เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊ค “ซองขาว” ให้แง่คิด “นักข่าวนอกแถว” แม้เวลาเปลี่ยนไป แต่ผลประโยชน์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ชี้ สิ่งที่ได้ มูลค่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการ ด้านกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ยัน “จริยธรรม” สมาชิกยัง “ตึงเป๊ะ” พร้อมเตือนอย่าทำแค่ส่งสาร แต่ต้องแสวงหาความจริงมานำเสนอ ด้านนักวิชาการ แนะยกระดับฐานะนักข่าวภูธร เพื่อแก้ปัญหา เริ่มด้วยการสร้างความภาคภูมิใจ ไปจนถึงเพิ่มรายได้ มั่นใจปัญหาลดลง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “ปฏิเสธ คือทางเลือกที่รอดได้ของคนข่าว” โดยมี นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สื่อมวลชนอาวุโส ผู้เขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค เรื่อง “ซองขาว” นายสมชาย หอมลออ กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมพูดคุยในรายการ กับ นายวิชัย วรธานีวงศ์ และนายณรงค สุทธิรักษ์
ทั้งนี้ จากกรณีที่ “อดีตพระกาโตะ” กล่าวอ้างว่า ได้มีการมอบเงินจำนวน 300,000 บาท ให้กับคนกลาง เพื่อนำไปให้นักข่าวในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นค่า “ปิดข่าว เสพเมถุน กับ สีกาตอง” นั้น แม้ว่าตัวแทนสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช จะได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างในเกือบจะทันที พร้อมแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับอดีตพระกาโตะ ในข้อหาหมิ่นประมาทไปแล้วก็ตาม
แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคในยุคนี้ จริยธรรมที่เข้มข้นของสื่อฯ ควรต้องเป็นอย่างไร จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ โอกาสของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ต่อการที่สื่อจะยอมละทิ้งจริยธรรมแล้วหันไปยึดถือผลประโยชน์จากอาชีพนี้ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดนั้น ควรมีทางออกอย่างไร ที่สำคัญคือ สื่อฯ ต้องทำงานแบบไหน จึงจะหลุดพ้นจากวังวนของข้อครหาในเรื่องอามิตสินจ้างได้
โดยนายบุญเลิศ เริ่มต้นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักข่าวมีหน้าที่ ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้คนในวงการต่างๆ เสมือนว่า อยู่ในสายเลือดของผู้คนเหล่านั้น เนื่องจากต้องทำข่าวและต้องรายงานให้สังคมได้รับรู้ ขณะที่ผู้ที่เป็นข่าว เช่นนักการเมือง หรือนักธุรกิจ ก็ต้องการให้เรื่องราวของตัวเองถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ต้องการให้ประชาชนรู้จักตัวตน ต้องการให้ผู้บริโภครู้จักสินค้า รู้จักธุรกิจของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งดารา ก็ต้องการให้ประชาชนรู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งสังคมไทยมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้น ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานแค่ไหน นักข่าวก็ยังต้องวนเวียนและข้อแวะอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ จึงต้องขึ้นอยู่กับว่า ใคร(นักข่าว) จะใจแข็งได้มากกกว่ากัน
“การให้เงินนักข่าวเพื่อปกปิดเรื่องที่ไม่ดีนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าต้องการเป็นข่าว ผู้ที่ต้องการให้ข่าวของตัวเองออกไป ก็ต้องการใกล้ชิดกับนักข่าว ดูแลกันอย่างดี ไม่ต้องเสียเงินซื้อโฆษณา นักข่าวก็พึงพอใจ และการดูแลซึ่งกันและกัน ก็เป็นธรรมเนียมไทย ยิ่งถ้าเป็นนักข่าวที่จะมาทำข่าวในเชิงบวกให้ ก็ยิ่งต้องดูแลกันเป็นพิเศษ พาไปเลี้ยงข้าว พาไปดื่มโน่นกินนี่ พาไปเที่ยวในประเทศบ้าง ต่างประเทศบ้าง นักข่าวก็ขอให้ทำโน่นทำนี่ให้บ้าง ก็แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งแหล่งข่าวอาจจะไม่รู้ว่า ไม่ควรทำ แต่คนข่าวต้องรู้ว่า เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และต้องพึงละเว้น แต่หากมองลึกลงไปแล้ว จะเห็นว่า ประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักข่าวได้รับในลักษณะนี้ ถ้าคิดออกมาเป็นตัวเงินแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นมูลค่าที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการเรียกรับเงิน หรือการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการบางคนบางกลุ่ม สังคมจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งนักข่าวที่ละเมิดจริยธรรม และการทุกจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ”
นายบุญเลิศ ยังได้กล่าวถึงมาตรการป้องกัน ไม่ให้นักข่าวไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ในรูปแบบที่สามารถจับต้องได้คือ ทำให้สื่อมวลชนอยู่ในแถว หมายถึง สื่อมวลชนต้องคอยสอดส่องดูแลกันเอง นักข่าวภาคสนามก็ต้องช่วยกันระวัง ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไก เช่น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ปัจจุบันมีการกำกับดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก สังคมก็ต้องช่วยกันสอดส่องแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่ก็ต้องทำ
ส่วนคำถามที่ว่า สภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรือองค์กรสื่อ ควรออกกฎเกณฑ์ในการรับของขวัญของกำนัลของสื่อฯ เฉกเช่น เดียวกับข้อกำหนดให้นักการเมือง ข้าราชการ และองค์กรอิสระ รับได้ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาในภาพรวมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การรับผลประโยชน์อื่นใดของนักข่าว นอกเหนือจากสิ่งที่ควรจะได้รับจากองค์กรที่ตัวเองสังกัดแล้วนั้น ถือว่า เป็นของร้อน เป็นบาป และเป็นการละเมิดสำนึกที่ดีงามต่อวิชาชีพของตัวเอง
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า แม้จะไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร “อดีตพระกาโตะ” แต่ก็ได้ยินจากการรายงานของสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อเป็นจำนวนมาก และเน้นรายงานในประเด็นที่เหมือนกัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลทำให้สื่อด้วยกันเองปวดหัวแล้ว ประชาชนก็ยังปวดหัวจากความหลากหลายของเนื้อหาที่สื่อพยายามนำเสนอ แต่ไม่ว่าจำนวนสื่อจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน และวิธีการสื่อสารจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ ก็ยังคงยึดหลักจริยธรรมในการทำงาน เนื่องจากสื่อมีบทบาทในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตลอดจนการแสดงความคิดเป็นของประชาชน สื่อจึงต้องทำหน้าที่ในกรอบจริยธรรมที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องนำความจริงมานำเสนอด้วย
“หากมีการละเมิดความจริง หรือบิดเบือนความจริง ก็เท่ากับละเมิดสิทธิของประชาชน และหากประชาชนนำข้อมูลที่บิดเบือน หรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไปสื่อสารต่อ ก็จะกลายเป็นผลเสีย เช่น ในบางประเทศเกิดสงครามกลางเมืองจากการได้รับข้อมูลเท็จทุกวัน แม้แต่สื่อวิทยุเอง ก็เคยทำให้เกิดการจลาจลมาแล้ว ดังนั้นบทบาทของสื่อคือ ต้องหาความความจริงมานำเสนอ และไม่ใช่เพียงแค่รับข้อมูลข่าวสารมาแล้วเผยแพร่ต่อเท่านั้น แต่ต้องค้นหาความจริงด้วย”
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนมีหลากหลายและมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นทางจริยธรรมในยุคยากลำบากของสื่อ จึงมีความเป็นไปได้ที่บางสื่ออาจจะละเลยหลักจริยธรรม หรือไม่สนใจในความเป็นมืออาชีพ แต่สภาการสื่อมวลชนฯ ก็พยายามสร้างหลักจริยธรรมขึ้นมาดูแลกันเอง และขอย้ำว่า ในแง่ของความเป็นมืออาชีพนั้น กรอบของจริยธรรม ของสื่อฯ ในกลุ่มที่เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนฯ ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง พร้อมกับพยายามเผยแพร่หลักจริยรรมของสื่อมวลชน ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่า สื่อมวลชนควรจะต้องทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ประชาชนก็สามารถที่จะเลือกเสพ เลือกรับ และเลือกวิพากษ์วิจารณ์ได้
ขณะที่ ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวถึงกรณีที่สื่อถูกกล่าวหาว่ารับเงินเพื่อปิดข่าวว่า ลักษณะของผู้เสนออามิตสินจ้างให้กับนักข่าว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่จ่ายเพื่อต้องการเป็นข่าว กับกลุ่มที่จ่ายเพื่อไม่ต้องการให้มีข่าวหรือปิดข่าว แต่สำหรับสังคมไทยนั้น การจ่ายเพื่อไม่ให้มีข่าวหรือปิดข่าว ไม่ค่อยมีให้เห็น ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศที่มักจะมีการจ่ายในลักษณะนี้ แต่สภาการสื่อมวลชนฯ ก็ได้ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนฯ เพื่อป้องกันและย้ำเตือนเอาไว้แล้วคือ “การละเว้นอามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน” ตั้งแต่ ข้อ 25 – 27*
ขณะที่ สื่อมวลชนไทย ก็ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) สื่อมวลชน ส่วนกลาง (กทม.) หรือนักข่าวส่วนกลาง กับ 2)สื่อภูมิภาค(สื่อท้องถิ่น) หรือ นักข่าวท้องถิ่น ซึ่งในกลุ่มนี้ ก็แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ก) คือ กลุ่มที่เป็นเจ้าของสื่อท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าของธุรกิจในท้องถิ่น หรือรับราชการอยู่ในท้องถิ่น และเป็น “สตริงเกอร์” ให้กับสื่อในส่วนกลาง กับ กลุ่ม ข) คือ กลุ่มที่มีอาชีพเป็น “นักข่าว” จริง ๆ โดยเป็น นักข่าวที่สังกัดอยู่กับสื่อท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับเป็น “สตริงเกอร์” ให้กับสื่อในส่วนกลาง รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพเป็น “สตริงเกอร์” ให้กับสื่อส่วนกลางโดยไม่มีงานหลักอย่างอื่น ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีวิธีการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน คือ นักข่าวที่ทำงานในส่วนกลาง จะมีเงินเดือนมีสวัสดิการ มีชีวิตความเป้นอยู่ที่ดี ส่วนสื่อในภูมิภาค หรือ สตริงเกอร์ ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่จะได้เป็นชิ้นงาน หรือนักข่าวที่ทำงานอยู่กับสื่อท้องถิ่น ก็จะได้รับเงินเดือนไม่สูงเท่ากับนักข่าวที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร
“เมื่อเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็จะสามารถแก้ปัญหาการรับอามิตสินจ้างได้(ในระดับหนึ่ง) คือ จะต้องหาทางให้นักข่าวภูมิภาคมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หาทางให้มีรายได้ที่เพียงพอในการดูแลตัวเองและครอบครัว หาทางให้เกิดภาคภูมิใจในความเป็นคนสื่อหรือเป็นนักข่าว ซึ่งเมื่อเกิดความมั่นใจว่า เป็นสื่อ หรือเป็นนักข่าวแบบเต็มภาคภูมิแล้ว การปฏิบัติตามกรอบและจริยธรรมที่แม้จะไม่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่ก็จะนำไปสู่สำนึกและความรับผิดชอบในการเป็นสื่อได้ในที่สุด ส่วนการเริ่มต้นนั้น ก็คงจะต้องเริ่มด้วยการรับรองตัวตนของนักข่าวเหล่านี้ จากสภาการสื่อมวลชนฯ ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งแม้ว่า จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และเคยมีการพิจารณากันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ควรหยิบยกขึ้นมาทบทวนและหารือกันอีกครั้ง”
ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2546 หมวด 3 หลักกระบวนการทำงาน : การละเว้นอามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน
ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือผล ประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่ชอบธรรม
ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง รอบด้าน
ข้อ 27 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงละเว้นการรับอภิสิทธิ์ หรือตำแหน่ง เพื่อให้กระทำการหรือไม่ กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน