารถสูญเสียประชาธิปไตยได้ เช่น กลายเป็นเผด็จการทหาร ประชานิยม ชาตินิยม ฯลฯ ถึงกระนั้น เผด็จการเองก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้เช่นกัน ต้องเดินไปสู่จุดจบในสักวันหนึ่ง เพราะเผด็จการไม่อิงอยู่กับหลักการ และไม่อิงอยู่กับประชาชน แต่อิงกับบุคคลและอำนาจ ซึ่งวันหนึ่งย่อมต้องเสื่อม จึงขอให้ทุกคนมีความหวัง แม้หลายคนจะรู้สึกสิ้นหวังกับการต่อสู้กับประชาธิปไตยแล้วก็ตาม
อดีตนายกฯ ผู้นี้ ซึ่งเคยบริหารประเทศในยุคที่มีสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองรุนแรงมากครั้งหนึ่ง เริ่มฉายภาพอนาคตการเมืองไทยในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ไล่เรียงตั้งแต่ ณ ปัจจุบัน 1.รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีความพยายามที่จะอยู่ให้ครบเทอม เพราะเวลานี้ยังมองไม่เห็นสัญญาณว่านายกฯ คนปัจจุบันต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
2.รัฐบาลชุดปัจจุบันจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะช่วงเวลาที่เหลือนั้นรัฐบาลจะต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่เอื้อให้รัฐบาลได้รับความนิยมมากขึ้น
3.มองไปอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายค้านก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจและอีกหลายปัญหาที่รัฐบาลเผชิญอยู่ มีแต่จะทำให้คะแนนเสียงไหลมาทางฝ่ายค้านมากขึ้น
4. การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดอย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี 2566 ความได้เปรียบอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พรรคเพื่อไทย” เพราะหากย้อนไปดูการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 เป็นเพราะความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย ด้วยการแตกออกเป็นพรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคถูกยุบเสียก่อน อีกทั้งยังมีสูตรคำนวณ ส.ส. แบบพิสดาร พรรคที่มีเศษคะแนนเหลือหลักแสนไม่ได้ ส.ส. เพิ่ม แต่พรรคที่มีคะแนนเพียง 2-3 หมื่นกลับมี ส.ส. ในสภา ทำให้รัฐบาลรวมเสียงได้เกิน 250 ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ยากมากที่รัฐบาลจะมีเสียงเพิ่ม
ความสำคัญว่าอยู่ครบเทอมหรือไม่ เทียบไม่ได้เลยกับปัญหามาตรา 272 เพราะมาตรานี้ชัดเจนที่สุดที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถ้ามาตรานี้ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนการเลือกตั้ง การเมืองไทยก็มีโอกาสที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะต้องมาเผชิญหน้ากับสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ถ้าเห็นไม่ตรงกันจริง ๆ โดยหลักถ้าพิจารณากันไปแล้ว ในที่สุดวุฒิสภาก็อาจจะต้านทานไม่ได้ แต่ก็ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถาม แล้วก็ความไม่ราบรื่น ในความรู้สึกของผม ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังควรคงมาตรานี้อยู่ ให้เป็นปัญหาสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า จริง ๆ สำหรับวาระของฝ่ายที่อยากผลักดันประชาธิปไตย ผมกลับมองว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าการเคลื่อนไหวขับไล่นายกฯ วันนี้เสียอีก เพราะอย่างไรเสียปีหน้าก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าเรามีการเลือกตั้ง พูดง่าย ๆ มีกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าเป็นธรรม ไม่ได้มีคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมายุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลอีก เราก็ปลดกับระเบิดเวลาไป 1 ลูก ที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
ข้างต้นนี้ อภิสิทธิ์ กล่าวถึง 5.บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 272 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดแรกนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่ง สว. ชุดนี้ ปัจจุบันยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่อีกประมาณ 1 ปี ดังนั้นจึงยังมีผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีภาคประชาชนขับเคลื่อนอยู่ และทางรัฐสภาได้รับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะสนับสนุนการแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่า “ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อประเด็นนี้” เพราะแม้ทุกพรรคจะเห็นด้วยให้แก้ไข สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็อาจทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จได้ ดังนั้นก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นคนตั้ง สว. ชุดนี้ และ สว. ก็เป็นคนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งหากนายกฯ ต้องการปลดหนึ่งในชนวนความขัดแย้ง เชื่อว่าสามารถพูดคุยกับ สว. ได้
6.แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชุดปัจจุบันจะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การบริหารประเทศยังมีคำถามว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน? เพราะยังมีกลไกหลายอย่างให้อำนาจ สว. ติดตามกำกับรัฐบาล เช่น การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ หากถูกหยิบยกขึ้นมาก็อาจเป็นปัญหาของรัฐบาลในเวลานั้นได้ จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องคิดกันต่อว่าแล้วจะคลี่คลายได้อย่างไร
7.หากมีการประนีประนอม จะมีลักษณะอย่างไร? เพราะการประนีประนอมมีได้หลายแบบ เช่น การประนีประนอมกันในเชิงผลประโยชน์ อาทิ การเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การกำหนดนโยบายบางอย่าง ซึ่งหากมองแบบเสถียรภาพเฉพาะหน้า การประนีประนอมเป็นการลดบรรยากาศความขัดแย้งลง แต่หากมองให้ไกลกว่านั้น วาระของฝ่ายที่เรียกว่าหัวก้าวหน้าถูกละเลย
ความเชื่อขอผมก็คือวาระของฝ่ายที่เรียกว่าหัวก้าวหน้า ซึ่งต้องการทำหลายเรื่อง ตั้งแต่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม การตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและโครงสร้างของสถาบันหลักต่าง ๆ ถ้าถูกละเลยไปปัญหาไม่จบ หลายเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในสังคมไม่หายไป อาจจะมีกระแสขึ้นลงแต่ไม่หายไป และถ้าเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการเอามาสู่กระบวนการในทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ในระบบสภาฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและหาทางออกกัน ก็ยังจะคงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาต่อไป
แต่หากไม่มีการประนีประนอม เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องตามดูไปอีกว่าวาระของพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้หากย้อนไปในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้เตือนไปว่า แม้การเข้ามาในการเมืองจะเป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่หากเข้ามาแล้วบริหารโดยเน้นผลประโยชน์ของครอบครัว บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหา เกิดความวุ่นวาย และกลับไปสู่วงจรเดิม
แน่นอนว่าการเตือนดังกล่าวก็ทำให้ถูกกองเชียร์พรรคเพื่อไทยรุมถล่ม แต่ที่น่าสนใจคือ ไม่มีการตอบโต้ใด ๆ ที่ยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องผลประโยชน์ของขอบครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงน่าเป็นห่วงหากมองไปข้างหน้า ว่าการเมืองไทยจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักหรือวัฏจักรตรงนี้หรือไม่ 8.แม้จะจัดตั้งรัฐบาลได้ มีการประนีประนอมและบริหารได้ราบรื่น ก็ยังมีเรื่องของรัฐธรรมนูญให้ต้องขบคิดกันต่อ ในปีแรกอาจยากเพราะยังเป็น สว. ชุดเดิม แต่หลังจากนั้น การสรรหา สว. ชุดใหม่ จะยิ่งมีความสำคัญ หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9.หากสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ คำถามคือสังคมไทยเรียนรู้แล้วหรือยัง? ว่าจะเขียนกติกาของประเทศอย่างไรไม่ให้กลับไปอยู่ในวังวนปัญหาเดิม? โดยเฉพาะประเด็น “การตรวจสอบถ่วงดุล (Check & Balance)” จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและยั่งยืน ที่ผ่านมาสังคมไทยใช้มาแล้วทั้งระบบรัฐสภา ก็ถูกมองว่าพวกมากลากไป ส่วนกระบวนการศาลยุติธรรมก็ไม่รวดเร็วเพียงพอในการตัดสิน แต่เมื่อหันมาพึ่งองค์กรอิสระ เวลาผ่านไปองค์กรอิสระกลับถูกบั่นทอนความน่าเชื่อถือจากหลายปัจจัย จนเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกองค์กรอิสระ แล้วมุ่งไปหาแนวทางทุกอย่างยึดโยงเสียงข้างมากในสภา
แต่หากเขียนกติกาไปในแนวทางนั้น ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดปัญหาจนทำให้รักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้อีก ขณะเดียวกัน เมื่อดูบทเรียนจากต่างประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาในศาลสูง ปัจจุบันสถานการณ์ที่การเมืองสหรัฐฯ แบ่งขั้ว หลายเรื่องก็กลายเป็นปัญหา เช่น การทำแท้ง การควบคุมอาวุธปืน ภาวะโลกร้อน ขณะที่ประเด็นต่อมา “วุฒิสภาควรมีหน้าตาอย่างไร?” ซึ่งสำคัญมากเพราะวุฒิสภามีบทบาทเชื่อมโยงกับองค์กรอิสระต่าง ๆ โดยในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้ สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเชื่อว่าจะสามารถหาความเป็นกลางได้ แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าไม่เป็นความจริง มีการแทรกแซงองค์กรอิสระเกิดขึ้น
ในช่วงท้ายของการปาฐกถา นายอภิสิทธิ์ ย้ำว่า ในช่วง 2 ปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร จะตอบสนองความต้องการของประเทศได้หรือไม่ ตั้งแต่การปลดชนวนความขัดแย้งตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการเข้าสู่อำนาจ การบริหารที่ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ไปจนถึงการช่วยกันทำกติกาใหม่ที่เก็บบทเรียนจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่าจะแสวงหาความสมดุลเพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้อย่างไร
ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่พวกเราทุกคนว่าจะทำอย่างไร แล้วจะเป็นไปอย่างที่เราต้องการหรือไม่ แต่ผมก็ยังมีความเชื่อและความหวังว่าความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในที่สุดก็จะนำไปสู่การที่เราต้องเสริมความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย จะช้า จะเร็ว จะราบรื่นหรือไม่ อันนั้นก็อยู่ที่รายละเอียดและสถานการณ์ในแต่ละช่วง
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม >>> 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย