2 เม.ย. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สำนักข่าว ThaiPBS FNF Thailand และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม FactsCollabTH ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ที่ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-2 เม.ย. 2565
เฟรเดอริค สปอร์ (Frederic Spohr) หัวหน้าส่วนงานประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF) กล่าวว่า เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ตนได้มากล่าวเปิดงาน International Fact Checking Day หรือวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ซึ่งการเกิดภัยพิบัติแสดงให้เห็นความสำคัญของการมีสื่อ เช่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือเรื่องของโรคระบาด ซึ่งผู้สื่อข่าวจะต้องรายงานด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ
ขณะที่ล่าสุด งานข่าวและวารสารศาสตร์ยังมีความสำคัญกับการสร้างสันติภาพ จากกรณีรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งมีความจำเป็นในการหาข้อเท็จจริง เช่น จำนวนผู้เสียชีวิต โดยผู้นำรัสเซียมีการชักจูงด้วยการบอกว่าจะเข้าไปปลดปล่อยประเทศๆ หนึ่ง และบอกว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่ราย แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นำไปสู่ความพยายามล้มสื่อต่างๆ จนสื่อมวลชนในรัสเซีย รวมถึงสำนักข่าวที่มีบรรณาธิการเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต้องปิดตัวลงจากแรงกดดันของรัฐบาลรัสเซีย
มันเป็นสิ่งที่บอกเราได้แล้วว่า สงคราม สันติภาพ และการสื่อสารมวลชน มันเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันมากขนาดไหน และนี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้สื่อข่าวที่ได้รับรางวัลโนเบล แล้วผมก็คิดว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากๆ เมื่อเราพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ผู้สื่อข่าวจริงๆ แล้วคือผู้รักษาสันดิภาพ เพราะเราต้องการค้นหาข้อเท็จจริง และเราต้องยอมให้พวกเขาได้มีโอกาสที่จะทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่เช่นกัน
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ ลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สันติภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. ในการสร้างสังคมสุขภาวะ ที่ประชาชนทุกคนมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง มีวุฒิภาวะทางปัญญาที่สามารถเลือกดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะ โดย สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาควิชาการและวิชาชีพสื่อ เพื่อเฝ้าระวังและสนับสนุนการใช้ศักยภาพของประชาชนในร่วมเป็นผู้ตรวจสอบ
สสส. ตระหนักดีว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน แทรกแซงหรือปลอมแปลงโดยเจตนาหรือไม่เจตนา สสส. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลเมืองดิจิทัล โดยมุ่งเน้นให้คนไทยมีความรู้ทักษะเท่าทันสื่อ มีความสามารถเพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะ
ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า งาน International Fact Checking Day หรือวันตรวจสอบข่าวลวงโลก เป็นเพียงหนึ่งใน 365 วัน แต่การตรวจสอบทำได้ทุกวันและ 24 ชั่วโมง ตนอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันตรวจสอบ แต่ก็ต้องมีความตระหนักเสียก่อน หรือก็คือความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) ในการยับยั้งชั่งใจ ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนหรือปลอม เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ แต่ประชาชนทุกคนต้องปรับตัวด้วย
แต่เรื่องนี้ก็มีความท้าทาย โดยตนมีโอกาสพูดคุยกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่ง ได้ข้อมูลว่า ในขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นกับสัญญาณ 5 จี แต่จากหมายเลขโทรศัพท์ 97 ล้านเลขหมาย มีผู้ใช้งาน 5 จี เพียง 4 ล้านเลขหมายเท่านั้น และทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ ยังมีคนอีกมากที่ใช้สัญญาณ 4 จี 3 จี หรือแม้แต่ 2 จี ที่ไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูคลิปวีดีโอได้ หรือเข้าถึงเว็บไซต์ได้ยาก อาจใช้ได้เพียงส่งภาพและข้อความในแอปพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น
