อดีต ปธ.สภาฯ นสพ. ชี้ เหตุการณ์แบบ ‘หลวงปู่แสง’ เดี๋ยวก็มีอีก การปรับกระบวนทัศน์คือ ทางออกที่ควรพิจารณา ย้ำ ต้องแยกให้ชัดระหว่างกระบวนการกับวิธีการ ขณะที่ กก.จริยธรรม เผย นักข่าว เข้าข่ายละเมิด ทั้งกฎหลักและข้อกำหนดของ 5 องค์กรวิชาชีพ ด้านนักวิชาการสรุป ปัจจุบันสื่อกระแสหลัก ถูกชี้นำจาก Influencer จนจุดยืนหายไป พร้อมตั้งถาม Gate Keeper หายไปไหน สื่อไทยไม่ต้องใช้แล้วหรือ
อนุสนธิจากการทำงานในพื้นที่ของ ‘นักข่าว’ กรณี ‘หลวงปู่แสง ญาณวโร’ อายุ 98 ปี 76 พรรษา ที่ปรากฏต่อสาธารณะว่า มีตั้งคำถามอย่างดุดันพร้อมกับกริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมนั้น แม้ว่าต้นสังกัดจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการออกประกาศให้ ‘นักข่าว’ รายนี้ พ้นสภาพจากการเป็นผู้สื่อข่าวไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงสื่อมวลชนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz อสมท. เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 จึงได้เชิญผู้มีประสบการณ์ทั้งจากแวดวงวิชาชีพ และวิชาการ เข้ามาร่วมพูดคุย ในประเด็น แนวปฏิบัติ: การรายงานข่าวของสื่อมืออาชีพ กรณีศึกษา ‘หลวงปู่แสง’ เพื่อหาทางออก หาทางป้องกัน และทบทวนภาระหน้าที่ตลอดจนการทำงานของ สื่อ สื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรสื่อ ได้แก่ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช ประธาน คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ นักวิชาการสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมพูดคุยในประเด็น แนวปฏิบัติ: การรายงานข่าวของสื่อมืออาชีพ กรณีศึกษา ‘หลวงปู่แสง’ กับ 2 ผู้ดำเนินรายการได้แก่ น.ส.จินตนา จันทร์ไพบูลย์ และนายณรงค สุทธิรักษ์ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมและแนวปฏิบัติตามมาตรฐานที่สื่อพึงมีต่อไป
โดยนายจักร์กฤษ ได้เริ่มต้นว่า กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทำนองนี้ แวดวงสื่อมวลชนได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด แต่ก็มีกรณีใหม่ ๆ เกิดขึ้นโดยตลอดเช่นกัน โดยทุกครั้งหลังเกิดเรื่อง ก็จะมีการสรุป มีการถอดบทเรียน มีการตั้งวงเสวนาเพื่อหาทางออก หลังจากนั้นก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก จึงถึงเวลาที่อาจจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการคิดเรื่องนี้ใหม่ และต้องมองทุกสิ่งให้รอบด้าน รวมทั้งต้องพิจารณาถึงเรื่อง ‘เรตติ้ง’ ที่ทุกคนมองว่า เป็น จำเลยที่ 1 และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหานี้
ส่วนกรณีการทำข่าว ‘หลวงปู่แสง’ นั้น นายจักร์กฤษ สรุปข้อสังเกตไว้ 2 ประการ ได้แก่ 1) เกิดจากการทำงานของผู้สื่อข่าวที่อาจจะไม่แม่นยำเรื่อง ‘มารยาทที่พึงมีกับแหล่งข่าว’ โดยเฉพาะ วิธีการถามแหล่งข่าว เนื่องจากสื่อมีหน้าที่ตั้งคำถาม แต่สื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องคาดคั้นและเค้นความจริงจากแหล่งข่าว ซึ่งต้องระมัดระวัง 2) การได้มาซึ่งข่าวโดยวิธีการที่ไม่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้ บุคคลภายนอกวงการสื่อมวลชนอาจจะเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่คนทำงานสื่อต้องตระหนักว่า วิธีการได้มาซึ่งข่าวโดยไม่สุจริต หรือการประกอบสร้างข่าวขึ้นมาโดยไม่มีมูลความจริง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่ทำให้เกิดเป็นข่าวขึ้น หรือที่ในอดีตเคยเรียกกันว่า ‘นั่งเทียนเขียนข่าว’ นั้น คนสื่อไม่มีสิทธิ์ทำ และหากนำการกระทำที่ว่านี้ไปเปรียบเทียบความผิดทางวินัยของสงฆ์ ก็น่าจะเป็น ‘อาบัติปราชิกในทางสื่อมวลชน’ ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป สำหรับความผิดในลักษณะนี้
“หากจะอ้างว่า การทำข่าว ‘หลวงปู่แสง’ เป็นการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน (Investigative) จึงต้องทำงานอย่างที่เห็นนั้น สั้น ๆ คือ ไม่ใช่ เพราะการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เป็นกระบวนการที่นักข่าวต้องเข้าถึงแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวบุคคล หรือแหล่งข่าวจากเอกสาร หรือแหล่งข่าวจากอะไรก็สุดแล้วแต่ และไม่ได้หมายความว่า การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน นักข่าวต้องตั้งคำถามแบบดุดัน หรือต้องกดดันแหล่งข่าว คือ ต้องแยกแยะ ระหว่างกระบวนการทำข่าว กับวิธีการทำข่าว ซึ่งการทำข่าวหลวงปู่แสงที่ได้เห็นจากคลิปที่มีการนำเสนอกันนั้น เป็นเรื่องของวิธีการทำข่าวของนักข่าวคนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำข่าวแบบปกติ (Routine) หรือ เป็นการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน บทบาทหรือมารยาทในการถามคำถามจากแหล่งข่าว คงต้องเหมือนกัน เพราะนักข่าวไม่ใช่ตำรวจ ที่จะต้องสอบสวนกดดันเพื่อหาความจริง ขณะที่แหล่งข่าว ก็ไม่ได้เป็นจำเลยของนักข่าว”
นายจักร์กฤษ ยังได้ตอบคำถามกรณีความห่างเหินระหว่างนักข่าวกับบรรณาธิการข่าว หรือนักข่าวกับกองบรรณาธิการในยุคดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักข่าวภาคสนามตัดสินใจผิดพลาด หรือทำงานข่าวในลักษณะที่เป็นการละเมิดจริยธรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำงานผิดพลาด เพราะสื่อกระแสหลักอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ ยังคงมีกองบรรณาธิการทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร เพียงแต่นักข่าวรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่ระบบ อาจจะไม่ได้ถูกพร่ำสอนในเรื่องของหลักการ หรือแนวปฏิบัติในการทำงานข่าว แต่กลับถูกปลูกฝังให้ทำงานตอบสนององค์กร โดยเฉพาะต้องทำข่าวที่สร้าง ‘เรตติ้ง’ และการปลูกฝังที่ว่านี้ น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่นำพานักข่าวไปสู่ความผิดพลาด ดังเช่นที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้
ทางด้านนายวีรศักดิ์ กล่าวว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรวิชาชีพหลัก ได้ทำการปรับปรุงแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันเกือบ 20 ฉบับ และครอบคลุมได้ค่อนข้างหลากหลาย เช่น แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศ แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน แนวปฏิบัติฯ การไปทำข่าวในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประกาศเรื่อง การลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีผลผูกพันต่อบุคลากรขององค์กรสมาชิก และองค์กรสมาชิก ของสภาการสื่อมวลชนฯ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทั้งสิ้น
ส่วนกรณีการทำข่าว ‘หลวงปู่แสง’ นั้น หากนำไปเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติของสภาการสื่อมวลชนฯ แล้ว พบว่า ‘เข้าองค์ประกอบ ‘ละเมิดแนวปฏิบัติ’ ว่าด้วยกรอบจริยธรรม ซึ่งอยู่ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนฯ พ.ศ. 2564 รวมทั้งยังละเมิด ‘แนวปฏิบัติว่า ด้วยการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว’ ที่ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (สถานะในขณะนั้น) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ลงนามร่วมกันในฐานะภาคี และมีผลใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติงานข่าว และองค์กรสมาชิกสื่อมวลชน ตั้งแต่ 24 พ.ค. 2559
“ประเด็นหลวงปู่แสง เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งพร้อมทีมงาน และทีมผู้สื่อข่าวไปทำข่าว แล้วปรากฏกริยาตามคลิปที่มีการเผยแพร่ โดยเฉพาะการตั้งคำถามหลวงปู่ฯ ซึ่งข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 หมวด 2 ข้อ 6 ระบุไว้ว่า ‘สื่อมวลชนต้องละเว้นการเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติ เป็นเหตุให้ข่าวนั้นบิดเบือน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในข่าวและความเข้าใจผิดในสังคม’ และเชื่อมโยงไปยังข้อ 13 ที่ระบุว่า ‘สื่อมวลชนต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแสดงข้อเท็จจริง เมื่อข่าวที่นำเสนอมีการพาดพิงอันอาจเกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือองค์กร หรือได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแล้ว’ อันนี้ค่อนข้างชัดเจน”
ส่วนแนวปฏิบัติที่ 5 องค์กรวิชาชีพลงนามร่วมกันไว้ เมื่อปี พ.ศ.2559 มาปรับใช้นั้น เข้าองค์ประกอบของการละเมิด ในหมวด 1 ว่าด้วยผู้ปฏิบัติงานข่าว ข้อ 1 คือ การทำข่าวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ที่ระบุไว้ใน (2) ว่า ‘ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการตั้งคำถามและการกระทำใด ๆ ในลักษณะชี้นำ กดดัน ซ้ำเติม หรือเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้ต้องสงสัยผู้ต้องหา และจำเลย’
ซึ่งวันนั้นได้มีการตั้งประเด็นกล่าวหาว่า ‘หลวงปู่แสง’ กระทำล่วงละเมิดที่เป็นการปราชิก ซึ่งต้องถือว่า คำถามที่นักข่าวถามนั้น เป็นคำถามที่กล่าวหา ‘หลวงปู่แสง’ ว่า กระทำความผิดอาญา
นายวีรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เรื่องราวในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ไม่รุนแรงเหมือนในครั้งนี้ ที่ชัดเจนก็คือ กรณี ตำรวจนำตัวผู้ต้องสงสัยออกมาแถลงข่าว หรือผู้ต้องหาเข้ามอบตัว นักข่าวก็มักจะตั้งคำถามเสมือนว่า ตัวเองเป็นพนักงานสอบสวน ส่วนประเด็น ‘หลวงปู่แสง’ นั้น การตั้งคำถาม ตลอดจนการเยาะเย้ยถากถางของนักข่าว หรือผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้สื่อข่าว ของทีมงานในลักษณะของ ยูทูปเบอร์ ที่บันทึกภาพเพื่อนำไปเสนอนั้น กริยาต่าง ๆ จึงเข้าลักษณะ
นอกจากนี้จากพฤติกรรมที่เข้าไปหาหลวงปู่แสงในวันนั้น นอกจากจะเป็นการละเมิดทางจริยธรรมแล้ว จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่ ก็เป็นประเด็นให้ต้องพิจารณาอีกด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า จริยธรรมเริ่มต้นของสื่อคือ ความเป็นกลาง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นของจริยธรรมสื่อ เช่น เป็นกลางในกระบวนการทำหน้าที่ และเป็นกลางในกระบวนการหาข้อมูลข่าวสาร แต่การตั้งคำถามของนักข่าวกรณี ‘หลวงปู่แสง’ ไม่ใช่คำถามที่เป็นกลาง เนื่องจากวิธีการตั้งคำถาม หรือท่าทีที่คุกคาม สะท้อนว่า การทำข่าว ‘หลวงปู่แสง’ เริ่มต้นจากความไม่เป็นกลาง
ทั้งนี้ ในฐานะนักวิชาการสื่อ ได้พบปรากฏการณ์จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักวิชาชีพ และเป็นการกระตุ้นเตือน หรือเขย่าวงการสื่อฯ ไทย 3 ประการ ได้แก่ 1) กระบวนการหาข่าวของ ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก แต่กลับถูกชี้นำจาก Influencer กระทั่งขาดจุดยืนของความเป็นนักวิชาชีพ 2) การเข้าถึงข้อมูล การหาข้อมูล รวมทั้งการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ ‘ล่อซื้อ’ และได้นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาข้อเท็จจริง ทั้งที่นักข่าวควรจะอยู่ในจุดสังเกตการณ์นั้น เกิดอะไรขึ้น และ 3) กระบวนการกลั่นกรองข้อมูลก่อนนำออกเผยแพร่สู่สังคมในเชิงวิชาการ ที่เรียกว่า Gate Keeper ซึ่งเป็นลำดับขั้นที่สูงกว่านักข่าว เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนนำออกเผยแพร่สู่สังคม ไม่ว่าสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ควรจะต้องมีนั้น ไม่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว ใช่หรือไม่
“เรื่องของ Gate Keeper เป็นสิ่งที่นักวิชาการตั้งคำถามมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะสิ่งที่นำมาสอนลูกศิษย์ ถูกนำมาจากภาคของวิชาชีพ แต่ช่วงหลัง ๆ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่แน่ใจว่า กระบวนการ Gate Keeper ยังมีอยู่หรือไม่ และตรงนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนพอสมควร สั่นสะเทือนทั้งในกลุ่มนักวิชาการและนักวิชาชีพ แม้เราจะอ้างถึงความรวดเร็ว อ้างการการแข่งขัน อ้างถึงการแย่งชิงทางการตลาด (ซึ่งอ้างกันมานานแล้ว) ซึ่งเราก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่แม้ว่า จะเลี่ยงไม่ได้ การทำงานข่าวในฐานะมืออาชีพก็ยังต้องมีมาตรฐาน เพราะมาตรฐานแฝงไปด้วย ฝีมือ จุดยืน อุดมการณ์ และความรับผิดชอบต่อสังคม”
ผศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวต่อไปว่า การทำหน้าที่เป็น Watch dog หรือ สุนัขเฝ้าบ้านนั้น ไม่ว่า จะเฝ้าสถาบันการเมือง หรือเฝ้าสถาบันศาสนา หรือเฝ้าอะไรก็ตาม ทุกคนในสังคมมีสิทธิทำ รวมทั้งสื่อมวลชน นอกจากนี้ การที่ใครก็ตามจะไปร่วมมือกับองค์กรอื่น เพื่อเฝ้าระวัง หรือเพื่อตรวจสอบ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เพียงแต่ถ้าเป็นนักข่าวซึ่งอยู่ในฐานะมืออาชีพ จะเข้าไปร่วมมือในลักษณะที่ว่า ก็จะต้องทำในระดับ Advance คือ ต้องตรวจสอบให้รอบด้าน และต้องยึดหลักความเป็นกลาง แต่หากนักข่าวในฐานะมืออาชีพ ไม่ทำ นักข่าวก็จะถูกจัดไปอยู่รวมกับผู้ที่มีสมาร์ทโฟน (ไม่ใช่ผู้ที่มีอาชีพสื่อ) และศรัทธาของผู้คนในสังคมที่มีต่อสื่อมืออาชีพก็จะหายไป ดังนั้นจึงต้องช่วยกันตอกย้ำในเรื่องจรรยายรรณ โดยเฉพาะต้องตอกย้ำให้กับนักข่าวภาคสนาม รวมทั้งการสร้างเสริมประสบการณ์เพื่อให้สามารถรักษาจุดยืนของตัวเองไว้ และเพื่อไม่ให้ถูกโน้มน้าวจากแหล่งข่าว หรือองค์กรอื่นทำอะไรในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร