สภาการสื่อมวลชนฯ จัด 25 ปี “ชีลา โคโรเนล” ปาฐกถา ชี้สื่อเมืองหลวงกำหนดประเด็น แต่อย่าทอดทิ้งคน ตจว.ขณะที่วงเสวนา ‘จริยธรรมการทำข่าวเชิงข่าวสืบสวนฯ’ ระบุ นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเกราะคุ้มภัยสื่อได้
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2540 บรรณาธิการ เจ้าของสื่อ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รวมตัวกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประกาศเจตจำนงร่วมกันว่าต้องการก่อตั้งองค์กรขึ้นมากำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย จึงเกิดเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
จากนั้นในช่วงปลายปี 2540 ได้ออกข้อบังคับจริยธรรม ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยเหตุที่ใช้เวลายกร่างอยู่พอสมควร เพราะต้องการความละเอียดถี่ถ้วน มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความเห็น ทั้งนี้ ข้อบังคับจริยธรรม ทำให้องค์กรวิชาชีพยังคงแข็งแรงและเป็นที่น่าเชื่อถือ แม้ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และสื่อพลเมืองเติบโตขึ้น จริยธรรมจึงเป็นหลักที่สื่อมวลชนต้องรักษาไว้ โดยข้อบังคับจริยธรรมมีกาปรับแก้อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงท้ายของยุคสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอีกครั้งเมื่อเริ่มยกระดับเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
นายชวรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในยุคถัดมาที่ยกระดับเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีการเปิดกว้างในการรับสมาชิก จากเดิมที่มีสมาชิกที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมาต่างก็เข้าไปใช้พื้นที่ออนไลน์เสนอข่าว ไปสู่สื่อหนังสือพิมพ์เดิมแต่ยุติการพิมพ์ไปแล้ว เหลือเพียงการนำเสนอข่าวช่องทางออนไลน์เท่านั้น ตลอดจนสำนักข่าวใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีหนังสือพิมพ์มาก่อนแต่เสนอข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง รวมไปถึงสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ โดยยังคงยืนหยัดจะกำกับดูแลจริยธรรมสื่อต่อไป และเปิดรับทุกสื่อที่พร้อมเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล
“ข้อบังคับจริยธรรม นอกจากจะใช้ยืนยันในความเป็นสื่อมวลชนวิชาชีพแล้ว ตอนนี้ก็จะมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ประกาศต่อสาธารณะไปแล้ว ว่าให้ถือว่าข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นประมวลจริยธรรมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 4 (3) ที่ให้ข้อยกเว้นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพและทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ” นายชวรงค์ กล่าว
จากนั้นเป็น ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” โดย ชีลา โคโรเนล (Sheila Coronel) อดีตนักข่าวฟิลิปปินส์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ โดยมี นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน เป็นผู้แปลสรุปเป็นภาษาไทย โดย ชีลา กล่าวไว้ 4 ประเด็น คือ 1.ในอดีตสื่อมวลชนมีภารกิจต่อสู้กับเผด็จการ โดยในบริบทของฟิลิปปินส์คือการต่อสู้กับอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) และปัจจุบันก็ยังกล่าวถึง แม้ลูกชายของอดีต ปธน. ผู้นี้ ได้กลายเป็น ปธน. คนล่าสุดของฟิลิปปินส์แล้วก็ตาม
2.การจำกัดเสรีภาพสื่อไมได้มีแต่ในประเทศที่เป็นเผด็จการ แม้แต่ประเทศแบบเสรีนิยมก็มีวิธีจำกัดเสรีภาพสื่อเช่นกัน แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น เช่น การสร้างข่าวปลอม 3.การสร้างภาพเสมือนจริงสามารถทำให้ผู้นำที่แม้จะถูกตั้งคำถามหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้รับคะแนนนิยม เช่น กรณีของอดีต ปธน. โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) ที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เชื่อได้ว่า หากเลือกตนให้มีอำนาจ ตนจะขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินฟิลิปปินส์ นำไปสู่นโยบายสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตหลายพันศพ
แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือ บองบอง (Bongbong) ลูกชายอดีต ปธน.มาร์กอส จะชนะการเลือกตั้งได้เป็น ปธน.ฟิลิปปินส์ คนปัจจุบัน เพราะ มาร์กอส ผู้พ่อ เคยทุจริตจนสร้างความเสียหายเป็นเม็ดเงินที่ยังค้างอยู่ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่น่าจะทำให้ บองบอง ชนะการเลือกตั้ง เพราะสามารถสร้างกระแสให้ชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่าได้ หากตนมีอำนาจ จะนำพายุคสมัยที่เคยรุ่งเรืองของประเทศกลับมาอีกครั้ง โดยในยุค 1960 (ปี 2503-2512) ฟิลิปปินส์นั้นยิ่งใหญ่มาก แม้แต่ไทยก็ยังได้รับอิทธิพลหลายอย่าง
และ 4.ระวังความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูล ที่ประเทศฟิลิปปินส์ คนที่อยู่นอกพื้นที่เมืองหลวงนั้นเหมือนกับถูกทอดทิ้ง เห็นได้จากข่าวสารส่วนใหญ่เมืองหลวงเป็นผู้กำหนด และเมื่อไปดูผลการเลือกตั้ง พื้นที่รอบนอกนั้น บอง บอง สามารถชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ดังนั้นบทเรียนที่ได้คือ ต้องไม่ทอดทิ้งประชาชนที่มองไม่เห็น หรือผู้ที่อยู่นอกเมืองหลวง
“ผมดีใจที่สภาของเรา ก็มีสมาชิกใหม่ๆ จากข้างนอกเข้ามา แล้วก็มีการส่งข่าว นี่สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีการรายงานข่าวจากต่างจังหวัด จากท้องถิ่น เราจะไม่รู้เลย และนี่คือประเด็นที่ ชีลา พูดถึงในประเด็นสุดท้ายว่า คุณห้ามทอดทิ้งบุคคลที่มองไม่เห็น หรืออยู่อาศัยไกลตัวเราออกไป” นายกวี ระบุ
ต่อมาเป็นช่วงเสวนา หัวข้อ “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” โดย ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา เริ่มต้นด้วยการอธิบายนิยามของข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ว่า หมายถึงข่าวที่เน้นกระบวนการค้นหาเอกสารหลักฐาน นำมาใช้ยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องตรวจสอบการทุจริตเสมอไป
เช่น มีสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เห็นคลิปวีดีโอวัยรุ่นวัยเรียนยกพวกตีกันถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปสอบถามผู้เกี่ยวข้อง มีการค้นหาภาพจากกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุมาประกอบเพิ่มเติม ซึ่งเดิมมีการแชร์คลิปวีดีโอก็มีคนสนใจอยู่แล้ว ยิ่งสื่อไปใช้กระบวนการสืบค้นและนำเสนอให้ลึกขึ้น คนก็ยิ่งสนใจมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ การทำข่าวดังกล่าวไม่ได้ผิดอะไร แต่น่าจะมีคำอธิบายต่อไปอีกว่า อะไรคือสาเหตุของปัญหาการยกพวกตีกันของนักเรียน-นักศึกษา หากทำได้ข่าวนี้ก็จะกลายเป็นข่าวที่ดีชิ้นหนึ่ง
