วงเสวนามองสื่อมุ่งตามคดี‘แตงโม’จนละเลยข่าวอื่นที่สำคัญในเวลาเดียวกัน แนะรักษาสมดุล‘เรตติ้ง-คุณภาพ’
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนาออนไลน์ Media Forum ครั้งที่ 15 เรื่อง “ปรากฏการณ์ข่าวคุณแตงโม สะท้อนการทำหน้าที่สื่ออย่างไร” โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า การเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม นักแสดงชื่อดัง ในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ในมุมการทำงานของสื่อมวลชน พบความน่าสนใจ เช่น มีการใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพเรือที่แตงโมกับคนอื่นๆ ใช้ในวันเกิดเหตุ โดยมีกล้องวงจรปิดหลายจุดจับภาพได้ ซึ่งก็นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าเรื่องใดจริง-ไม่จริง
ขณะเดียวกัน ข่าวการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา มีการตั้งข้อสังเกตว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นำหน้าสื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนที่เป็นผู้ตามก็ทำหน้าที่ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ นำมาสู่คำถามที่ว่าสื่อได้ทำหน้าที่ของตนเองมาก-น้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีคำถามอีกว่า ครั้งนี้สื่อได้ละเมิดผู้ตกเป็นข่าวหรือไม่ ซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เคยวางแนวปฏิบัติไว้
“เราพบว่าในส่วนของสื่อที่เป็นสื่อหลักๆ โดยเฉพาะสื่อที่เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ทำหน้าที่กันอยู่ในกรอบพอสมควร อาจจะมีหลุดรอดไปบ้างก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่โดยส่วนใหญ่ก็ถือว่าสื่อหลักๆ ก็ยังทำหน้าที่อยู่ในกรอบจริยธรรม อยู่ในกรอบของแนวปฏิบัติที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรวิชาชีพอื่นได้ทำขึ้นไว้เมื่อหลายปีก่อน” นายชวรงค์ กล่าว
จากนั้นเป็นช่วงการเสวนา โดย น.ส.โสภิต หวังวิวัฒนา คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงผลการศึกษาของ Media Alert ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำรวจในวันที่ 11 13 และ 15 มี.ค. 2565 จากสถานีโทรทัศน์ 4 ช่อง ทั้งที่เป็นช่องดั้งเดิม และช่องที่เกิดขึ้นใหม่ในระบบทีวีดิจิทัล ประกอบด้วย ข่าวภาคค่ำช่องไทยพีบีเอส ไทยรัฐนิวส์โชว์ช่องไทยรัฐทีวี ทุบโต๊ะข่าวช่องอมรินทร์ทีวี และข่าวแหกโค้งช่องจีเอ็มเอ็ม25
“ที่น่าสนใจก็คือว่า สัดส่วนของข่าวคุณแตงโม คือเกือบ 60% คือ 59.02% ของพื้นที่ข่าวทั้งหมดในช่วงเวลาที่ศึกษา แล้วก็ค้นพบว่าในหลายประเด็นข่าวที่สังคมควรจะรู้มันแทนที่ด้วยข่าวของคุณแตงโมในทุกมิติอย่างครอบคลุม ก็ทำให้ข่าวบางข่าวที่สังคมควรรู้มันก็หล่นหายไป ก็เป็นข้อสังเกตที่ถูกตั้งขึ้นมา นำมาสู่เรื่องของข้อจำกัดของเวลาและพื้นที่ (Time & Space) ข่าวที่มันจำกัด 1 ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง พื้นที่ข่าวหนังสือพิมพ์ 1 หน้า ครึ่งหน้า หรืออะไรก็ตาม มันมีอยู่แค่นี้ ให้อะไรมากไป บางส่วนที่ควรจะมีก็หายไปหรือน้อยลง” น.ส.โสภิต ระบุ
นายนพปฏล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เช่น คดีน้องชมพู่กับลุงพล พบว่า คดีแตงโมนั้นสื่อทำหน้าที่อยู่ในกรอบมากขึ้น ด้านหนึ่งอาจมาจากพัฒนาการของสื่อเอง เช่น เข้าใจบทบาทหน้าที่ เข้าใจสิทธิส่วนบุคคล และจะยิ่งเห็นว่าสื่อทำหน้าที่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน หากย้อนไปเทียบกับข่าวการป่วยและเสียชีวิตของ นายทฤษฎี สหวงษ์ หรือปอ นักแสดงหนุ่มชื่อดังเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในเวลานั้นการทำงานของสื่อถูกตำหนิอย่างมาก
สำหรับคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา หรือแตงโม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่มีข้อสรุป สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบบุคคลที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ในที่นี้คือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของตำรวจในคดีนี้ไม่ได้สร้างความชัดเจนให้สังคมยอมรับว่าสิ่งที่ตำรวจนำเสนอมาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน กลายเป็นสื่อต้องตรวจสอบเรื่องนี้มากขึ้น
อีกด้านหนึ่ง ในสื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอภาพจากกล้องวงจรปิดบ้าง หรือมีบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือออกมาให้ความเห็นบ้าง ข้อมูลเหล่านี้ทางตำรวจอาจทำการตรวจสอบเช่นกัน แต่เมื่อไม่เป็นที่เปิดเผยกับสื่อ ทำให้สื่อก็ต้องไปไล่ตามหาข้อมูลในส่วนนี้เอง เช่น บุคคลที่สาม ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องแต่อ้างว่ารู้ข้อมูล คนกลุ่มนี้กลายเป็นอีกฝ่ายที่สื่อต้องตรวจสอบ นอกเหนือจากกลุ่มหลักเดิมคือตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เสียหาย จนบางครั้งกลายเป็นการตรวจสอบสื่อด้วยกันผ่านสื่อ จากเดิมที่จะเป็นการพูดคุยกันภายในระหว่างคนทำงานสื่อด้วยกัน
ส่วนในประเด็นการหยิบยกข้อมูลที่เผยแพร่กันทางสื่อสังคมออนไลน์มานำเสนอข่าว พบว่า มีสื่อบางแห่งที่หยิบยกมานำเสนอทั้งหมดทันที ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการเรียกยอดผู้เข้าชมสื่อของตนเอง โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไป เช่น ผู้โพสต์เนื้อหานั้นเป็นใคร เชื่อถือได้มาก-น้อยเพียงใด แต่อีกด้านหนึ่ง การสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง คือตำรวจ ว่าด้วยข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน
“ตำรวจด้วยความที่เขาอาจจะมีกรอบในการทำงานที่ค่อนข้างที่จะตึง แล้วก็ไม่ได้ให้คำตอบกับเราที่ชัดเจนว่าเรื่องนี้ตำรวจดูอยู่นะ วงจรปิดที่เจอในปั๊มน้ำมัน 4-5 คนที่ไปจอดรถคุยกันคุณได้แล้วหรือยัง เรียกเขามาสอบแล้วหรือยัง เขาว่าอย่างไรบ้าง ก็จะถูกรวบด้วยคำว่าทุกอย่างอยู่ในสำนวน แต่ในความเป็นจริง เราต้องการข้อเท็จจริงว่าหลังเกิดเหตุทำไมคุณไม่รออยู่ในที่เกิดเหตุ ทำไมคุณถึงไปรวมตัวกันที่อื่น ทำไมถึงไปโน่นนี่นั่น
ทำให้มีความน่าสงสัยมากขึ้น ตำรวจไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าคนที่ 1 2 3 4 5 ให้การว่าอย่างนี้..จบ แต่พอไม่มีก็เกิดข้อสงสัย ตรงนี้มานั่งจับผิดของแต่ละคน คนที่ 1 2 3 ว่าอย่างไร เพราะตัวละคร 5 คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ทุกคนมีพื้นที่ มีการพูดคุยในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน” นายนพปฏล กล่าว
นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการสำนักข่าว The Matter ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข่าวการเสียชีวิตของแตงโมไว้ว่า เหตุที่สังคมให้ความสนใจเพราะ 1.สังคมไทยไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการทำงานของตำรวจ ซึ่งพบปัญหาการทำสำนวนตั้งแต่คืนแรกที่เกิดขึ้น นำมาสู่การถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง 2.เป็นเรื่องของบุคคลที่มีชื่อเสียง แม้ น.ส.ภัทรธิดา หรือแตงโม จะอยู่ในวงการบันเทิงมานาน แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังรู้จัก
3.เป็นคดีที่มีเงื่อนงำ คนที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ละคนพูดไม่ตรงกันและข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และ 4.สังคมไทยยังเชื่อว่าคนรวยหรือมีฐานะสูงในสังคมต่อให้มีคดีความก็จะหลุดรอดในที่สุด เช่น คำกล่าวที่ว่าคุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนเท่านั้น องค์ประกอบทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านเรตติ้งของรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ที่ทยอยนำผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ไปสัมภาษณ์ วันแรกยอดคนดูทะลุหลักล้าน และวันต่อๆ มาก็ยังเกาะอยู่ระดับหลักแสน สำหรับคนทำงานสื่อแล้ว ข่าวแตงโมจึงเป็นข่าวที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำเสนอได้
ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อคือแล้วจะนำเสนออย่างไร ซึ่งตนเชื่อว่าคนทำงานสื่อจะคิดกันอยู่ระหว่างการนำเสนอข่าวที่สังคมอยากรู้ กับข่าวที่อยากให้สังคมรู้ และอย่างหลังก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าสื่อแต่ละสำนักได้ทำมาก-น้อยเพียงใดและอย่างไร เช่น การที่นำเสนอความเห็นของหมอดู หรือความเห็นของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือคลิปวีดีโอที่เกิดอะไรขึ้นที่ไหนก็ไม่รู้ ก็น่าคิดว่าสื่ออยากให้สังคมรู้สิ่งเหล่านี้จริงหรือ คนทำงานสื่ออาจจะรู้อยู่ในใจว่าไม่มีประเด็น แต่ก็ต่อข่าวไปเรื่อยๆ จนกลบข่าวอื่นที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
เช่น ข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือชาวม็อบชาวนาซึ่งมาปักหลักชุมนุมข้างกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรณีม็อบชาวนา เห็นได้ชัดว่ามีแรงกดดันจากผู้รับสารที่ใช้สื่อออนไลน์ ทำให้สำนักข่าวที่ใช้พื้นที่ออนไลน์จำนวนมากต้องไปรายงานข่าวม็อบชาวนา ติดตามว่าเมื่อไรปัญหาจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตั้งคำถามว่าเหตุใดความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้ผู้เกี่ยวข้องจึงไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีแม้แต่จะลงพื้นที่ไปเจรจากับผุ้ชุมนุม คนทำสื่อจึงต้องมีสมดุลระหว่างการนำเสนอข่าวที่สังคมอยากรู้ และข่าวที่สังคมน่าจะได้รู้ แต่สังคมเองก็ต้องเรียกร้องต่อสื่อด้วย
“สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ เอาไปให้คนในกอง คิดว่าข่าวนี้เราจะต้องเล่นในเชิงคุณภาพ ไม่เอาในเชิงปริมาณอย่างเดียว ก็คือกระแสจากผู้อ่าน Feedback จาก Social Media ซึ่งตอนนี้มัน Approach ง่ายมาก คุณคุยมาหลังไมค์ก็ได้ อันนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งทำให้คนข่าวตัวเล็กๆ ไม่ต้องคำนึงถึงยอดขนาดนั้น คำนึงถึงรายได้ขนาดนั้น เอาไปต่อรองในกอง บก. ได้ ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ ระหว่างที่ทุกคนสนใจข่าวแตงโม มันมีม็อบชาวนามานอนอยู่ข้างกระทรวงนี้นะ ทำไมเราไม่เล่น เกิดแฮชแท็กขึ้นเป็นหลักแสน
นี่คนสนใจเป็นหลักแสนเลย ทำไมเราไม่เล่นข่าวนี้ ต่อให้เรารู้สึกว่าข่าวนี้ยอดมันจะไม่มีทางดีเท่าข่าวคุณแตงโมเองก็ตาม มันจะมีอะไรที่เป็นหลังพิงในการไปคุยว่าต้อง Balance ผมเชื่อว่าทุกองค์กรสื่อไม่มีทางทำข่าว 100% เอาเฉพาะข่าวคุณภาพอย่างเดียวได้ มันดูเหมือนไม่แคร์คนอ่านขนาดนั้น พอคนอ่านอยากรู้อันนี้เราจะไม่ทำ Serve เขาหรือ เราจะทำเฉพาะสิ่งที่อยากให้คนอ่านรู้อย่างเดียว 100% ไม่มีทางเป็นไปได้ อยู่ที่มันจะ Balance กันมาก-น้อยแค่ไหน” นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าว
นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง บรรณาธิการที่ปรึกษา Modernist/ ส่องสื่อ กล่าวว่า จากการสังเกตการนำเสนอข่าวทางสถานีโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่มีผู้นิยมติดตามกันมาก หรือ Prime Time พบจำนวนมากนำเสนอประเด็นความเชื่อ เช่น หมอดู หรือการนำข้อมูลจากโลกออนไลน์มานำเสนอในเชิงสืบสวนสอบสวนแต่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อมีสื่อสำนักหนึ่งทำแล้วสื่อสำนักอื่นๆ ก็ทำบ้าง ในมุมอุตสาหกรรมนั้นไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว แต่ก็มีคำถามว่าสื่อนำเสนอแบบนี้เพื่อให้คนดูได้รู้อะไร และไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้
สำหรับปรากฏการณ์ข่าวการเสียชีวิตของแตงโม ทำให้มีการไปรวมตัวกันทำข่าวที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ รวมถึงท่าเรือที่เป็นจุดพบศพ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เนื่องจากประเด็นนี้ได้รับความสนใจยิ่งกว่าอีกหลายข่าว เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข่าวม็อบชาวนา ซึ่งที่ผ่านมา สังคมไทยก็ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วในหลายเรื่อง กลายเป็นจุดด่างพร้อยว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้
อีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ตราบใดที่ธุรกิจสื่อต้องขึ้นอยู่กับเรตติ้งหรือจำนวนผู้ติดตามซึ่งมีผลกับการขาย เรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ การเสนอข่าวที่สังคมอยากรู้จึงจำเป็นต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้ประเด็นดูลึกขึ้น หรือพยายามหาทางออกของปัญหาในเชิงการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือการต่อยอดประเด็น อาทิ ไปคุยกับตำรรวจหรือผู้เสียหายในคดีอื่นๆ ว่าเหตุใดกระบวนการยุติธรรมจึงไม่น่าเชื่อถือ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ตำรวจสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง หรือกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นมากขึ้น
“ประเด็นของแตงโม-นิดา หรือภัทรธิดา เราสามารถเล่นประเด็นอื่นได้มากกว่าคดี เราสามารถเจาะลึกไปได้ไหมว่าในส่วนของคดีรายทางเป็นอย่างไรบ้าง แล้วมันทำอย่างไรต่อได้บ้าง ทำประเด็นอื่นที่ไปเชื่อมโยงกับคดีโดยที่คดีไม่ได้เสียหาย ตัวคนรับสื่อก็ไม่รู้สึกว่าตัวเราเป็นศาลเตี้ย เพราะตอนนี้สื่อหลายๆ เจ้า คนบางคนรู้สึกว่าอันนี้ไม่ได้น่าดูจริงๆ เพราะว่าเขาอาจจะดูตัดสินไปก่อนหรือเปล่า โดยเฉพาะมันจะมีเจ้าหนึ่งพยายามตัดสินเรื่อยๆ อยู่พอสมควร หรือการเอาแขกรับเชิญมาพูดในรายการ คำถามคือมันเป็นทางออกที่ดีแล้วจริงหรือ
คำแนะนำคือการต่อยอดเนื้อหาให้มันลงลึกมากขึ้น แต่ลงลึกในที่นี้ไม่ใช่ตัวของปัญหาแค่นั้น สร้างความหวือหวาแค่นั้น คุณต้องสร้าง Solution Journalist หรือสร้างความลึกของตัวของประเด็นเพื่อที่จะหาทางออกในตัวของประเด็นนี้ว่าสรุปสุดท้ายแล้ว ประเด็นคุณแตงโม-นิดา คนไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมเพราะอะไรกันแน่ คนไม่เชื่อเพราะสื่อบางรายที่ทำไว้หรือเปล่า เขาไปตัดสิน เขาไปเป็นศาลเตี้ยหรือเปล่า หรือเพราะกระบวนการยุติธรรมมันไม่น่าเชื่อถือจริงๆ” นายกฤตนัน กล่าว
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์ทำให้สื่อมวลชนทำงานหนักขึ้น แต่สิ่งที่พบคือการทำงานของสื่อไปเน้นที่รูปแบบการนำเสนอ มากกว่าเนื้อหาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น จากรายงานที่ระบุว่าแตงโมตกจากเรือขณะไปปัสสาวะบริเวณท้ายเรือ นำไปสู่การนำเสนอแบบสาธิตหรือจำลองเหตุการณ์ ว่าต้องไปนั่งปัสสาวะท้ายเรืออย่างไร เรือแล่นด้วยความเร็วเท่าใด
คำถามคือสิ่งที่สาธิตเพื่อนำเสนอนั้นอยู่บนข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพียงใด เพราะผู้สื่อข่าวก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น แต่ก็พบการรายงานข่าวแบบสาธิตกันมาก อีกทั้งองค์กรสื่อนั้นยังนำไปโปรโมทกันใหญ่โตว่าผู้สื่อข่าวในสังกัดได้สาธิตให้เห็นอย่างไร ขณะเดียวกัน คดีนี้ยังพบการรายงานข่าวแบบรายงานสดจำนวนมาก ซึ่งแม้ผู้สื่อข่าวจะมีทักษะในการรายงาน แต่ยังขาดการทำการบ้าน หรือการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ตนเองต้องมารายงานสด ณ จุดนั้นด้วย ในทางกลับกัน ข้อมูลต่างๆ ไปปรากฏมากในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็มีคำถามเรื่องความถูกต้องอีก
นอกจากนี้ การที่สื่อมวลชนไปนำข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มานำเสนอโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ต้องระมัดระวังปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation-IO) ซึ่งมีการจัดการบางอย่างที่ส่งผลต่อรูปคดี ที่น่าสังเกตคือ ในช่วงแรกสื่อมวลชนดูเหมือนจะสนใจประเด็นกระบวนการยุติธรรม แต่ต่อมาก็ปล่อยไป จึงเห็นความไม่กล้าหาญของสื่อที่ไม่ขยายประเด็นในส่วนนี้ เช่น การที่ต้องชันสูตรศพซ้ำรอบที่ 2 หากเป็นในต่างประเทศ กระบวนการยุติธรรมต้องถูกตั้งคำถามแล้ว ซึ่งการไม่ขยายประเด็นก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก
“สื่อต้องทบทวนแล้ว อย่างงานวิจัยของตัวเองที่ออกมาล่าสุด คนที่เป็นผู้เสพข่าวหรือแม้แต่แหล่งข่าว เขาไม่สนใจแล้วนะว่าเวลาเขาเสพข่าว ข่าวนั้นมาจากสื่อวิชาชีพหรือไม่ เขาสนใจแต่ว่าข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์สำหรับเขาในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตเขา ต่อการดำเนินชีวิตของเขา มันจะเกิดคำถามต่อมาว่าแล้วคุณจะแตกต่างอะไร ในเมื่อคุณพยายาม Claim ว่าเป็นสื่อวิชาชีพ Professional แล้วคุณจะแตกต่างอย่างไร” ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว
ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข่าวการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา หรือแตงโม คำสำคัญคำหนึ่งที่พบคือคำว่ายุติธรรม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการที่สังคมไม่ศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจกับปัญหานี้และเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ความสนใจดังกล่าวต้องมาพร้อมกับการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย หมายถึงท่าทีการรายงานข่าว เพราะการเรียกร้องความยุติธรรมไม่อาจทำด้วยท่าทีชี้นำหรือปรักปรำได้ ซึ่งหัวใจการทำงานของสื่อมวลชน นอกจากการรายงานแล้วต้องตรวจสอบด้วยว่าข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้มาถูกต้องหรือไม่อย่างไร รวมถึงอธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีซักค้านให้อีกฝ่ายจนมุมเสมอไป การให้พื้นที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย เห็นได้จากมีตัวละครมากมาย และบางคนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่สื่อก็ไปให้พื้นที่
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญกว่า คือเมื่อสื่อและสังคมสนใจประเด็นความยุติธรรม ก็ต้องปฏิบัติต่อคดีอื่นๆ ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน อย่างคดีที่เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ยังไม่มีคำตอบ คือการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมถึงคดีการหายตัวไปของอีกหลายคน เช่น นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นายชัยภูมิ ป่าแส นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือการข่มขู่คุกคามตลอดจนดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือผู้ที่ออกมาตรวจสอบผู้มีอำนาจ ซึ่งสะท้อนความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าคนที่เลือกมาประกอบอาชีพสื่อ ซึ่งหมายถึงผู้สื่อข่าวหรือกองบรรณาธิการนั้นอยากทำงานที่มีคุณภาพ นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะอาชีพนี้รายได้ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับงานที่ค่อนข้างหนัก ดังนั้นผู้ที่ควรตระหนักเรื่องของความสมดุลของการนำเสนอ การสร้างความไว้วางใจต่อสังคม และการรักษาความเป็นมืออาชีพ คือเจ้าของสื่อหรือผู้บริหารองค์กรสื่อ รวมถึงกลุ่มทุนหรือแม้แต่รัฐที่เป็นเจ้าของสื่อ
เพราะหากเจ้าของหรือผู้บริหารองค์กรสื่อ เลือกนำเสนอแต่ประเด็นเร้าอารมณ์ หรือเลือกเฉพาะประเด็นที่มองแต่ความอยู่รอดของตนเองหรือสร้างรายได้จากโฆษณา หรือแม้แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคาม ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าหลายคนมีต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่เมื่อผู้รับสารค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป กระแสความคิด ชุดคุณค่าหลักในสังคมค่อยๆ เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นแล้วจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ สูตรการนำเสนอเนื้อหาแบบเดิมๆ ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งชี้นำว่าสื่อมวลชนควรจะทำอย่างไร
เช่น ระยะหลังๆ จะเห็นประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของพลเมืองมากขึ้น สื่อมวลชนจึงควรให้ความสำคัญกับความไม่ยุติธรรมในเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย แล้วช่วยกันสร้างพื้นที่ในการพูดคุย หาแนวทางว่าประชาชนจะร่วมกันสร้างอำนาจในการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายหรือโครงสร้างได้อย่างไร
อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากนโยบายรัฐที่เอื้อต่อกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างเรื่องม็อบชาวนา เรื่องสิทธิผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ก็เป็นเรื่องความไม่ยุติธรรมเหมือนกัน ซึ่งสื่อควรทำความเข้าใจ ให้พื้นที่สังคมได้เรียนรู้และถกเถียงเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพื่อให้สังคมร่วมกันหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรมอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม
“ไม่ว่าจะเป็นคุณแตงโม ไม่ว่าจะเป็นคนที่คิดเห็นทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับกระแสหลักในสังคม หรือว่าคนที่ถูกเพิกเฉยมานาน เพราะว่าความยุติธรรมมันไม่ควรเกิดขึ้นหรือได้มาเพียงเพราะว่าคุณเป็นที่รู้จักในสังคม หรือคุณเป็นอภิสิทธิ์ชน คือทุกคนในสังคมโลกมันควรจะได้รับความยุติธรรมและความเป็นธรรมเหมือนกัน” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว