“คลี่” ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมฯ

6 องค์กรวิชาชีพ เปิดเวทีขยายความ “ร่าง กม.จริยธรรม” หลังพบผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก “ไม่มีเวลาศึกษารายละเอียด” ย้ำ “ส่งเสริมจริยธรรม” ไม่ได้ “ควบคุมการทำหน้าที่” แถมโทษสูงสุดคือ “ประจาน” สื่อนอกแถว และ “ไม่มีคนของรัฐ” เป็นกรรมการให้คุณให้โทษ ด้าน “มานิจ สุขสมจิตร” เผย กำหนดอายุกรรมการสภาฯ ไม่เกิน 70 ปี เพราะป้องกันข้อครหา เรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของคณะทำงาน  

22 มกราคม 2565 รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” สถานีวิทยุ FM 100.5 MHz. อสมท. ได้นำเทปบันทึกภาพและเสียงบางช่วงบางตอนจากการสัมมนา “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน กับ ผลกระทบต่อสื่อมวลชน”  หรือ พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมฯ ที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ   สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย   สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์   และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom) มาเผยแพร่ออกอากาศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจความเคลื่อนไหว และความเป็นไปของสื่อไทย รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ตลอดจนนักวิชาการ ที่ไม่มีโอกาสได้อ่าน และ/หรือ ศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  ได้รับฟังเพื่อนำไปสู่การศึกษาข้อดี-ข้อด้อย อย่างละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป  

ทั้งนี้ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้เริ่มต้นการสัมมนาว่า ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนไทยจำนวนไม่น้อยรวมทั้งนายชวรงค์  มีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายกำกับการทำหน้าที่ของสื่อ เนื่องจากสื่อถูกกำกับโดยกฎหมายต่าง ๆ อยู่แล้วราว 20-30 ฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญก็ยังได้กำหนดหน้าที่ของสื่อไว้แล้วด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้สื่อถูกกำกับโดยฝ่ายรัฐ คนสื่อกลุ่มนี้จึงได้มีแนวคิดในเชิงปฏิรูปคือ ตั้งองค์กรขึ้นเพื่อกำกับดูแลกันเอง เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ  

แต่แนวคิดปฏิรูปการกำกับดูแลกันเองนั้น ฝ่ายรัฐมองว่า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ  ตลอดจนภูมิทัศน์สื่อที่หลากหลายขึ้น  รวมทั้งแรงกดดันจากรัฐและสังคมที่มีต่อสื่อที่มีมากขึ้น  ผู้บริโภคไม่ “Active” ในการตรวจสอบสื่อ ดังจะเห็นได้จากจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีไม่มาก  องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลกันเองจึงขาดสภาพการบังคับ  สมาชิกไม่ค่อยรับฟัง  กระบวนการตรวจสอบล่าช้าเพราะ (สภาการสื่อมวลชนฯ) มีทรัพยากรไม่เพียงพอ  กระทั่ง คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ตัดสินใจมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. หลังจากที่ร่างกฎหมายในลักษณะนี้ เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ราวปี พ.ศ. 2553 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.presscouncil.or.th/7020)   

ทั้งนี้สภาฯ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่รับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพ และกับดูแลกันเอง รวม 12 คน โดย 11 คน มาจากการสรรหาจากสื่อ องค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพ  ส่วนอีก 1 คน จะมาโดยตำแหน่ง คือ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งแม้จะเป็นองค์กรของรัฐ แต่คณะทำงาน(ยกร่าง) พิจารณาแล้วเห็นว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรสร้างสรรค์สื่อ จึงไม่น่าจะเป็นผลลบต่อสภาฯ ใหม่  นอกจากนี้การที่ สภาฯ จะต้องใช้เงินกองทุนของรัฐ ซึ่งก็คือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นั้น จำเป็นต้องมีคนของรัฐอยู่ในโครงสร้างคณะกรรมการด้วย 

ขณะที่นายมานิจ สุขสมจิตร ประธาน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสมัยแรก กล่าวว่า สื่อมวลชนไทย ได้ต่อสู้เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ยุค พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484  จนถึง ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ปร.) ฉบับที่ 42 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กดขี่และขัดขวางการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ดังนั้นทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ ครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อ 11 ม.ค.2565 นั้น จึงเข้าใจและยืนยันว่า “จะไม่นำห่วงอะไรมาคล้องคอให้คนสื่อต้องลำบากกันอีก”

“ขออย่าเพิ่งตัดสินแค่เพียงได้เห็นหน้าปก (ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้) หรือเพียงแค่เห็นว่า ใครเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายเท่านั้น เพราะอันที่จริง กฎหมายฉบับนี้ นอกจากคนสื่อจะกำกับกันเองแล้ว ยังจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดจริยธรรมของสื่ออีกด้วย และแม้จะมีการขอให้เขียนคำว่า หากสื่อแสดงข้อความให้เกิดความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชนจะต้องถูกลงโทษ  ไว้ในร่างกฎหมาย  แต่คณะทำงานก็คัดค้าน และอธิบายจนเกิดความเข้าใจ กระทั่งผู้ที่ขอให้เขียนถ้อยคำดังกล่าวลงไป  ยินยอมให้ตัดถ้อยคำนี้ออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งการกำหนดอายุของกรรมการไว้ว่า ไม่เกิน 70 ปีนั้น ก็เพราะปัจจุบัน ผมอายุเกิน 70 ปีแล้ว ถ้าไม่เขียนไว้อาจจะมีข้อครหาได้ว่า ผมมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งคณะทำงานก็เห็นด้วยในเรื่องของการกำหนดอายุกรรมการ”  

นอกจากนี้ นายมานิจ ยังได้ตอบคำถามกรณี ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่มีบทลงโทษเหมือนวิชาชีพอื่นว่า หากยอมให้มีบทลงโทษเหมือนกฎหมายของวิชาชีพอื่น ๆ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจรัฐซึ่งจะมีคนของภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งคณะทำงานคงยอมไม่ได้  เพราะสุดท้ายกรรมการท่านนั้นอาจจะสร้างความเสียหาย คือ สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลต่าง ๆ เข้ามาในสภาฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้  และบทลงโทษที่กำหนดให้มีทั้ง การตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิต่อสาธารณะ นั้น สำหรับคนทำสื่อแล้วการถูกตำหนิต่อสาธารณะ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะสื่อที่ถูกตำหนิในลักษณะนี้ จะไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป 

ทางด้านนายเทพชัย หย่อง สื่ออาวุโส กล่าวว่า หากมีทางเลือก คนสื่อก็ไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา แต่หากย้อนกลับไปศึกษาความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้ ก็จะเห็นว่า กฎหมายนี้มีการยกร่างขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองปกครองด้วยเผด็จการเต็มรูปแบบ และมีการขู่ว่า หากสื่อไม่ยกร่างกันขึ้นมาเอง “พวกเขาจะยกร่างให้” สื่อจึงจำเป็นต้องคุยกันอย่างจริงจัง และทำให้ร่างฯ เบาบางที่สุดโดยเฉพาะในแง่มุมของการที่ฝ่ายรัฐจะเข้ามามีบทบาทกำกับสื่อ และต้องทำให้เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการที่สื่อจะกำกับดูแลกันเอง 

“องค์กรที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมาย จะมีบทบาทหน้าที่แค่ไหน สุดท้ายก็ต้องกลับไปสู่หลักการเดิมของสื่อสากลทั่วไป คือ  การกำกับกันเอง  ซึ่งตรงนี้หมายความว่า ไม่มีกลไกไหนที่จะมีอำนาจทางกฎหมายและการลงโทษสื่อ แต่ฝากความหวังไว้ที่การลงโทษทางสังคม หรือ Social Sanction เพื่อให้สื่อทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรม ดังนั้นจะใช้คำว่า กำกับหรือควบคุมสื่อกับกฎหมายนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีตรงไหนที่เข้าข่ายเช่นนั้น ” 

นอกจากนี้ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ 1 ในคนสื่อ ในฐานะอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อครั้งที่นายประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่ง สปท. รวมถึงการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายที่ต้องการควบคุมสื่ออย่างเข้มข้น 

อย่างไรก็ตาม นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตติ่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้  ไว้ได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. 2565 จากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อ และคนสื่อ ทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้จาก คลิป วิดีโอ รายการ “รู้ทันสื่อจากสภาการสื่อฯ” ที่ออกอากาศไป เมื่อ 22 มกราคม 2565  

//////////////