วงเสวนายกกรณีศึกษา‘ชายแดนใต้’ เหตุใดสังคมไทยต้องตระหนัก‘สิทธิดิจิทัล’ ชี้ข่าวลวง-มิจฉาชีพออนไลน์แก้ยากหากรัฐไม่ปรับท่าทีให้ประชาชนเชื่อมั่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ Doc Club & Pub ย่านศาลาแดง กรุงเทพฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ โคแฟค (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมฉายหนังสั้น 8 เรื่อง และการเสวนาหัวข้อ “สิทธิดิจิทัลในประเทศไทยคืออะไรทำไมจึงสำคัญ? และควรเริ่มต้นที่ตรงไหน?” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-2 เม.ย. 2565
นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องด้วยอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษที่เข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ การแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์จึงทำได้ยากกว่า ขณะเดียวกันก็มีปัญหาข่าวลือ-ข่าวลวงจำนวนมาก เช่น เมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ก็ต้องค้นหาข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ค้นหาข้อมูลในระดับเดียวกัน แต่เลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแหล่งเดียว ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้น
โดยในเหตุการณ์เดียวกันจะมีการสื่อสารทั้งจากหน่วยงานความมั่นคง องค์กรภาคประชาชน และอื่นๆ อีกมากมายผ่านบัญชีบุคคลหรือเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งหากเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องก็พอจะแยกออกว่าบัญชีบุคคลใดหรือเพจใดอยู่ฝ่ายไหน แต่การรายงานให้ระงับบัญชีหรือเพจที่สร้างข่าวปลอมก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากมีบัญชีหรือเพจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งมักเป็นบัญชีหรือเพจอวตารที่ไม่แสดงตัวตนจริง หรือการจะไปไล่แก้ข่าวในทุกเพจก็เป็นเรื่องเกินกำลัง หลายครั้งยังถูกตอบกลับด้วยถ้อยคำรุนแรงจนกระทบต่อสภาพจิตใจ นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องมาตรการลงทะเบียน 2 แชะ หรือบังคับลงทะเบียนอัตลักษณ์บุคคลในการใช้ซิมโทรศัพท์มือถือ ที่หมายเลขใดไม่ลงทะเบียนจะถูกระงับสัญญาณด้วย
“ลงทะเบียน 2 แชะ ตอนนี้หยุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คือสัญญาณให้กับหมายเลขเดิมที่ถูกตัดไปก่อนหน้านี้ ณ ตอนนี้ขอให้ข้อมูลที่มีคนลงทะเบียนเข้าไปแล้ว เราก็อยากจะได้คำชี้แจงว่าใครเป็นคนเก็บข้อมูล แล้วถ้าข้อมูลเหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง ใครจะเป็นคนรับผิดชอบในส่วนเสียหายที่เกิดขึ้น อันนี้เราก็อยากได้คำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่ต้องการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ 2 แชะ ในพื้นที่เรา” นุรอาซีกีน กล่าว
สฤณี อาชวานันทกุล สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า สิทธิดิจิทัลมี 2 ความหมาย ด้านหนึ่งคือทุกวันนี้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา หมายถึงเราใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ดังนั้นจึงคาดหวังการคุ้มครองสิทธิต่างๆ เฉกเช่นที่มีการคุ้มครองบนโลกออฟไลน์ อาทิ สิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่ม ความเป็นส่วนตัว แต่อีกด้านหนึ่ง ในโลกดิจิทัลก็มีบางแง่มุมที่ไม่เหมือนกับโลกออฟไลน์ อาทิ รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ที่เราทิ้งไว้มากมายบนโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัวผ่านการใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ดังนั้นการคำนึงถึงมาตรฐานเรื่องความเป็นส่วนตัว จะมีความเข้มข้นแตกต่างกันระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์
เมื่อพูดถึงโลกออนไลน์ จะมีมุมมอง 2 ฝั่ง ระหว่างฝั่งที่คิดว่าโลกออนไลน์ช่วยยกระดับ (Enhance) เรื่องสิทธิ เช่น การรวมกลุ่ม ซึ่งยุคก่อนโลกออนไลน์อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะเจอคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน ฝั่งนี้ก็จะเห็นว่าสิทธิดิจิทัล รวมถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชน กับฝั่งที่เห็นว่า แม้สิทธิดิจิทัลจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มองว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงการเสริมสร้างสิทธิดั้งเดิมอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติเพิ่มว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ถึงกระนั้น ทั้ง 2 ฝั่งก็เห็นว่าสิทธิดิจิทัลต้องได้รับการคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ จะพบสิทธิเสรีภาพหลายอย่างมีข้อยกเว้นไว้เสมอด้วยการเขียนต่อท้ายไว้ว่าตามที่กฎหมายบัญญัติ นำไปสู่การที่กฎหมายหลายฉบับเขียนอารัมภบทไว้ก่อนว่าจะมีการละเมิดสิทธิบางอย่าง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดิจิทัล เช่น เสรีภาพในการแสดงออก จะมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้จัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น ในมาตรา 14 ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลเท็จ หมายถึงการปลอมแปลงเป็นบุคคลหรือหน่วยงานอื่นโดยมิจฉาชีพ อาทิ การทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเหยื่อให้ใส่ข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง มาตราดังกล่าวกลับถูกนำไปตีความอย่างบิดเบือนเพื่อใช้จัดการกับการแสดงออก คำว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ จึงถูกตีความอย่างกว้างว่าข้อมูลอะไรก็ได้ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต แทนที่จะตีความอย่างเคร่งครัดว่าข้อความที่เครื่องประมวลผลเท่านั้น จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุกคามการแสดงออกหรือใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่แต่รัฐที่ใช้ในลักษณะนี้ แต่ประชาชนก็ยังใช้กันเองด้วย นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งออกมาแล้วแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ โดยรัฐบาลอ้างสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ว่าควรให้เวลาหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนได้ปรับตัว จึงเลื่อนการบังคับใช้มาแล้ว 2 รอบ และหากไม่เลื่อนอีกก็จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565
ดังนั้นจะเห็นว่า กฎหมายที่ควรจะคุ้มครอง ถึงที่สุดมันมีปัญหาการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ลำพังการใช้กฎหมายนี้เพื่อกลั่นแกล้งกัน เพื่อคุกคามก็แย่อยู่แล้ว แต่การใช้ระยะหลังที่เป็นการไปเชื่อมโยงกับคำว่า Fake News มันยิ่งทำให้คนสับสนไปอีก คำว่า Fake News ตามความหมายที่เราเข้าใจกัน คือรวมไปถึงข่าวปล่อย ข่าวบิดเบือน ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดเลยคือส่งเสริมสิทธิสื่อมวลชน เพราะโดยอาชีพแล้วเป็นหน้าที่และเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงสนับสนุนสื่อพลเมือง โครงการภาคประชาชน ที่จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) แล้วใครก็ทำก็ต้องทำให้ได้มาตรฐานสากล
ซึ่งประเด็นสิทธิดิจิทัล โดยสรุปแล้วต้องกลับไปที่ 1.ต้องมีหลักการรับผิด กับ 2.หลักการได้สัดส่วน โดยทั้ง 2 ข้อนั้นเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่สามารถแตะต้องสิทธิใดๆ ของประชาชนได้เลย แต่ต้องมีเหตุผลจำเป็นเพียงพอ เช่น การโดยสารเครื่องบิน ผู้โดยสารรับได้กับการเอ็กซเรย์กระเป๋าเพื่อป้องกันการซุกซ่อนระเบิดขึ้นเครื่องบิน แต่คงไม่ยินยอมหากวันหนึ่งมีกฎว่าต้องถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่นๆ ก่อนขึ้นเครื่อง และคงมีคำถามตามมา เช่น ผู้ก่อการร้ายมีวิธีการวางระเบิดแบบใหม่หรือไม่? เครื่องเอ็กซเรย์แบบเดิมใช้ไม่ได้ผลอย่างไร? เป็นต้น
“ในสังคมหรือในยุคที่หน่วยงานรัฐไม่ต้องรับผิดกับประชาชน เขาก็ยิ่งไม่ต้องรับผิดกับเรื่องเหล่านี้ อยากฝากไว้ตรงนี้ เมื่อไรก็ตามที่เราสามรรถกลับมาให้เขามีความรับผิดที่ชัดเจน ความรับผิดชอบต่อมาตรการต่างๆ เขาก็จะต้องกลับมาคิดถึงหลักการที่เป็นหลักการพื้นฐานเหล่านี้มากขึ้น เพราะว่าเอาเข้าจริง นักกฎหมายก็จะบอกว่าหลักความจำเป็นและได้ส่วนมันพื้นฐานมากๆ เลยนะเวลาเราคุยกันเรื่องสิทธิ คือเราย่อมคาดหวังว่าสิทธิเราต้องได้รับการคุ้มครองเป็นเบื้องต้น ถ้าจะมาละเมิดหรือละเว้นต้องอธิบายให้ชัดว่าจำเป็นหรือไม่? อย่างไร? แล้วถ้าเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ? แล้วเมื่อหมดความจำเป็นก็จะต้องกลับมาคุ้มครองตามเดิม” สฤณี กล่าว
สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ข่าวปลอม (Fake News) นั้นแยกได้ไม่ยาก นั่นคืออะไรก็ตามที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริง (Fact) ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ Fake News นั้นก็มีหลายประเภท เช่น การเสียดสี (Parody) การแกล้ง (Bully) หรือการสื่อความให้เข้าใจผิดในเชิงสองแง่สองง่าม ทำให้แยกแยะได้ยาก
อาทิ คน 2 คน สนิทกัน คนหนึ่งไปพูดจาบางอย่างกับอีกคนในลักษณะล้อเลียน คำถามคือทำได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่ควรใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายได้รับผลกระทบเจ็บปวด ซึ่งก็เป็นเรื่องของจริยธรรมด้วย เนื่องจากการใช้เพียงกฎหมายอย่างเดียวกับทุกเรื่องนั้นทำได้ยาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดำเนินการกับ Fake News ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือน ให้ลบโพสต์และชี้แจง โดยการดำเนินคดีจะใช้กับ Fake News ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างเท่านั้น เช่น ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ส่งหลให้เกิดความตื่นตระหนก คนไม่กล้าไปฉีดวัคซีน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนและการเปิดประเทศ
ทั้งนี้ ในการทำงานแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ด้านการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเรื่องของตำรวจและศาล ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข้อมูลว่าข่าวใดจริงหรือปลอม โดยทุกข่าวที่ศูนย์ฯ หยิบยกมากล่าวถึงต้องอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเสมอ เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับไปยังเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานนั้นที่ออกมาให้ข้เอมูล หากต่อมามีผู้แย้งว่าข้อเท็จจริงเป็นอีกแบบหนึ่งและมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าไม่เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานชี้แจง
ประเด็นต่อไปคือการระบุตัวตน ซึ่งประชาชนยินดีที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ฯลฯ ทั้งที่เป็นบริษัทในต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่น ข้อมูลรั่วไหล กลับไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทางกระทรวงฯ จึงต้องการหารือกับทางแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก เพื่อเก็บข้อมูลนี้ด้วย เพราะหากมองในมุมผู้เสียหาย อาทิ หากมีลูกแล้วลูกถูกปล่อยภาพอนาจารแล้วจะต้องไปตามจับใคร
“อันนี้เป็นมุมมองส่วนตัว คนไทยมีเสรีภาพ ไม่ได้ระวังกับต่างชาติมากพอสมควร หมายถึงว่าเรารู้สึกว่าถ้าเป็นภาครัฐฉันระแวง แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊กฉัน OK หรือบางเรื่องที่เราหลุดง่ายๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ยิ่งเห็นบ่อย บัตรประชาชนกับถุงกล้วยแขก ที่มันมีนานแล้ว อย่างนี้เราไม่เคยระวังเลย แต่พอวันนี้มันมีดิจิทัลเข้ามา ทำให้สิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์มันเปลี่ยนไป ซึ่งกฎหมายกับภาครัฐไทย อันนี้ก็บอกได้ว่าในการจะเคลื่อนไหวหรืออะไรมันก็จะมีช่วงของการลองผิดลองถูก มันไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันที ซึ่งเหมือนกัน ในการที่เราเช้ามาอยู่บนโลกออนไลน์ บางทีเราก็ยังอาจปรับตัวได้ไม่เต็มร้อย อันนี้ผมว่ามันต้องใช้เวลาอีกสักนิดในการที่จะจูนและก้าวไปพร้อมกัน” สันติภาพ กล่าว
สุธิดา บัวคอม ตัวแทนทีม “บอท” ผู้ชนะการแข่งขัน FACTkathon หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจเรื่องของ Fake News และมองว่าเป็นปัญหาของผู้สูงอายุ เพราะห็นว่าคนรุ่นใหม่เกิดมาในยุคที่มีเครื่องมือดิจิทัลพร้อมในการตรวจสอบ แต่พอมาร่วมโครงการ FACTkathon ก็ได้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งนิยมใช้ทวิตเตอร์ หลายครั้งมีการแชร์หรือรีทวิตแบบตามๆ กัน โดยที่ไม่รู้ว่าทวิตต้นทางเป็นข้อมูลจริงหรือไม่
แต่ในบริบทของประเทศไทย Fake News มีพลังในการทำลายล้างเพราะคนไม่เชื่อมั่นในรัฐหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นการสื่อสาร 2 ทาง อีกทั้งยังทำให้ผู้ใช้งานได้เห็นข้อมูลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อคนเราต้องประมวลข้อมูลว่าอะไรจริงหรือเท็จ การที่แต่ละคนมีความคิดเห็น มีอคติ (Bias) ไม่เหมือนกัน ทำให้ข้อมูลที่ประมวลออกมาอาจไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็ไม่รู้จะไปพึ่งพาการตรวจสอบได้จากที่ไหน เพราะเกิดความรู้สึกว่าไม่มีแหล่งใดที่เชื่อใจได้ ถึงกระนั้น การที่รัฐจะปรับปรุงเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือก็ไม่ง่ายอีกเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้กลายเป็นภาพจำไปแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็เห็นการช่วยกันตรวจสอบกันเองของประชาชนมากขึ้น
“อย่างในทวิตเตอร์ คนก็ทำในสิ่งที่จริงๆ ตัวเองไม่ต้องทำก็ได้ อย่างกรณีของคุณแตงโม ที่ผ่านมาแล้วก็ยังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ คือพอมันมีข่าวปลอมเกิดขึ้นมาก็จะมีคนไปแก้ทันที มันไม่จริง มันมีแหล่งข่าวบอกว่าอย่างนี้ ทั้งที่เขาเองก็อาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรก็ได้แต่เขารู้สึกว่ามันต้องแก้ไขในความผิดพลาดนี้ เรารู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงไปของนิสัยคนก็ทำให้สังคมมันดีขึ้น” สุธิดา กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงงานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้เผยแพร่ข่าวลวง หรือข้อมูลคลาดเคลื่อน (Disinformation) อยู่มาก แต่ปริมาณการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็มีมากเช่นกัน ส่วนประเด็รเสรีภาพที่ด้านหนึ่งอันดับของไทยถดถอยลง แต่อีกด้านก็พบคนไทยใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กันมาก กรณีของประเทศไทยจึงน่าสนใจ และคนไทยเองก็ไม่ได้ซีเรียสกับปัญหามากนักเพราะยังมีแง่มุมดีๆ ให้มองเห็นอยู่ จึงไม่ได้คิดว่าสถานการณ์ในไทยนั้นเลวร้ายมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้ แม้จะเชื่อว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิเสรีภาพที่ควรได้รับการปกป้อง แต่หลายปีที่ผ่านมาก็มองเห็นด้านมืดบนอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก ความท้าทายจึงอยู่ที่จะมีหนทางแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนหนึ่งคือทุกคนต้องกลับมาดูแลตนเอง ต้องตื่นรู้เท่าทัน แต่อีกส่วนหนึ่ง สมดุลระหว่างกฎหมายหรือกฎกติกามารยาทต่างๆ ก็เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ละคนอาจเห็นไม่เหมือนกัน และเป็นเรื่องยากในการหาจุดสมดุล
เมื่อมองไปยังอนาคต ยังมีความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการทำคลิปวีดีโอที่ปลอมแปลงใบหน้าและเสียงจนแยกแยะได้ยาก (Deepfake) ด้านหนึ่งต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันเพราะใครๆ ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายหรือนโยบายก็ต้องปรับแก้ให้เอื้อต่อการรับมือด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีข้อสังเกตว่า การดำเนินการทางกฎหมายของไทยจะรวดเร็วหากเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงของรัฐ แต่ก็อาจเกินสัดส่วนไป อาทิ กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือเรื่องการเมือง เมื่อเทียบกับเรื่องที่กระทบต่อประชาชน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์
“พอเกิดเหตุอย่างนี้ ถ้าเราไปถามหน่วยงานรัฐจะผลักมาที่ผู้บริโภค ประชาชนก็อย่าโง่สิ อย่าทำตัวให้ถูกหลอกสิ พอมาเจอเรื่องอาชญากรรมออนไลน์จริงๆ ภาครัฐจะโยนกลับไปให้ผู้บริโภค แต่พอเจออะไรที่มันกระทบความมั่นคงของรัฐ รัฐจะบอกต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง ฉะนั้นมันก็ไม่สมดุลแล้วคนก็ไม่เชื่อในหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law มันก็นำไปสู่การที่คนเลือกที่จะ Support บริษัท Tech Company ขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะ Support นโยบายของรัฐ เพราะฉะนั้นก็ต้องสลับตรงนี้เพื่อที่จะรับมือกับโลกยุค Metaverse ยุค 5G 6G แล้วก็ยุค Deepfake” สุภิญญา กล่าว