วงเสวนา “ข้อมูลลวงสู่โลกเสมือนฯ” เตือนสังคมไทย ไม่ว่าวัยไหน ได้สิทธิ์ถูกหลอกจากสื่อออนไลน์เท่าเทียมกัน ยกกรณี “GT200” เป็นตัวอย่าง ย้ำปัจจุบันสังคมไทยมีเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอมอื้อ แต่เด็กรุ่นใหม่ยันคนวัยดึกก็ยังตกเป็นเหยื่อ เหตุไม่สนใจปกป้องตัวเอง และไม่รู้ช่องทางเข้าถึง
27 พฤศจิกายน 2564 รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM100.5 อสมท ได้นำเทปการเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปลายปี 2564 ครั้งที่ 19 หัวข้อ “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และมูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ณ โรงแรมโนโวเทล สยาม กรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย Centre for Humanitarian Dialogue (HD) โคแฟค (ประเทศไทย) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย ในฐานะองค์ปาฐก ได้กล่าวถึงประเด็น “การหาความจริงร่วมจากโลกเสมือน” ว่า โดยพื้นฐานแล้วคนไทยเชื่อคนง่าย เชื่อตามคุณวุฒิ วัยวุฒิ ใครอาวุโสกว่าก็มักจะได้รับความเชื่อถือจากสังคม ตามคำกล่าวที่ว่า “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” และผู้ที่เชื่อจะไม่มี “ต่อมเอ๊ะ” หรือการตั้งคำถามว่า สิ่งที่ได้เห็นได้ยินจากบุคคลที่ตัวเองเชื่อถือนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่น ประเทศไทยเคยมีประเด็นเรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT 200 ที่ทำให้คนเชื่อว่า กระป๋องเปล่าติดเสาอากาศ 1 ต้น สามารถทำงานได้จริง หรือความเชื่อที่ว่า หากใครเป็นงูสวัด (โรคติดเชื้อไวรัส ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส : Chickenpox) และหากงูสวัดพันรอบตัวก็จะต้องเสียชีวิต ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่อที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางการแพทย์ หรือในหลายถสานการณ์ทางการเมือง ก็มีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมาก
“ประเทศไทยก็อยู่กันแบบนี้มาตลอด คือไม่รู้ว่า เรื่องไหนจริง ไม่จริง เรื่องไหนเป็นความเชื่อที่ผิด หรือเป็นเรื่องที่มีคนจงใจสร้างหรือบิดเบือนขึ้น ตามทฤษฎีสมคบคิด สะท้อนว่า ประเทศไทยมีความสามารถที่จะตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวปลอมหรือไม่ และจะพร้อมหาคำตอบว่า ความจริงคืออะไรหรือไม่”
รศ.ดร.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้มีการกำกับดูแลน้อยมาก กระทั่งมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ รวมทั้งหลายฝ่ายร่วมกันค้นหาความจริง การตรวจสอบข่าวปลอมจึงเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว เนื่องจากตรงกับจริตและกิเลสของผู้รับสารส่วนใหญ่ นอกจากนี้ประชาชนที่ต้องการคำตอบในบางเรื่องจากภาครัฐ แต่ภาครัฐให้ไม่ทันก็จำเป็นต้องหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
นอกจากนี้การบังคับใช้มาตรการบางอย่างจากรัฐก็เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดปลอมขึ้น เช่น การให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็จะมีกลุ่มต่อต้านวัคซีนออกมาให้ข้อมูลต่าง ๆ ขยายตัวขึ้นและเติบโตขึ้น กระทั่งนำไปเชื่อมโยงกับความไม่ไว้ใจภาครัฐและเข้าสู่วาระซ่อนเร้นทางการเมือง
“ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของ Echo Chamber อยู่แล้ว เฟซบุ๊ค มีระบบอัลกอริทึมบันทึกข้อมูล ตรวจจับความสนใจ และแสดงสิ่งที่เราต้องการเห็นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ METAverse ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์แห่งอนาคต ก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ในโลกเสมือนนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนอื่น ๆ ที่อยู่ด้วยจะเป็นตัวจริง หรือมีการปลอมแปลงหน้าตาเป็นบุคคลอื่น เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า ข้อมูลหรือเนื้อหาใน METAverse ที่เราเชื่อนั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น รวมไปถึงระบบการเงินในอนาคต ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่า เราจะถูกควบคุม (Manipulate) มากแค่ไหน”
ขณะที่เวทีเสวนาในหัวข้อ “จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์” โดยมีวิทยากรจากหลากหลายกลุ่มได้แก่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นบูมเมอร์ เช่น ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) น.ส.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) นายธนภณ เรามานะชัย Trainer Google News Intiative (GNI) นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. รวมทั้งตัวแทนจากทีมผู้เข้าร่วมแข่งขัน “การระดมสมองเชิงลึก หักล้างข้อมูลเท็จแสวงหาความจริงร่วม FACTkethon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” ได้แก่ น.ส.สุธิดา บัวคอม หัวหน้าทีมบอท ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศในการแข่งขันในครั้งนี้ และ น.ส.ไอริณ ประสานแสง จากทีม New Gen Next FACTkathon โดยได้ข้อสรุปว่า
ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารจึงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม Co-Fact เป็น 1 ในแพลตฟอร์มที่ช่วยกระตุ้นให้สังคมสนใจ และสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าวปลอม โดยเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักงานข่าวไทย อสมท. และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งทั้ง 3 กลไกนี้ แม้จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายแหมือนกันคือ สร้างความรับรู้และเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความจริงให้กับสังคม
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการเสวนา ยังได้กล่าวถึงประเด็น ความฉลาดในยุคดิจิทัล ที่หมายถึงการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล ที่นอกจากการรู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ยังต้องรู้เท่าทันเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกด้วยเนื่องจาก “การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)” เป็นทักษะสำคัญที่ไม่สามารถพึ่งพาแต่เพียงบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ผู้ใช้งานต้องสามารถแยกได้ว่า อะไรจริง-ไม่จริง อะไรใช่-ไม่ใช่
ส่วน METAverse นั้น แม้ผู้ให้บริการจะมีกฎกติกาค่อนข้างชัดเจน แต่ผู้ที่จะเข้าไปใช้งานก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า พร้อมและรู้เท่าทันมากน้อยแค่ไหน และการเข้าถึง METAverse ที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ (Device) นั้น จะเป็นข้อจำกัดหรือไม่ จะตรวจสอบได้อย่างไรว่า เนื้อหา (Content) ที่นำเสนอคือ ของจริง
ดังนั้นกลไกการตรวจสอบข่าวปลอม-เนื้อหาปลอมเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ใช้งานง่าย และทุกคนอยากใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันไม่ว่า คนรุ่นไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้เหมือนกัน เช่น ผู้สูงวัยอาจตกเป็นเหยื่อในรูปแบบหนึ่ง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อาจจะพลาดในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากข่าวปลอมมีการพัฒนารูปแบบให้ดูแนบเนียนมากขึ้นตลอดเวลา การรับมือของคนแต่ละรุ่น จึงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมีผู้สร้างพร้อมทั้งต้องทำความเข้าใจกับสังคม แม้ว่า จะต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะและปลูกฝังก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยได้รู้เท่าทันข่าวปลอมและเนื้อหาปลอมบนเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั่นเอง