กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนฯ รับทราบผลการตรวจสอบการเสนอข่าว “หมอปลา” นำสื่อมวลชนบุกสำนักสงฆ์ “หลวงปู่แสง” โดยคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ของไทยรัฐ
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการจริยธรรม เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่มีสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง รวมทั้งไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้นำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ “หมอปลา” นำสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา บุกสำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังได้รับร้องเรียนว่ามีพระเกจิดัง อายุเกือบ 100 ปี มีพฤติกรรมลวนลามผู้หญิง อ้างว่ารักษาโรค โดยมีการเผยแพร่คลิปขณะหญิงสาวเข้าไปกราบไหว้ และมีการจับเนื้อต้องตัว จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม โดยเบื้องต้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 สถานีโทรทัศน์ ไทยรัฐทีวี ได้มีคำสั่งให้พักงานผู้สื่อข่าวเพื่อสอบสวนเป็นเวลา 7 วัน และตั้งกรรมการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องรวมถึงหัวหน้างานตามลำดับสายงาน ก่อนจะมีการพิจารณาถึงบทลงโทษอื่นต่อไป
จากเหตุการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อขอให้ใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร (Media Ombudsman) ตรวจสอบจริยธรรมในการนำเสนอข่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 ข้อ 6 สื่อมวลชนต้องละเว้นการเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติเป็นเหตุให้ข่าวนั้นบิดเบือน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในข่าวและความเข้าใจผิดในสังคม และข้อ 29 สื่อมวลชนพึงใช้วิธีที่สุภาพและซื่อสัตย์ในการได้มาซึ่งข่าว พร้อมสนับสนุนให้ใช้กลไกของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรที่สื่อในเครือไทยรัฐได้แต่งตั้งไว้แล้ว ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมกับขอให้แจ้งกลับมายังสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติทราบภายใน 30 วัน ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก พ.ศ.2564 เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ทางไทยรัฐได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีมติให้ลงโทษผู้ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบการนำเสนอข่าวกรณีดังกล่าวจำนวน 3 คน ได้แก่ 1.ผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าว เนื่องจากมีความบกพร่องไม่แจ้งให้ผู้รับผิดชอบในฝ่ายบรรณาธิการทราบว่าคลิปข่าวที่ได้รับมาและส่งให้ฝ่ายบรรณาธิการเป็นคลิปที่จงใจส่งผู้สื่อข่าวหญิงเข้าไปเก็บหลักฐาน ทำให้เกิดความผิดพลาด นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลที่ตกเป็นข่าวให้รอบด้าน
2.นิวส์โพรดิวเซอร์ ทำหน้าที่รีไรท์เตอร์ ซึ่งทราบจากผู้สื่อข่าวว่าคลิปที่ได้มาเป็นคลิปที่มีการจัดฉากขึ้น แต่ยังคงนำมาใช้ประกอบการนำเสนอข่าว โดยไม่ได้แจ้งให้บรรณาธิการรายการทราบอย่างครบถ้วน จนเกิดความคลาดเคลื่อนเกินเลยไปจากข้อเท็จจริง และ 3.บรรณาธิการข่าวรายการข่าวไทยรัฐนิวส์โชว์ แม้จะไม่ทราบว่าคลิปที่ได้มาเป็นคลิปที่มีการจัดฉาก แต่ในฐานะบรรณาธิการข่าวย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาสาระของข่าว ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ตกเป็นข่าว แต่กลับมิได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบว่าหลวงปู่แสง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งหากได้ทำการตรวจสอบก็อาจทำให้ทราบข้อมูล และอาจทำให้เสนอข่าวด้วยความระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 3 คน ยังทำผิดระเบียบวินัยการทำงานของบริษัทฯ เป็นการ หลีกเลี่ยง ละเลย หรือขาดการเอาใจใส่ต่อการทำงานของตนเอง หรือพนักงานใต้บังคับบัญชา คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ลงโทษ “ตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร”
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ผู้บังคับบัญชา “ตักเตือน” ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการไทยรัฐทีวี ให้กำกับดูแลการทำงาน ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดขึ้นอีก และเพื่อเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการจริยธรรม ได้พิจารณาแล้วมีมติรับทราบ พร้อมให้เผยแพร่ผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้คณะทำงานปรับแก้ข้อบังคับและแนวปฏิบัติ ไปพิจารณาปรับแก้แนวปฏิบัติอีก 2 ฉบับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.แนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.2562 และ 2. แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว พ.ศ.2559 โดยเป็นแนวปฏิบัติที่ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกันจัดทำขึ้น และเมื่อคณะทำงานปรับแก้ข้อบังคับและแนวปฏิบัติพิจารณาเสร็จแล้ว ให้จัดส่งให้องค์กรวิชาชีพที่ร่วมจัดทำนำไปพิจารณาอีกครั้ง