ต่อให้สื่อทำ Content (เนื้อหา) ออกเป็นวีดีโอ ส่งต่อกัน คนดูบางทีอาจจะไม่เข้าถึงงในเชิง (Mass (วงกว้าง) ในเชิงประชากรศาสตร์ คนต่างจังหวัด คนหลายๆ พื้นที่อาจจะยังมองไม่เห็น สิ่งที่เราพยายามอยากจะทำก็คือไม่ใช่แค่สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ถ้าเรา Educate (ให้ความรู้) ประชาชนร่วมกัน บอกเพื่อนบอกญาติบอกพี่น้อง ว่าอันนึ้ควรตรวจแบบนี้นะ อันนี้ควรเช็คก่อนนะ เรรจะเช็คอย่างไร ดูอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการส่งต่อได้ ผมว่าการลด Misunderstand (ความเข้าใจผิด) Misinformation (ข้อมูลผิดพลาด) หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว มันจะช่วยได้เยอะ
จากนั้นเป็นการเสวนา เรื่อง “ทบทวนตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อ (Reviewing Barometer for Trusted Media)” โดยมี ณัฏฐา โกมลวาทิน สำนักข่าวไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดเรื่องด้วยรายงาน Global Trust Survey 2022 สำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3 แสนคนจากทั่วโลก พบว่า ความเชื่อถือต่อทุกๆ สถาบันในสังคมลดลง รวมถึงสื่อมวลชนที่ลดลงร้อยละ 20 หรือ 0.5 และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ลดลงถึงร้อยละ 70 หรือ 0.8 หรือโดยสรุปคือ ผุ้คนไม่เชื่อถือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อ
ในทางกลับกัน ผลสำรวจกลับพบว่า ผู้คนให้ความเชื่อถือข้อมูลข่าวสารที่มาจากนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานของตนเองมากที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์เติบโตและเต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง ข้อมูลผิดพลาด (Misinformation) และข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ดังนั้นจึงต้องกลับมาย้อนมองบทบาทของผู้สื่อข่าว ว่าจะสามารถรักษาอาชีพไว้ และยกระดับความน่าเชื่อถือต่อสังคมให้มากขึ้นได้อย่างไร
สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour) หัวหน้ากองบรรณาธิการ สำนักข่าว AFP กล่าวว่า AFP มีฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่และส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ โดยหลักเกณฑ์ในการเลือกข้อมูลข่าวสารใดมาตรวจสอบจะดูว่า มีประโยชน์ในฐานะงานข่าวหรือไม่ มีการแพร่กระจายของข้อมูลเป็นวงกว้างหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อสาธารณะหรือไม่ เช่น ข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือสร้างความเสียหายต่อกระบวนการประชาธิปไตย
การทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ยึดหลักการ “ความแม่นยำ (Accurate)” ตั้งแต่การตรวจสอบแหล่งข่าวผู้ให้ข้อมูล นำเสนอข้อมูลที่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ นำเสนอเพียงข้อเท็จจริงไม่ใส่ความคิดเห็นลงไป ต้องกล่าวถึงบริบทที่มาที่ไปของข่าวนั้น นำเสนออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จริงที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เช่น ปัจจุบันที่มีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
การอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวต่างๆ ได้เป็นเรื่องสำคัญ นี่คือเหตุผลที่เรามีนักข่าว 30-40 คน จาก AFP ที่ทำงานประจำอยู่ที่อยู่เครน เรามีสำนักงานที่มอสโก (เมืองหลวงของรัสเซีย) ซึ่งองค์กรสื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้วเขาถอนออก แต่เรา AFP ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ เพราะถึงแม้เราจะรู้ว่าเราตกอยู่ในภาวะกดดันและผู้สื่อข่าวของเราก็อยู่ในความเสี่ยง แต่อย่างไรก็ดี เราก็ยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่และเข้าถึงแหล่งข่าว สิ่งใดที่ปูติน (วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย) พูด ปูตินกล่าว หรือเซเลนสกี (โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน) กล่าว เราก็อยากจะอยู่ในพื้นที่หน้างาน เรามีผู้สื่อข่าวอยู่ในยูเครน เขาทราบว่าอาคารนั้นถูกทำลาย มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า เราสามารถบอกได้ว่าเราเห็นอะไรบ้าง
เปรเมช จันทรรัน (Premesh Chandran) อดีตผู้บริหาร สำนักข่าว Malaysiakini ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและกลายเป็นผู้สื่อข่าวได้ เห็นได้จากมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลัก แต่ปัญหาคือจะยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งจะพบการส่งต่อข้อมูลโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างแม่นยำก่อน
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 จะพบข่าวปลอมถูกเผยแพร่ก่อนข่าวจริงเสมอ เพราะการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องใช้เวลา ทั้งนี้ สำนักข่าวต้องทำงานให้หนักขึ้น เพราะการเผยแพร่ข่าวปลอม แม้ภายหลังจะทราบแล้วรีบแก้ไขข่าวให้ตรงตามข้อเท็จจริง แต่ก็พบว่าในขณะที่ข่าวปลอมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ข่าวจริงที่ออกมาตามแก้ไม่ค่อยได้รับความสนใจ และการเสนอข่าวปลอมบ่อยๆ ย่อมกระทบกับความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนในภาพรวมด้วย
นอกจากปัญหาข่าวปลอมแล้ว ยังพบกรณีสื่อกระแสหลักมักหยิบยกเพียงบางแง่มุมของเรื่องราวมานำเสนอ ไม่ได้เป็นการนำเสนอข้อมูลโดยรวม เช่น เลือกนำเสนอเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศของตนเอง ดังตัวอย่างที่ประเทศมาเลเซีย จะมีประเด็นทรัพยากรน้ำที่ส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ ที่ Malaysiakini จะนำเสนอมุมมองของฝั่งสิงคโปร์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะฝั่งของมาแลเซียเพียงมุมเดียว ทั้งนี้ Malaysiakini ยังให้ความสำคัญกับการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ทั้งแบบเปิดอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ และแบบกลุ่มปิด เช่น กลุ่มแชทในแอปพลิเคชั่นวอตส์แอปป์หรือเทเลแกรม เพื่อจะได้รู้ว่าเวลานั้นสังคมหรือกลุ่มต่างๆ กำลังพูดคุยหรือส่งต่อเรื่องราวอะไรบ้าง
เราจะต้องมองมุมมองที่แตกต่างของอีกฝั่งหนึ่งแทนที่จะบอกว่านี่เป็นข้อเท็จจริง คือทุกคนรู้ว่า Fact Check (การตรวจสอบข้อเท็จจริง) สำคัญ แต่สิ่งที่เราจะนำเสนอคือถ้าคุณอ่านเรื่องนี้ อันนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เรานำเสนอ คือคนถึงแม้จะบอกว่าตัวเองเป็นหัวก้าวหน้า บางครั้งเขาไม่เข้าใจความรู้สึกอีกฝั่งหนึ่งของข้อมูล ไม่เข้าใจมุมมองอนุรักษ์นิยม ไม่เข้าใจมุมมองของกลุ่มต่างจังหวัดหรือกลุ่มชนบท นอกเหนือจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เราจะนำเสนอมุมมองของอีกฝั่งได้อย่างไร เราก็จะได้สามารถ Offer (เสนอ) สิ่งที่มันนอกเหนือจากมุมของเขา
เจมมา บี มันโดซา (Gemma B Mandoza) หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ดิจิทัล สำนักข่าว Rappler ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจคือข่าวดิจิทัลเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะเป็นสื่อดั้งเดิม เช่น ที่ฟิลิปปินส์ เฟซบุ๊กเป็นสื่อที่คนติดตามรองจากโทรทัศน์ แต่โทรทัศน์ก็ไม่สามารถพกพาไปทุกที่ และไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์สม่ำเสมอ ทั้งนี้ มีแหล่งข้อมูลมากมายเข้ามาแทรกแซงในสิ่งที่คนรับ ซึ่งอาจเป็นเนื้อหาที่มาจากนักการเมืองโดยตรง ต่างจากในอดีตที่เนื้อหาต่างๆ ต้องผ่านสื่อซึ่งจะต้องถูกประมวลและตรวจสอบก่อน
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนหรือใครก็ตามที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารมักตกเป็นเป้าถูกคุกคาม เช่น ถูกทำให้อับอาย หากนำเสนอแล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้มีอิทธิพล มีการตีตรากล่าวหาผู้สื่อข่าวว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวลวง นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในฟิลิปปินส์ ซึ่งในการเลือกตั้ง จะมีคนที่ได้ประโยชน์จากข้อมูลผิดพลาดหรือบิดเบือนต่างๆ ดังนั้นสื่อมวลชนต้องแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน องค์กรพิทักษ์สิทธิ์ เพราะผู้คนจะรับฟังและให้น้ำหนักข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ตัวมากกว่านักข่าวที่ไม่รู้จัก หรือทำงานร่วมกับทนายความ เพื่อรับมือการถูกคุกคาม
เมื่อสถานการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้น วิธีการแก้ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบข่าวลวงอย่างเดียว มันไม่เพียงพอ เราจะต้องดูว่ามันมีสิ่งอื่นๆ อะไรบ้างที่เราต้องทำนอกเหนือจากนี้ ในการที่จะทำงานกับกลุ่มอื่นๆ หาวิธีการจัดการตัวอัลกอริทึม (Algorithm) ต่างๆ ที่ทำให้ข้อมูลบิดเบือนมันกระจายออกไป ทำให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น เราจะต้องดูว่าเราจะทำงานกับภาคส่วนต่างๆ อย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายข้อเท็จจริงมากขึ้น แล้วต้องมีการเข้ามาจัดการกับการคุกคามที่เกิดขึ้น
เทพชัย หย่อง ทีปรึกษา สำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญทั้งสถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาดโควิด-19 และพบข่าวปลอมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในยุคความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและข่าวสารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลายเป็นความท้าทายของคนทำงานสื่อมวลชนในการตรวจสอบว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ขณะเดียวกัน ข่าวยังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกใช้เพื่อชักจูงคนให้เชื่อหรือไม่เชื่ออะไรบางอย่าง
อย่างไรก็ตรม เราต้องทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเองก็ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง เห็นได้จากสำนักข่าวหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข่าวไปสู่การเน้นดึงให้ผู้คนติดตาม กลายเป็นสื่อแบบฉาบฉวยย่อยง่ายแต่ให้ข้อมูลไม่ครอบคลุม มีการนำเสนอข่าวแบบเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน หรือนำเสนอแบบเลือกข้างเพื่อสนับสนุนขั้วทางการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โดยไม่ได้นำเสนออย่างเป็นกลาง หรือดำเนินการตามจรรยาบรรณสื่ออย่างที่ควรจะเป็น
ถึงกระนั้น ในทางกลับกันก็อยากให้พิจารณานิยามของคำว่าความน่าเชื่อถือด้วย เพราะคนแต่ละคนเข้าใจความหมายของคำนี้แตกต่างกัน เช่น ในประเทศไทยที่มีการแบ่งแยกทางสังคมค่อนข้างมาก คำว่าน่าเชื่อถือเมื่อมองจากมุมทางการเมืองที่ต่างกันก็อาจเข้าใจไม่เหมือนกัน แต่ในสังคมประชาธิปไตยสื่อก็ยังต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งนอกจากการดำรงอยู่ให้ได้ในโลกยุคดิจิทัล ยังต้องดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณด้วย
เราต้องกลับไปยึดถือหลักการขั้นพื้นฐานของเรา ก็คือจรรยาบรรณสื่อ ในการที่จะสร้างความน่าเชื่อถือของสื่อให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก่อน การกอบกู้ความน่าเชื่อถือมันไม่ใช่หน้าที่ของสื่ออย่างเดียว มันจะต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนในสังคมด้วย เพราะทุกคนมีบทบาทที่ตัวเองสามารถทำได้ มันอาจฟังดูแล้วน่าหงุดหงิดเพราะคนก็จะโทษสื่อเสมอ ในสังคมของเรา เรายังต้องการสื่อที่น่าเชื่อถืออยู่ แล้วผมเชื่อว่าคนที่รับชมข่าวต่างๆ นอกเหนือจากจะเป็นผู้รับฟังข่าวแล้ว เขายังเป็นผู้ที่จะต้องใช้วิจารณญาณด้วยว่าข่าวที่เขาได้ยินนั้นเป็นข่าวที่ถูกต้อง เป็นข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นข่าวที่เขาเลือกรับชมเพราะมันตรงกับขั้วความเห็นทางการเมืองของเขา
ไอรีน เจย์ หลิว (Irene Jay Liu) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงานข่าว APAC, Google กล่าวว่า ภารกิจของกูเกิ้ล คือดูว่าตนเองมีทรัพยากรอะไร และผู้ใช้งานต้องการอะไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งการหาข้อมูลเกิดขึ้นในหลากหลายกิจกรรม ตั้งแต่การทำงาน การช็อปปิ้ง การหาคู่ การไปเที่ยว ฯลฯ ดังนั้นการมีเครื่องมือที่ทำให้คนสามารถคิดได้อย่างมีวิจารณญาณในสิ่งที่ตนเองเห็น แล้วทำให้สามารถไปหาข้อมูลต่อได้ มันจะทำให้สามารถตัดสินใจได้ เรื่องนี้ควรทำให้เป็นสากล
ประการต่อมา เมื่อเห็นข้อมูล เช่น โควิด การเมือง ฯลฯ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้อย่างไร เพราะแม้แต่สื่อมวลชนก็ยังถูกคุกคาม เช่น การที่นักการเมืองหรือขั้วทางการเมืองพยายามครอบงำสื่อให้นำเสนอแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ ขณะที่ผู้คนก็หันไปเชื่อถือคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนร่วมงาน นายจ้าง คนในครอบครัว แพทย์ประจำตัว เป็นต้น แล้วจะยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งต่อกันเหล่านั้นกันอย่างไร
ความท้าทายอีกด้านหนึ่ง คือมีข้อค้นพบว่า หลายคนมีวิธีคิดว่าขอแชร์ข้อมูลไปก่อนแบบเผื่อไว้แม้ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนวิธีคิดดังกล่าวเป็นคิดและตรวจสอบก่อนแชร์ เพราะการได้ข้อมูลจากคนที่ตนเองไว้ใจ ก็เป็นไปได้ที่อาจจะไม่ได้ใช้วิจารณญาณมากพอ ดังนั้นก็ต้องกลับไปที่องค์กรสื่อหรือสำนักข่าวต่างๆ แทนที่จะแข่งขันชิงความเร็วในการนำเสนอ ควรร่วมมือกันนำเสนอข่าวที่ให้ข้อมูลถูกต้องจะดีกว่า
สิ่งที่คิดว่ามันน่าสนใจ สื่อที่ฟิลิปปินส์เองสิ่งที่เขาทำอยู่ไม่ใช่แค่ร่วมมือกันเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามขยายผล เพราะเขารู้แล้วว่าการนำเสนอข่าวในระดับจุลภาคมีความสำคัญอย่างมาก เพราะฉะนั้นการเป็นเสียงหลักในสื่อมันจะทำให้เกิดพลังขึ้นมาได้ แล้วก็ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ แล้วก็ประชาชนปัจเจกบุคคลทั่วไป สามารถที่จะเชื่อถือข่าวมากขึ้นนั่นเอง เขาอาจจะเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน เช่น เป็นกลุ่มจากโบสถ์ เป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจใดๆ ก็ตาม แต่หลักๆ คือเราอยากที่จะนำเสนอข่าวให้กับคนที่เป็นผู้นำกลุ่มเหล่านี้ ว่าข่าวอะไรที่เป็นข่าวลวง ข่าวอะไรที่เป็นข่าวไม่จริง เพื่อที่จะให้เขาสามารถที่จะไปบอกคนในชุมชนของเขาได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวนี้เป็นข่าวที่ไม่จริง ทำให้ข่าวที่มีการนำเสนอออกไปมันไปถึงระดับรากหญ้า ระดับจุลภาคอย่างแท้จริง
ดร.มาซาโตะ คาจิโมโต (Dr.Masato Kajimoto) หัวหน้าห้องปฏิบัติการข่าว Annie Lab ศูนย์วารสารศาสตร์และศึกษาสื่อ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ความน่าเชื่อถืออาจไม่ได้หมายถึงคุณภาพของสื่อเสมอไป ซึ่งบางครั้งสื่ออาจจะเล่นกับประเด็นความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้รับสื่อของตนเองมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่ความน่าเชื่อถือนั้นควรมาจากการนำเสนอข่าวอย่างไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ดังนั้นสื่อไม่ควรไปไล่ตามคำว่าความน่าเชื่อถือตั้งแต่แรก แต่ต้องตั้งมั่นอยู่บนการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง แล้วความน่าเชื่อถือจะเป็นผลที่เกิดขึ้นเอง
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ประท้วงยาวนานบนเกาะฮ่องกงในปี 2562 ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก พบมีการรวบรวมคลิปวีดีโอทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เพื่อตั้งข้อกล่าวหา และจากฝ่ายทนายจำเลยเพื่อแก้ต่างให้ลูกความ โดยที่มาของคลิปวีดีโอก็มีทั้งข่าวจากสื่อกระแสหลักและจากแหล่งอื่นๆ เช่น กล้องวงจรปิดหรือกล้องถ่ายรูปทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบก็พบทั้งคลิปวีดีโอที่เป็นของจริงและที่ถูกตัดต่อขึ้น และล่าสุดกับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กำลังรวบรวมหลักฐาน หนึ่งในนั้นก็คือจากข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ
ถ้าเรามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ตอนนี้ ณ ตอนที่เกิดเหตุขึ้นอยู่ มันจะมีประจักษ์พยานหลายคน ทุกคนจะยังมีความทรงจำที่ยังสดใหม่อยู่ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปในตอนนี้ วัตถุประสงค์ของมันไม่ใช่แค่จะแก้ไขข้อมูลในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นข้อมูลจริง เป็นข้อเท็จจริงเอาไว้ในคลัง เอาไว้เพื่อใช้ในอนาคต เพื่อที่ว่าในอนาคตถ้ามีความสงสัยเกิดขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราสามารถกลับมาดูสิ่งที่เราได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาไว้แล้ว ถึงแม้ในตอนนี้จะเหมือนกับความพยายามที่เล็กน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับกระแสข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน