‘25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ’ จัดใหญ่! 8 กูรูจาก 8 ด้าน สะท้อนมุมมอง-หาทางออกประเทศไทย
3 ก.ค. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี ณ รร.เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 4 ก.ค. 2540 โดยเวลานั้นคือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระในการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ ต่อมาในวันที่ 11 พ.ย. 2563 ได้ยกระดับเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่สื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ หลอมรวมกัน รวมถึงการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์
ภารกิจของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คือการปรับปรุงข้อบัญญัติและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป มีการดำเนินการเชิงรุก รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิก รวมถึงรับข้อร้องเรียนว่าได้มีการกระทำที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่-อย่างไร โดยต้องการสานต่อกลไกเดิมที่วางรากฐานไว้ตั้งแต่ยุคสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
โดยกลไกรับเรื่องร้องเรียนในองค์กร หรือ Ombudsman มีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกำลังดำเนินการวางระบบการติดตามเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการร้องเรียน หรือการ Tracking เพื่อให้ผู้ร้องเรียนและผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนนั้น ๆ ได้ตามกรอบเวลาที่ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนดไว้
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนทางด้านสมาชิกนั้น ยังคงส่งเสริมให้สมาชิกทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ภายใต้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ หรือการฝึกอบรมต่าง ๆ ขณะที่ในด้านต่างประเทศ ได้สานต่อความร่วมมือกับเครือข่ายสภาการสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมมือสภาการสื่อมวลชนของอินโดนีเซีย เมียนมา รวมถึงติมอร์เลสเต รวมถึงเตรียมความพร้อมในความร่วมมือกับสภาการสื่อมวลชนประเทศอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
และเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีการจัดกิจกรรม 3 กิจกรรม คือ 1. การเสวนาสัญจร เรื่อง “การปรับตัวของสื่อในยุคดิจิทัล : ความท้าทายของสื่อมวลชนท้องถิ่น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ณ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ 2. การปาฐกถาพิเศษ “มองอนาคตประเทศไทย” จากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน ใน 8 ด้าน วันที่ 3 ก.ค. 2565 ณ รร. เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
และ 3. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” โดยอดีตนักข่าวฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาสื่อมวลชน และจัดเสวนาในหัวข้อเดียวกัน ในวันที่ 4 ก.ค. 2565 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไป แต่สภาการสื่อมวลชนห่งชาติ จะยังคงทำหน้าที่จรรโลงไว้ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนวิชาชีพ สามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม
จากนั้นเข้าสู่ช่วงปาฐกถาพิเศษ “มองอนาคตประเทศไทย” เริ่มจากหัวข้อแรก “ทิศทางการเมืองไทย” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ฉายภาพอนาคตการเมืองไทยในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ไล่ตั้งแต่ 1. รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันว่า มีความพยายามที่จะอยู่ให้ครบเทอม แต่ตนยังมองไม่เห็นสัญญาณว่านายกฯ คนปัจจุบันต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
2. แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะช่วงเวลาที่เหลือนั้นรัฐบาลจะต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่เอื้อให้รัฐบาลได้รับความนิยมมากขึ้น 3. มองไปอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายค้านก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจและอีกหลายปัญหาที่รัฐบาลเผชิญอยู่ มีแต่จะทำให้คะแนนเสียงไหลมาทางฝ่ายค้านมากขึ้น
4. การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดอย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี 2566 ความได้เปรียบอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พรรคเพื่อไทย” เพราะหากย้อนไปดูการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 เป็นเพราะความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย ด้วยการแตกออกเป็นพรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคถูกยุบเสียก่อน อีกทั้งยังมีสูตรคำนวณ ส.ส. แบบพิสดาร พรรคที่มีเศษคะแนนเหลือหลักแสนไม่ได้ ส.ส. เพิ่ม แต่พรรคที่มีคะแนนเพียง 2-3 หมื่นกลับมี ส.ส. ในสภา ทำให้รัฐบาลรวมเสียงได้เกิน 250 ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยสภาพแศรษฐกิจแบบนี้ยากมากที่รัฐบาลจะมีเสียงเพิ่ม
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางสังคมไทย” ระบุว่า สภาวะทางนโยบายของไทยเป็นแบบค่อนข้างปิดและรวมศูนย์ ซึ่งการที่มาพูดในเวทีของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพราะหวังว่าสื่อมวลชนจะมีบทบาทในการเดินหน้าไปสู่การมีพื้นที่แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เพราะความเสี่ยงจากโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แม้ภาครัฐหรือภาคการเมืองจะเข้มแข็งเพียงใดก็ตาม หากขาดความเข้มแข็งของสังคม ปราศจากความร่วมไม้ร่วมมือ
ทั้งนี้ หากจะเดินออกจากภาวะความขัดแย้งและความรุนแรง จำเป็นที่ต้องช่วยกันหาทางถกกันเรื่องความรู้ที่ครบถ้วน และต้องเรียนรู้จากกันและกันให้มากขึ้น เพราะความรู้ที่จำกัดในแต่ละส่วนบางครั้งอาจสร้างปัญหาให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ต้องการการร่วมกันทำงาน สร้างความเชื่อมั่นว่าเราห่วงใยเรื่องที่เราจะร่วมทุกข์และแก้ไขสิ่งที่เลวร้าย แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบันเน้นบทบาทของภาครัฐมากจนเกินเหตุ และเน้นการบังคับเกินสัดส่วน ถึงขั้นที่จะออกกฎหมายมาควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตการศึกษาไทย” กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีกำลังแรงงานมากกว่า ดังนั้นการลงทุนด้านการศึกษาต้องขยับจากวัยเด็กไปสู่วัยที่กำลังทำงาน หรือก็คือการ Upskill และ Reskill ซึ่งที่ผ่านมายังมีการส่งเสริมในฝั่งวัยแรงงานน้อย ขณะเดียวกัน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่เป็นการปล่อยเข้ามาทำงานอย่างไม่เป็นระบบ การฝึกอบรมแรงงานจึงควรรวมถึงแรงงานข้ามชาติ
อีกทั้งควรมองแรงงานในฐานะมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการดึงดูดแรงงานมีฝีมือในต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย นำไปสู่ความเป็นไปได้ที่แม้รุ่นพ่อแม่จะไม่ใช่คนไทย แต่รุ่นลูกอาจกลายเป็นคนไทยก็ได้ ซึ่งประเทศไทยนั้นมีความพิเศษในการทำให้ชาวต่างชาติกลายเป็นคนไทย เห็นได้จากคนไทยทุกวันนี้จำนวนมากก็มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งนี้ สิงคโปร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยแรงงานข้ามชาติ ด้วยเพราะมีนโยบายที่เอื้อต่อการดึงคนมีฝีมือเข้าไปทำงาน
ในทางกลับกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ยังดำรงอยู่ เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีคนจนอีกไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป โดยการจะดึงเด็กให้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา ต้องช่วยเหลือไปถึงครอบครัวของเด็กด้วย เพราะคงเป็นไปได้ยากที่พ่อแม่ตกงานแล้วจะให้ลูกมาเรียน หรือหากไปดูในพื้นที่ห่างไกล แม้รัฐจะพยายามทำโครงการอินเตอร์เน็ตในชุมชน แต่กลับใช้งานจริงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ลำพังจะหวังพึ่งพางบประมาณภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ภาคเอกชนและประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการออก Social Impact Bond ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาสังคม เช่น ที่ประเทศอังกฤษ มีการออก Social Impact Bond จัดทำโครงการจ้างงานผู้พ้นโทษจากเรือนจำ เพื่อแก้ปัญหาการกลับไปกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ เสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือเจ็นแซด (Gen Z) ที่มีค่านิยมเน้นความเท่าเทียม เสมอภาค และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็จำเป็นที่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจ
ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า มุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เชื่อมโยงกับความมั่นคง เช่น ด้านอาหาร ด้านพลังงาน และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแต่มุมของต้นทุน แต่ยังมีเรื่องของโอกาสในเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ
ซึ่งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยต้องแก้ไข 2 เรื่อง 1. กลไกกรรมการระดับชาติ แม้กรรมการระดับชาติจะมีความจำเป็นเพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นงานคาบเกี่ยวระหว่างหลายกระทรวง แต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาจากผู้แทนที่แต่ละหน่วยงานส่งมาร่วมประชุม บางคนเพิ่งได้รับมอบหมายแบบสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ทราบข้อมูลก่อนหน้านั้นมาก่อน แต่เมื่อการประชุมจบลง ก็จะพบคนจากกระทรวงเหล่านั้นแต่ไม่ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมส่งเสียงท้วงติง
หรือแม้กระทั่งกรรมการทั้งหมดมีมติเห็นตรงกันเป็นฉันทามติ ก็ยังต้องรอเป็นเดือนกว่าคณะรัฐมนตรีจะรับรอง ซึ่งอาจไม่ทันกับการแก้ไขปัญหา กับ 2. กฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ทั้งกฎหมายแม่และกฎหมายลูก ซึ่งแม้ว่าจะเข้าสู่ยุคสมัยของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ถือกันว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย จึงนำไปสู่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง เห็นได้จากจำนวนการฟ้องคดีในศาลปกครองจำนวนมากเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” กล่าวถึงคำว่า Resilience ซึ่งแปลว่ายืดหยุ่นหรือทนทานก็ได้ คำนี้ใช้อธิบายเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคที่ไม่กลายไปเป็นวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 แต่หลังจากนี้ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการ Reform หรือปฏิรูปได้ เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ระดับการเติบโตลดลง การพัฒนาที่ผลประโยชน์ไม่ได้กระจายไปสู่คนทุกกลุ่ม นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากไม่แก้ไขก็อาจฉุดรั้งการพัฒนาได้