แต่หากเน้นที่ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่องตรวจสอบการทุจริตโดยเฉพาะ ยอมรับว่า มีจำนวนลดลง ด้านหนึ่งการทำข่าวประเภทนี้ต้องรอบคอบและระมัดระวังอย่างมาก อีกทั้งต้องใช้เวลารวบรวมเอกสารหลักฐาน ดังนั้นอาจมองได้ว่า “ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนไม่ได้ลดลงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป” ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ “ยุคดิจิทัลมีสื่อจำนวนมากทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ และทุกคนต้องแย่งกันทำข่าว” โดยข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่องตรวจสอบการทุจริต นอกจากจะมีความเสี่ยงด้านกฎหมายแล้ว เป็นเรื่องยากที่องค์กรใดจะให้งบประมาณสนับสนุนสื่อที่ทำข่าวตรวจสอบตนเอง
อย่างไรก็ตาม ตนยังมีความเชื่ออยู่ว่า “หากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ สิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันตัวให้กับสื่อได้” เช่น กรณีของสำนักข่าวอิศรา ที่ผู้บริหารต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้งเพราะนำเสนอข่าวตรวจสอบการทุจริตแล้วถูกฟ้อง แต่ท้ายที่สุด หลักยึดดังกล่าวได้ทำให้สำนักข่าวอิศราอยู่รอดได้ตลอดมา
“ศาลจะพูดเสมอว่า ในการทำข่าวของสื่อมวลชน ถ้าเน้นเรื่องประโยชน์สาธารณะ และในการนำเสนอเป็นการเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้มีการบิดเบือน มีคดีหนึ่งเราเอาข้อมูลบริคณห์สนธิบริษัทมาเปิดเผย เอาข้อมูลผู้ถือหุ้นมาเปิดเผย ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด เพราะเราไม่ได้เขียนอะไรผิดไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เลย ซึ่งจริงๆ หลักของการทำข่าว คุณสมบัติของข่าวที่ดีตามหลักวิชาการจะมีอยู่ 3 ส่วน 1.นำเสนอข้อมูลถูกต้องไหม? 2.ให้ความเป็นธรรมหรือเปล่า? ถ้าเราไปพูดถึงใคร พาดพิงถึงใครเราเปิดพื้นที่ให้เขาหรือเปล่า 3.นำเสนอตามภววิสัยหรือเปล่า? หมายถึงเห็นอะไรเรารายงานไปตามนั้น ไม่ได้ใส่ความเห็น ข่าวมันต้องแยกความเห็นออก” ดร.มนตรี กล่าว
ขณะที่ นายกมล ชวาลวิทย์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าวไทยพับลิก้า (ThaiPublica) ระบุว่า สื่อมวลชนเป็นอาชีพเสี่ยง เช่น สัมภาษณ์แหล่งข่าวอยู่ดีๆ อาจถูกฟ้องร่วมกับแหล่งข่าวได้ ขณะเดียวกัน การหาข้อมูลก็ยากลำบาก เช่น มีแหล่งข่าวที่มีข้อมูลน่าสงสัยในการประมูลงานของหน่วยงานภาครัฐ แม้จะบอกเล่าปากเปล่ากับผู้สื่อข่าวได้ แต่ไม่กล้าให้เอกสารหลักฐานเพราะกลัวจะถูกสืบรู้ว่าหลักฐานนั้นหลุดมาจากตน
อีกทั้งเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วยังต้องหาวิธีนำเสนอให้น่าสนใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนไม่ใช่ข่าวยอดนิยม (Popular) ถึงกระนั้น ทุกข้อมูลที่ได้รับต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่รีบนำเสนอแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำเสนอเป็นข่าว เรื่องนี้ก็อยากให้ประชาชนเข้าใจด้วย เพราะในอีกมุมหนึ่ง มีประชาชนส่งข้อมูลมาให้แล้วอาจมีคำถามว่าเหตุใดยังไม่นำเสนอเป็นข่าว
นายกมล กล่าวต่อไปในประเด็นที่เมื่อสื่อนำเสนอข่าวตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล แล้วมีประชาชนผลักสื่อให้ไปเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ว่า เรื่องนี้พบได้บ่อยบนพื้นที่ออนไลน์ เสนอข่าวฝ่ายหนึ่งก็ถูกถล่ม พอเสนออีกฝ่ายก็ยังถูกถล่ม รวมถึงแนวร่วมแต่ละฝ่ายก็มาต่อสู้กันอยู่ในช่องแสดงความคิดเห็น แต่เรื่องนี้เคยมีผู้ให้ข้อคิดว่า หากทำได้ในระดับดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะไม่มีใครเข้าข้างเลย ทุกคนพร้อมโจมตีและชื่นชมสำนักข่าว ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำข่าวให้เป็นกลางนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะคนอาจไม่สนใจความเป็นกลาง แต่ต้องการให้เลือกข้าง
“วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็กลับไป Basic (พื้นฐาน) คุณทำข่าวด้วยข้อเท็จจริง ด้วยความถูกต้อง การทำข่าวตามเนื้อผ้า เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจง ผมว่ามันจะเป็นเกราะคุ้มกันคุณอย่างชัดเจนแล้ว ส่วนคนจะว่าจะอะไร ผมว่าบางทีมันเป็นเรื่องที่ห้ามยาก แต่เรารู้ตัวเราทำอะไรพอ บทบาทหน้าที่อย่างหนึ่งของสื่อมวลชนคือการเป็นหมาเฝ้าบ้าน ถ้าเรายึดหลักนี้ได้ ไม่ว่ายุคจะเปลี่ยนไปอย่างไร เครื่องมือเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าเรายึกหลักนี้ได้ผมว่าเราเป็นอมตะ เราอยู่ได้ตลอด” บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าว
ด้าน ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนยังสำคัญและจำเป็นมาก เห็นได้จากทุกครั้งที่มีข่าวประเภทนี้ถูกนำเสนอออกมา จะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีข่าวที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต อาจหมายถึงหน่วยงานต้นสังกัด ไปจนถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น
ซึ่งการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ วิธีการได้มาซึ่งของข้อมูล กับการนำเสนอข้อมูล และทั้ง 2 ส่วนจะมีประเด็นจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ โดยหากนำเสนอข่าวอย่างขาดความรับผิดชอบ ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการถูกตอบโต้ด้วยกฎหมาย แต่ยังทำลายความน่าเชื่อภือของผู้นำเสนอข่าวรวมถึงแหล่งข่าวด้วย ทำให้ประชาชนมองประเด็นไม่ถูกต้อง เป็นการเสียโอกาสของส่วนรวม แม้กระทั่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดยังสามารถก้าวเดินต่อไปได้
แต่อีกด้านหนึ่ง สื่อก็เผชิญกับข้อจำกัดทั้งด้านการหาข้อมูลและการนำเสนอ แม้กระทั่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเองก็ไม่สามารถนำเสนอได้ทุกเรื่องแม้จะมีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ เนื่องจากแม้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล หากเป็นข้อมูลของภาครัฐมักจะเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ทั้งที่โดยหลักสากลแล้ว หากเป็นข้อมูลประโยชน์สาธารณะต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้
“ถ้าเป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองต้องพูดได้ เรื่องคอร์รัปชั่นต้องพูดได้ แต่ในความเป็นจริง โดยตัวกฎหมายมันทำไปอย่างนั้นไม่ได้ กลไกกของฎหมายหรืออำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะมาปกป้องประชาชน-ผู้สื่อข่าวที่พูดความจริง พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ มันถูกครอบงำ ถูกบิดบี้ยว ประชาชนชอบบอกว่าไปรณรงค์กันดีนัก ทุกคนช่วยกันเปิดโปง ต้านโกงๆ สุดท้ายฉันตาย คือคนที่เปิดโปงก็จะเป็นคนที่ตาย” ดร.มานะ กล่าว
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายที่สามารถคุ้มครองประชาชนถูกดองไม่ให้ออกมา เช่น กฎหมายป้องกันการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) เคยผ่านการรับรองจาก ป.ป.ช. แล้ว ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปแล้ว แต่เมื่อไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับได้รับคำตอบว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่จำเป็น และเสนอให้ไปแก้กฎหมาย ป.ป.ช. สัก 2-3 มาตรา แต่ในความเป็นจริงแก้เฉพาะกฎหมาย ป.ป.ช. ยังไม่พอ ยังต้องไปแก้กฎหมายอื่นๆ อีก 7-8 ฉบับ เพื่อให้ใช้การได้ในทางปฏิบัติ