เนื่องจากดอกไม้มีพิษ
เนื่องจากดอกไม้มีพิษ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล
การอ้างอิง บทความ หรือคอลัมน์ประจำในสื่อสิ่งพิมพ์ มาขยายความ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางต่อสาธารณะนั้นมีไม่บ่อยนัก แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์กุหลาบพิษ ในหนังสือพิมพ์ขนาดแทบลอยด์ บางกอกทูเดย์ ก็สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อคนเขียน เขียนถึง กสท. ผู้หญิงหนึ่งเดียวในบทบาทการเป็นผู้นำสยบความเคลื่อนไหวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แต่ไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องราวที่เป็นประเด็นในแง่เทคนิค หรือข้อกฎหมายเช่นที่มีการโต้แย้งกัน
สิบกว่าปีมาแล้ว ที่ผมมีโอกาสเริ่มต้นวางแผน นโยบาย เนื้อหา และตั้งชื่อ “บางกอกทูเดย์” โดยมีทิศทางมุ่งไปสู่ความเป็นหนังสือพิมพ์ชุมชนของคนกรุงเทพ หรือ community newspapers และแน่นอนต้องเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีการใช้ภาษาอย่างมีรสนิยม มีหลักการทำงานความเป็นสื่อมวลชนที่ดี น่าเสียดายที่เมื่อบางกอกทูเดย์ เริ่มเคลื่อนขบวน ผมไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ก็เฝ้ามองพัฒนาการของบางกอกทูเดย์ ตั้งแต่อยู่ใต้ร่มเงา แทรฟฟิค คอร์เนอร์ จนถึงวันนี้
ผู้ใช้นาม “กุหลาบพิษ” เขียนความคิดของเขา ใน “บางกอกทูเดย์” พาดพิงถึง คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.หนึ่งเดียวที่เป็นผู้หญิง โดยวิพากษ์บทบาทของเธอในการจัดการปัญหา ช่อง 3 ว่าเป็นไปอย่างมีอคติ โดยใช้ถ้อยคำว่า เป็นคนที่ “มองเหรียญด้านเดียว”
ไม่ว่าคุณสุภิญญา จะมีแนวคิด หรือจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็เป็นงานในหน้าที่รับผิดชอบ ในฐานะหนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งน่าจะเป็นคนละเรื่อง คนละกรณี กับ “เพศสภาพ” หรือสถานภาพการสมรสของเธอ อันเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์นี้ว่า “คานทองนิเวศ”
กุหลาบพิษ มีเสรีภาพแน่นอนในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องบทบาทของคุณสุภิญญา ในฐานะ “บุคคลสาธารณะ” และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ประโยชน์สาธารณะ” แต่ประเด็นที่ต้องสงสัย คือ เป็นการแสดงความคิดเห็นเพราะความลำเอียง มีอคติ จนทำให้เนื้อหา การแสดงความเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรือประเด็นที่สมควรวิพากษ์บทบาทของคุณสุภิญญาในหน้าที่ กสท. กลายเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยมุ่งให้ร้ายเรื่องส่วนตัว หรือหมิ่นแคลนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคุณสุภิญญา ด้วยทัศนคติเหยียดเพศ หรือไม่
เรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ทัศนคติที่เห็นว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มเพศที่ไม่สำคัญ และไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม มีหน้าที่อยู่เหย้าเฝ้าเรือน มากกว่าที่จะมามีบทบาทนอกบ้านมีอยู่มาก
ทัศนคติเช่นนี้เอง ก่อให้เกิดการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เช่นเดียวกับกรณีคุณสุภิญญา ที่กำลังถูกมองว่าทำผิดหน้าที่ โดยเฉพาะการต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจสูง มีเครือข่ายกว้างขวางที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน หน้าที่ที่ถูกต้องของผู้หญิงซึ่งอ่อนอาวุโสมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ใน กสทช. จึงเป็นเรื่องที่ควรไปมีครอบครัวเสีย
สังคมไทยที่ตกอยู่ในหล่มโคลนแห่งความขัดแย้งเช่นนี้ ก็เพราะเราไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งในตัวบุคคลได้ เรายินดีในการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือประชดประเทียดให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชัง ความคับแค้น เพียงเพื่อความสะใจ ลดทอนความเชื่อถือของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะหากสิ่งนี้เกิดจากผู้ชายที่กระทำกับผู้หญิงด้วยทัศนคติที่คับแคบ มีบางคำที่อาจนิยามผู้ชายประเภทนี้ได้ แต่ไม่สมควรกล่าวคำ กุหลาบพิษจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม แต่กุหลาบพิษกำลังทำสิ่งที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ คือการหยามเหยียดเพศแม่อย่างน่าละอาย
ปฏิกิริยาจากคานทองนิเวศ ยังส่งแรงเหวี่ยงมาถึงวันนี้ และถ้าต้องการรู้ว่ามันรุนแรงเพียงใด พิมพ์คำว่า “กุหลาบพิษ” ลงไปในสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก จะมีคำตอบให้นับพันคำ