ซึ่งทางออกอยู่ที่การปรับ 3 เรื่อง 1. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งธุรกิจเดิมที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว และธุรกิจที่เป็นกระแสของโลกอนาคต ขยายการสนับสนุนไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 2. กระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ต้องผลักดันให้เกิดเมืองชั้นนำระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ระดับภูมิภาค สร้างระบบสวัสดิการที่เป็นธรรม สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
ส่วนในระดับปัจเจกบุคคล ความท้าทายคือจะเพิ่มรายได้ให้แรงงานระดับฐานราก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรได้อย่างไร เพราะกลุ่มนี้ครองสัดส่วนเกินครึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ และ 3. มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึงการปรับปรุงบทบาทของภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้กำกับดูแลเป็นผู้ส่งเสริม มีหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์เพื่อประเมินทิศทางการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ปฏิรูประบบการคลัง ส่งเสริมความยั่งยืนของประกันสังคม เป็นต้น
นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางอาเซียน” กล่าวถึง 9 ด้านของทิศทางอาเซียน 1. สร้างความรู้สึกร่วมของคนไทยในความเป็นอาเซียน โดยเฉพาะคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ ๆ หากมีความรู้เรื่องอาเซียนเป็นอย่างดีจะมีโอกาสหางานทำได้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 2. ขันน็อตอาเซียนบ้าง อาเซียนมีข้อตกลงจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยถูกนำมาปฏิบัติ รวมถึงเพิ่มบทบาทเลขาธิการอาเซียน
3. เปิดรับสมาชิกใหม่ เช่น ติมอร์เลสเต มีความต้องการเข้าร่วมอาเซียนมานานแล้ว รวมถึงประเทศที่ดูเหมือนอยู่นอกภูมิภาค เช่น ปาปัวนิวกินี ที่แสดงความต้องการเข้าร่วมอาเซียนมานานแล้วเช่นกัน เพราะกระแสโลกยุคใหม่ ใครอยากเข้าร่วมประชาคมไหนก็ได้หากประชาคมนั้นยอมรับ 4. ส่งเสริมความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศหรือประชาคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU)
5. สมาชิกอาเซียนไม่ควรเลือกข้างทางการทหารกับมหาอำนาจไม่ว่าขั้วใด ในทางตรงข้าม อาเซียนต้องคุ้มครองสิทธิของประชากรอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) 6. สนับสนุนพหุนิยม แม้จะเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละประเทศเจริญไม่เท่ากัน แต่ปัจจุบันอาเซียนกำลังร่างวิสัยทัศน์ใหม่ออกมาใช้ในอนาคต
7. สนับสนุนพื้นที่ปลอดภัยและสร้างความปรองดอง แม้อาเซียนจะถูกมองว่าอ่อนแอ แต่ประชาคมนี้เคยเปิดพื้นที่ให้ชาติในภูมิภาคอื่น ๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งได้มาพูดคุยกัน 8. ลดความเหลื่อมล้ำของประเทศสมาชิก บางชาติร่ำรวยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเก็บค่าบำรุงสมาชิกตามฐานะของประเทศ และ 9. DNA อาเซียนคือไทย และ DNA ไทยคืออาเซียน นโยบายการพัฒนาของไทยหากคำนึงถึงอาเซียนด้วย สุดท้ายผลตอบแทนก็จะย้อนกลับมาที่ไทยโดยปริยาย อีกทั้งไทยมีศักยภาพเพราะเป็นศูนย์กลางอาเซียนในทางภูมิศาสตร์
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางเทคโนโลยีสารสนเทศ” กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลต้องไปให้ถึงชุมชน ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในบริบทของชุมชนได้ หากทำได้ประเทศไทยจะยกระดับไปอีกขั้น โดยภาคที่น่าสนับสนุน 1. ระบบเกษตรและสหกรณ์ เสริมศักยภาพของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนพ่นสารกำจัดศัตรูพืช ใช้ IoT วิเคราะห์คุณภาพดิน ใช้ Blockchain เข้ามาช่วยในระบบการเงินของสหกรณ์ 2. E-Commerce ชุมชน ระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้ชุมชนต่างๆ มีช่องทางจำหน่ายสินค้าของตนเอง ไม่เฉพาะแต่ในประเทศแต่รวมถึงทั่วโลก
3. Digital Learning ซึ่งควรเป็นการเรียนรู้แบบ Experiential Learning 4. Smart Cites เริ่มแรกดำเนินโครงการนำร่องใน จ. ภูเก็ต เมื่อภาคเอกชนเห็นว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาดูแลเมืองจะเป็นระโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอย่างไร จึงรวมตัวกันตั้ง บริษัท ภูเก็จพัฒนาเมือง จากภูเก็ต แนวคิดแบบเดียวกันขยายแล้วปัจจุบันกว่า 20 จังหวัด โครงการแบบนี้ภาครัฐไม่ควรผลักดันเอง แต่ควรเป็นผู้สนับสนุน และ 5. E-Government เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ กับหน่วยงานภาครัฐ ลดขั้นตอน ประหยัดเวลา
และ ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตสื่อไทย” ระบุว่า การกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านสื่อ กระจายอยู่กับ 3 หน่วยงาน หากเป็นเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อยู่กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หากเป็นวิดีโอเกม หรือภาพยนตร์ จะอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม และเนื้อหาที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์จะอยู่กับ กสทช. แต่ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน