กสทช.กินก็ได้ ทาก็ได้ : ‘จอกอ’

googlehangout

กสทช.กินก็ได้ทาก็ได้

กสทช.กินก็ได้ ทาก็ได้ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

ไม่เพียงลดกระหน่ำ ซัมเมอร์เซล ทั้งค่าธรรมเนียมทีวีอนาล็อก ลดหย่อนค่าธรรมเนียมกองทุนทีวีดิจิทัล  เลื่อนจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหา “จอดำ” บนดาวเทียม และเคเบิลของช่อง 3 ออริจินัล

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังสำแดงเดช ด้วยการรวบรัด ร่างมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วเชิญให้ผู้แทนองค์กรสื่อด้านวิทยุและโทรทัศน์ไปให้ความเห็น ในทำนองเดียวกับที่เคย “ลักไก่” ประกาศมาตรการควบคุมเนื้อหาตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยไม่มีอำนาจมาแล้ว

เรื่องการใช้อำนาจ ที่ไม่ได้คำนึงถึงภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม และผลประโยชน์รัฐ หากแต่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาการเมืองภายใน กสทช. อันสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ช่อง 3 ออริจินัลนั้น เป็นมหากาพย์ที่ต้องแยกไปพูดกันอีกเรื่องหนึ่ง

แต่วันนี้จะว่าด้วยความพยายามของ กสทช.ที่จะสถาปนาความเป็นองค์กรกำกับจริยธรรม ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งที่มาตรฐานจริยธรรมของคนในองค์กรยังเป็นคำถามของสังคม

ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ด้านการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สภาพัฒนาการเมือง เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ่วงข้อเสนอของผมที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ในฐานะองค์กรสำคัญในการปฏิรูปสื่อ ไปด้วยโดยให้มีการทบทวนเป้าหมายการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มุ่งต่อผลประโยชน์สาธารณะ และให้โอกาสกลุ่มใหม่ๆ ในการเข้าถึงคลื่นความถี่แต่กลับเบี่ยงเบนไป ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ที่มีกสทช.เป็นกลไกสำคัญ

นอกจากนั้นยังต้องทบทวนบทบาทของ กสทช.ในแง่ตัวบุคคลด้วยว่ามีความเป็นอิสระ และมีความเข้าใจภาระหน้าที่สำคัญการเป็นต้นกระแสธารของการปฏิรูปสื่อหรือไม่

กสทช. หลงประเด็นในการใช้อำนาจมากำหนดกรอบการทำงาน และมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรสื่อ โดยใช้เงื่อนไขกองทุนมาเป็นตัวบีบบังคับให้การรวมตัวขององค์กรวิชาชีพที่ดูแลกำกับเรื่องจริยธรรม ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจเรื่องจริยธรรมสื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 39 ใช้คำว่า “ส่งเสริม” มิใช่ “กำกับควบคุม” แปลว่ากระบวนการเริ่มต้นในการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลเรื่องจริยธรรม เป็นเรื่องขององค์กรสื่อ มิใช่ กสทช.

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 บอกว่า ในกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ (2) และ (3) พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ความเป็นองค์กรวิชาชีพจึงเป็นหลักการเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาก่อน เป็นเรื่องภายในขององค์กรวิชาชีพ ในการกำหนดกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย องค์กรหลักที่กำกับ ดูแลเรื่องนี้ ก็มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับมานานแล้ว

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 แน่นอนว่า จะต้องยกเลิกไป เมื่อตัวแทนสื่อได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเข้าใจของ คสช.ที่เห็นว่า บทบาทในการกำกับดูแลสื่อ ควรเป็นขององค์กรสื่อเอง ในขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูป กสทช.ก็ควรเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องพิจารณาและฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะหากย้อนไปดูเจตนารมณ์การมีขึ้นของ กสทช.กับความเป็นจริงที่ได้มาแทบจะเป็นตรงกันข้าม

ความเป็นจริงที่ กสทช.ไม่มีเอกภาพในความคิด มีความเข้าใจในภาระหน้าที่ไม่เพียงพอ กรณีช่อง 3 คือตัวอย่างความล้มเหลวอย่างชัดเจนในการปฏิรูปสื่อ ภายใต้ธง กสทช.