รู้ทันอัลกอริธึม : กรณีศึกษา ‘โรฮิงญา’ ฟ้องร้อง ‘Facebook’
จับตาปม “โรฮิงญา” ฟ้อง “เฟซบุ๊ก” ตัวการแพร่ข้อมูลสร้างความเกลียดชัง ทำให้มนุษย์ต้องอพยพกว่า 7 แสน สังเวยชีวิตกว่าหมื่นราย ชี้เป็นคดีประวัติศาสตร์สร้างบรรทัดฐานการสื่อสารอย่างรับผิดชอบ และกฎหมายสหรัฐฯ ที่แพลตฟอร์มใช้อ้างปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญโลก พร้อมแนะผู้บริหารสำนักข่าวต้องรู้เท่าทัน อัลกอริธึม และต้องมองข้ามยอดไลก์-ยอดแชร์ ที่สร้างความแตกแยกในสังคม
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2564 นายชิบ จิตนิยม ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี กล่าวถึงกรณีผู้อพยพชาว ‘โรฮิงญา’ ยื่นฟ้อง META inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ‘เฟซบุ๊ก’ ผ่านรายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ทำให้ เฟซบุ๊ก ถูกกล่าวหาว่า ไม่สามารถยับยั้งหรือดำเนินการอย่างทันท่วงที ในการหยุดเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง จนทำให้เกิดอันตรายต่อชาวโรฮิงญาจำนวนมากแม้จะอ้างว่า เฟซบุ๊ก ไม่ได้นิ่งเฉย โดยได้ทำการลบข้อความในลักษณะดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กเป็นหมื่น ๆ ข้อความ หลังได้รับแจ้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ รวมทั้งปิดกั้นการใช้งาน เฟซบุ๊ก ของหน่วยงานภาครัฐในบางประเทศอีกด้วย
ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ถือเป็นความพยายามแก้ตัว เพราะที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไม่ได้ดูแลการใช้งานของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างจริงจัง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊ก ไม่เข้าใจภาษา รวมถึงวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ ทำให้ เฟซบุ๊ก กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับส่งต่อความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก และส่งผลกระทบต่อชาวโรฮิงญา โดยตั้งแต่ปี 2007 ชาวโรฮิงญา ถูกรัฐบาลของประเทศหนึ่งปราบปราม เพราะมองว่า โรฮิงญามีพฤติกรรมเข้าข่ายก่อการร้าย กระทั่งทำการขับไล่ชาวโรฮิงญามากกว่า 7.3 แสนคน ออกนอกประเทศ ขณะที่ชาวโรฮิงญาจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนต้องเสียชีวิต
แม้ว่า รองประธานบริหารฝ่ายสื่อสารของ เฟซบุ๊ก จะเคยออกมายอมรับว่า เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะท้อนปัญหาของทั่วโลก ทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ก็มีพนักงานของ เฟซบุ๊ก นำเอกสารออกมาเปิดเผยว่า เฟซบุ๊ก สร้างความเดือดร้อนและความแตกแยกของผู้คนในหลาย 10 ประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เหตุการณ์บุกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา (6 ม.ค. 2564) ในช่วงที่มีองค์กรสนับสนุนนายโดนัล ทรัมป์ ผู้ซึ่งแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 ซึ่งกลุ่มนิยมความรุนแรงได้มีการสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก ทำให้ เฟซบุ๊ก ถูกกล่าวหาว่า ไม่พยายามยับยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น อีกทั้งยังมีการเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้คงยากที่จะปฏิเสธ
“จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีเฉพาะ เฟซบุ๊ก เท่านั้นที่มีการเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง แต่แพลตฟอร์มอื่น ก็มี เช่น ยูทูบ กรณีการระบาดของโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง (สมุทรสาคร) ก็เคยมีการทำคลิปเผยแพร่บน ยูทูบ โดยระบุว่า หากเจอชาว…ที่ไหน ยิงทิ้งได้เลย เพราะเป็นผู้นำเชื้อเข้ามา อันนี้ก็ถือว่า เป็นการสร้างความเกลียดชังเช่นกัน แต่ในยุคข่าวสารไหลเวียนเช่นนี้ หากอาผิดกับเจ้าตัว (เจ้าของแพลตฟอร์ม)ไม่ได้ ตัวแปรสำคัญคือ การใช้กฎหมายของประเทศนั้น ๆ ในการฟ้องร้อง เช่น ไทย สามารถฟ้องได้ ตราบใดที่ เฟซบุ๊ก มีสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทย โรฮิงญา ก็สามารใช้กฎหมายในประเทศที่พวกเขาถูกกระทำฟ้องร้องได้เช่นกัน แต่โดยส่วนตัวมองแล้ว ผมมองว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้ เป็นการฟ้องร้องในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า”
นายชิบ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การส่งต่อข้อความที่สร้างความเกลียดชังแตกแยก จะส่งผลกระทบมากในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เช่นในประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนมากนั่นคือ คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองผ่านโซเชียล มีเดีย ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็มีการหาเสียงจาก โซเชียล มีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีต้นทุนต่ำ และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนไทยจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มนี้
ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องนี้น่าสนใจและน่าจะเป็นคดีตัวอย่าง เพราะจากคำฟ้องคือ 1. ฟ้อง อัลกอริธึม ของ เฟซบุ๊ก ว่า ขยายคำพูดที่แสดงความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา 2. เฟซบุ๊ก ไม่จัดการเนื้อหา-ไม่ลบเนื้อหา หรือรับผิดชอบอย่างทันท่วงที ทั้งที่ประกาศเป็นนโยบายของตัวเองว่า ไม่สนับสนุนการยุยงความเกลียดชัง แม้จะมีคำเตือนจากองค์กรการกุศลและสื่อต่าง ๆ 3. เฟซบุ๊ก ล้มเหลวในการลงทุนในส่วนของผู้ดูแลและผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในบางประเทศ ซึ่งเดิม เฟซบุ๊ก ยืนยันตัวตนว่า เป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากบุคคลที่ 3 หรือผู้ใช้แพลตฟอร์ม แต่เพิ่งออกมายอมรับว่า เฟซบุ๊ก เป็นมีเดีย ขณะที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้ออกมาระบุไว้ เมื่อปี 2561 ว่า กรณีที่ เฟซบุ๊ก นำเสนอข้อความที่นำไปสู่ความแตกแยก จะถือว่า เฟซบุ๊ก เป็นเพียงบริษัทเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องถือว่า เฟซบุ๊ก เป็นบริษัทผู้ผลิตสื่อประเภทหนึ่ง
“ประเด็น ที่ ยูเอ็น ประกาศออกมานี้ จะนำไปสู่มาตรฐานกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่ เฟซบุ๊กเข้าไปทำกิจการว่า จะขัดแย้งกันหรือไม่ และคดีนี้ น่าจะเป็นกรณีตัวอย่าง แม้หากมีการแพ้ชนะจริง ๆ มูลค่าความเสียหายที่ฟ้องคือ 1.5 แสนล้านดอลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5 ล้านล้านบาทไทยนั้น จะมีจ่ายจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับวงการวิชาชีพสื่อสารมวลชน และ Media Company รวมทั้ง Platform Company ในอนาคต คือ ทุกองค์กรจะต้องหันกลับมาทบทวนบทบาท และความรับผิดชอบของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่อง Heat speech และคดีที่ โรฮิงญา ฟ้อง เฟซบุ๊ก นี้ ไม่นาจบที่ศาลในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่อาจจะส่งต่อไปยังการพิจารณาของศาลโลกอีกด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง ยูเอ็น คงเข้ามามีส่วนร่วม และ เฟซบุ๊ก จะยึดกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญของโลกคงไม่ได้”
นายธาม กล่าวอีกว่า การรับฟังข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังบ่อย ๆ จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้รับสารมีรู้สึกตามเช่นนั้น กระทั่งเกิดความแตกแยก เลือกข้าง และยากที่จะกลับไปสู่จุดเดิมได้ อย่างไรก็ตามอิทธิพลของข่าวสารไม่ได้อยู่เพียงแค่เจ้าของแพลตฟอร์มกับผู้สร้างเนื้อหาเท่านั้น แต่สื่อมวลชนในแต่ละประเทศ คือส่วนสำคัญ ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ โดยหากเห็นว่า เป็นข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง บรรณาธิการ หรือผู้มีหน้าที่ตรวจสอบของแต่ละสำนักข่าวก็ไม่ควรนำเสนอ
ทั้งนี้ นายธาม ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันอาจมีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ “รู้ไม่เท่าทัน” อัลกอริธึม ของ เฟซบุ๊ก โดยคิดเพียงว่า อัลกอริธึม เป็นตัวช่วยให้ยอดการรับชมสูง เรตติ้งดี ทำให้มีโฆษณา แต่การรู้ไม่เท่าทัน แล้วปล่อยให้วาระข่าวสาร ถูกกำหนดจากข่าวที่ไหลเวียนในเฟซบุ๊ก สื่อมวลชนจะเพลี่ยงพล้ำ กระทั่งตกหลุมพรางของ เฟซบุ๊ก ได้
ขณะที่นายภาณุภณ พสุชัยสกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโอเพนซอร์สทูเดย์ กล่าวว่า อัลกอริธึม ของ เฟซบุ๊ก คือ ระบบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียนรู้อารมณ์ของผู้ใช้งานที่สะท้อนจากการกดไลค์ กดแสดงความรู้สึกกับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการแสดงความเห็นต่าง ๆ เพื่อนำไปจัดกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน แล้วนำเสนอข้อมูลที่แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มสนใจ ผ่านหน้า เฟซบุ๊ก ในลักษณะที่ขยายวงให้กว้างขึ้น ซึ่งเจตนารมณ์เดิมของ เฟซบุ๊ก ก็คือ เป็นเหตุผลทางธุรกิจเป็นหลัก ไม่ใช่มีไว้สำหรับสร้างความแตกแยก หรือสร้างความเกลียดชัง เพียงแต่ในแต่ละประเทศที่ประชาชนนิยมใช้ เฟซบุ๊ก ต่างก็มีภาษา และมีความหมายที่แตกต่างกัน หรือ บางประเทศภาษายังที่ดิ้นได้อีกต่างหาก เช่น ภาษาไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้แต่คนไทยเอง ยังใช้และแปลความหมายแตกต่างกัน เช่น คำว่าถล่ม หรือ ตีป้อม อาจจะมีความหมายอย่างหนึ่งสำหรับกลุ่มผู้เล่นเกม ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษที่แปลได้ตรงตัว จึงเป็นเรื่องยากที่ เฟซบุ๊ก จะตรวจสอบถ้อยคำที่สร้างความแยกแยก เกลียดชัง ของแต่ละประเทศ แต่ก็คงไม่ใช่ข้ออ้างที่ เฟซบุ๊ก จะไม่ทำ
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า มนุษย์ควรรู้เท่าทัน อัลกอริธึม แต่ปัจจุบัน อัลกอริธึม กลับรู้เท่าทันมนุษย์ จนถึงขั้นครอบงำความรู้สึก และพฤติกรรมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น
นายภาณุภณ กล่าวว่า การรู้เท่าทัน และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร จะเป็นเกราะป้องกัน หรือเป็นกำแพงกันอิทธิพลของ อัลกอริธึม ได้ดีที่สุด และบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กรณ์สาร เช่น โทรศัพท์มือถือ ก็มีเกราะดังกล่าวไว้ให้ผู้ใช้ ทั้งที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android จะมีแอพพลิเคชั่น “ปิดกั้น โรบอต” หรือแม้แต่ใน เฟซบุ๊ก เอง ก็จะมีระบบให้ผู้ใช้แจ้งว่า ไม่ต้องการเห็นเนื้อหาที่ไม่ต้องการได้ หรือแจ้งขอไม่รับเนื้อหาที่ไม่ต้องการได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาผู้ใช้ส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า มีแอพพลิเคชั่น หรือมีระบบเหล่านี้อยู่ หรือบางคนรู้ว่ามี แต่มองว่า เป็นเรื่องยุ่งยากจึงปล่อยเลยตามเลย ทำให้สุดท้าย กลายเป็นผู้ที่รู้ไม่เท่าทันสื่อประเภทนี้ไปในที่สุด