อดีตรัฐมนตรี DES แนะทางรอดสื่อไทย ให้ศึกษาโมเดลธุรกิจจากทั่วโลก “อย่างจริงจัง” เพื่อหาทางสร้างรายได้ในกรอบจริยธรรม ขณะที่ “นายกฯ ส.ผู้ผลิตข่าวออนไลน์” ย้ำ ทุกสำนักยังต้องการผู้มีฝีมือเพียบ ด้านนักวิชาการชี้ ถ้าเนื้อหาไม่ใช่ เทคโนโลยีก็ช่วยไม่ได้ พร้อมย้ำ รัฐต้องส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้มากกว่านี้
25 ธันวาคม 2564 ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) คนแรกของประเทศไทย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “เมื่อเทคโนโลยี ไม่ใช่คำคอบสุดท้ายของงานสื่อ” ว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยประเทศไทยจัดการข้อมูลด้านต่างๆ รวมทั้งยังช่วยให้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐเป็นไปคล่องตัว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้คนไทยต้องตั้งรับ และนำไปใช้ประโยชน์ในทางบวกให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะการสื่อ การตั้งรับเทคโนโลยีเพื่อการได้มาซึ่งรายได้ ซึ่งแม้จะเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากแต่ก็ต้องพยายาม โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้สัก 2-3 ประการ คือ 1. ต้องสแกนรอบโลกว่า สื่อทันสมัยในประเทศอื่น ๆ มีวิธีคิดเพื่อการอยู่รอดอย่างไรบ้าง 2. สื่อควรหารือเพื่อหาทางรอดร่วมกัน รวมทั้งการพูดคุยกับแหล่งข่าว (Host) ฯลฯ เป็นต้น 3. วิเคราะห์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านแล้ว สื่อจะทำหน้าที่ให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาจริยธรรม และการหลอกลวง เนื่องจากจริยธรรมสื่อเป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นปัจจัยในการสร้างความยั่งยืนให้กับสื่อในยุคนี้
“ไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสได้ใช้อินเตอร์เน็ตในราคาถูก เน็ตมีความเร็วสูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ความพร้อมของผู้คนในสังคมและสื่อเองก็ยังตามไม่ค่อยทัน จึงต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกร และหากเจอปัญหาในลักษระนี้ ผมก็จะต้องพิจารณาหาคำตอบจากการวิเคราะห์ และคำนวนอย่างเป็นระบบ และเห็นว่า คณะนิเทศศาสตร์ ของทุกมหาวิทยาลัย ก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องการให้นักศึกษาที่เรียนจบออกไปแล้วตกงาน เช่นเดียวกับสื่อหลายสำนัก ที่เข้าใจโมเดลทางธุรกิจบนการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากขึ้น แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็คงต้องหาวิธีการทางธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ต่อไป”
ทางด้านนายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลทำให้องค์กรสื่อและคนสื่อต้องปรับตัวตาม โดยเฉพาะการปรับเนื้อหา ให้เข้ากับเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มอย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องหาทางเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารให้ตรงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ผู้บริหารองค์กรสื่อ ยังต้องวางแผนหารายได้จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย
“ข้อมูลของสมาคมโฆษณาระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ได้หายไปหรือลดลง เพียงแต่ไม่ได้อยู่เฉพาะในสื่อหลักเหมือนที่ผ่านมา แต่มีการกระจายไปตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Youtube Social Media รวมทั้งกลุ่ม influencer และไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับแค่เว็บไซต์ หรือ เพจข่าวของคนสื่อที่ออกมาทำเองเท่านั้น การปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันในการแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาจึงมากขึ้น และคนสื่อส่วนใหญ่ยอมรับว่า แม้เทคโนโลยีจะถาโถมเข้ามาจนทำให้สื่อต้องก้าวตามอยู่ตลอดเวลานั้น เนื้อหาที่มีคุณภาพรวมทั้งการ Up-skill และ Re-skill ของคนสื่อ รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารได้ตรงความต้องการของแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทางรอดเดียวของสื่อในยุคนี้ และเทคโนโลยี ไม่ได้สำคัญมากกว่าเนื้อหา แต่ต้องไปคู่กัน”
ขณะที่ ผศ. ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการสื่อสาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากระแสสื่อสิ่งพิมพ์ถอยลงและสื่อ ทีวีดิจิทัลถูก Disrupt โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง YouTube Tiktok ฯลฯ ทำให้ผู้ผลิตและเผยแพร่เนื้อหาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้มีรายได้ คนไทยจำนวนไม่น้อยผันตัวไปเป็นผู้ผลิตสื่ออิสระ รวมทั้งคนรุ่นใหม่เช่น นักศึกษานิเทศศาสตร์ จำนวนหนึ่งที่ต้องการเห็นผลงานของตัวเองพร้อม ๆ กับมีรายได้อย่างรวดเร็ว จึงมุ่งเน้นในการผลิตและนำเสนอเนื้อหาบนแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีน้อยรายที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเนื้อหา หรือ Content ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยี หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของงานสื่อ หากเนื้อหาที่ผลิตและเผยแพร่ ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่สื่ออิสระ หรือสื่อบุคคล ที่เปิดเพจ เพื่อผลิตข่าว รายงานข่าว รายงานสดสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งจำหน่ายสินค้านั้น พบว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหลอกลวง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การแอบถ่าย การนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาเผยแพร่ การไลฟ์สดตามร้านอาหาร การเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิตจากที่เกิดเหตุ การรายงานข้อมูลไม่ครบถ้วน การรายงานข้อมูลด้านเดียว รวมทั้งการนำเสนอในลักษณะชี้นำความรู้สึกของผู้คน ล้วนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตรายต่อสังคม ล้วนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามาดูแล “อย่างจริงจัง” แม้ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 แต่ปัญหาคือ หน่วยงานภาครัฐ มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ไม่มาก ขณะที่การกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิด เกิดขึ้นทุกวัน
“เราจึงต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อ คือต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งอื่นแบบซ้ำ ๆ แม้ขณะนี้จะมีประชาชนจำนวนหนึ่ง เริ่มมีภูมิคุ้มกันตัวเองแล้ว เริ่มไม่มั่นใจในข้อมูลบางอย่างที่ได้รับแล้ว และเริ่มตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ยังมีไม่มาก ฉะนั้นเราจึงต้องช่วยกันสร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมาให้เพิ่มขึ้น”