นักวิชาชีพ – นักวิชาการ มอง ‘Metaverse’ เป็นโอกาสของสื่อที่ได้เครื่องมือใหม่ ส่วนยอด View บน Facebook นับวันจะถูกปิดกั้นมากขึ้น เหตุ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ไม่ได้สร้างไว้สำหรับงานข่าว แต่สื่อทั่วโลกแห่ใช้จนกลายเป็นสิ่งจำเป็น แนะปรับตัวผลิตเนื้อหาให้เหมาะสม พร้อมลงทุนงานวิจัยศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยตัวเอง ไม่ใช่พึ่งข้อมูลจากเอเยนซี เพียงแหล่งเดียว
13 พฤศจิกายน 2564 รายการ ‘รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ’ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ประเด็น “เมื่อ Facebook ไม่ใช่แพลตฟอร์มของงานข่าวอีกต่อไป” โดยหลังเฟซบุ๊ก อิงค์ (Facebook Inc.) ประกาศวิสัยทัศน์ “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) เมื่อ 29 ต.ค. 2564 ว่า “เมทาเวิร์ส” คือ สภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงสำหรับผู้คนบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นให้เสมือนจริง บนอีกโลกหนึ่ง โดยผู้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในนั้นได้ คล้ายกับอยู่บนโลกความเป็นจริง ผ่านอุปกรณ์ความเป็นจริงเสมือน VR (Virtual Reality) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานกับโลกแห่งความจริง AR (Augmented Reality) และเมทาเวิร์ส เป็นแนวคิดที่แทบทุกวงการกำลังพูดถึงว่า จะเป็นสิ่งล้ำยุคในโลกอนาคต ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อสารมวลชนที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อ Facebook ไม่ใช่แพลตฟอร์มของงานข่าวอีกต่อไป
นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่าถึงแม้ Facebook จะไม่ประกาศวิสัยทัศน์ “เมทาเวิร์ส” แต่มนุษย์ก็อยู่กับโลกเสมือนจริงมา 5-6 ปีแล้ว โดยมีตัวตนพิเศษอยู่บนแพลตฟอร์ม Social Media อย่าง Facebook Twitter Instagram ซึ่งที่นั่นสามารถกำหนดได้ว่า ผู้ใช้จะใช้แสดงตัวตนที่แท้จริง หรือจะใช้ตัวแทนตัวตนของเรา (Avatar) แต่สำหรับงานข่าวนั้น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ได้ตอกย้ำไว้อย่างชัดเจนอีกครั้งว่า Facebook ถูกสร้างขึ้นสำหรับเพื่อนและครอบครัว นั่นคือ การสร้าง โซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคม ให้เป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารซึ่งกันและกัน แต่สื่อทั่วโลกรวมทั้งสื่อไทย กลับใช้ Facebook เป็นเสมือนเสากระจายสัญญาณของ กสทช. เพื่อส่งเนื้อหาออกไปยังผู้รับสาร แต่มาถึงวันนี้ Facebook ได้ก็ตอกย้ำแล้วว่า วัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์ม Facebook ไม่ใช่สิ่งที่สื่อและองค์กรสื่อกำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
“จากนี้ไป ต่อให้เรามีเพจ(ข่าว)เป็น 100 เพจที่นำเสนอเนื้อหา และการสื่อสารเรื่องต่าง ๆ นั้น โอกาสที่เราจะเห็นข่าวของเราเหมือนทุกวันนี้จะน้อยลง เราจะไม่มีโอกาสเห็นเพจข่าวจากสำนักข่าวโดยตรง หรือถ้ามีให้เห็นก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นส่วนใหญ่ ก็คือ กิจกรรมการสื่อสารระหว่างเพื่อนกับเพื่อน หรือครอบครัวกับครอบครัวมากขึ้น”
นายระวี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสื่อในประเทศไทยมุ่งเน้นในการสร้าง Engagement โดยหวังให้มีผู้คนเข้าไปให้ความเห็น และแชร์เนื้อหาที่นำเสนอ แต่ก็อยากจะย้ำว่า ในปี 2565 Facebook จะทำให้ผู้คนเห็นเนื้อหาข่าวน้อยลงไปอีก จากที่ปิดกั้นยอด View มาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีแพลตฟอร์มใหม่ หรือมีโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เข้ามา เราก็มักจะให้น้ำหนักกับสิ่งใหม่ค่อนข้างมากแต่ก็ต้องพยามให้มีสมดุล และมั่นใจว่า สื่อในระดับองค์กร จะมีการแบ่งสัดส่วนของน้ำหนักการตลาดในแต่ละแพลตฟอร์มที่เหมาะสมได้อยู่แล้ว
ด้านนางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า ปัจจุบัน Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งสำหรับคนไทย แม้จะอยู่ในลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ มาเป็นระยะกว่า 10 ปีแล้ว แต่ในมุมของนักการตลาด ก็ยังถือว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่ครบเครื่อง และตอบโจทย์กลุ่ม Mass ได้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ดังนั้น การที่ Facebook มี Metaverse ซึ่งก็คือ ความล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของแพลตฟอร์มนี้ ผู้ที่ยังต้องการใช้ Facebook จึงควรต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ
“เท่าที่เคยทำการสำรวจจากนักศึกษาว่า ใช้แพลตฟอร์มอะไรกันบ้าง ส่วนใหญ่ในขณะนี้ตอบว่า ใช้ Instagram หรือ IG เด็ก ๆ จะเล่นกันเยอะ แต่ก็มีกระโดดไปที่ TikTok กันบ้างแล้ว ขณะที่ Facebook กลับไม่ได้รับความนิยมเหมือนที่ผ่านมา แต่เมื่อถามนักศึกษาในกลุ่มนี้ว่า ถ้าต้องเลือกใช้เพียง แพลตฟอร์มเดียว จะเลือกอะไร เด็กกลุ่มนี้ ตอบเหมือนกันคือ จะเลือก Facebook เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ครบเครื่องมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ”
ส่วนผลกระทบจาก Metaverse ต่อการสื่อสารของกลุ่มสื่อในประเทศไทยนั้น นางสาวกนกพร มองว่า Metaverse จะเน้นในเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งที่คนสื่อและคนไทยในกลุ่มที่ต้องการผลิตเนื้อหาเพื่อการเผยแพร่ ก็ต้องหาทางสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบที่มีพัฒนาการขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเข้าไปอยู่ในโลกของ Metaverse และแม้ Metaverse อาจจะไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับงานข่าว แต่ Metaverse ก็จะเป็นโอกาสของธุรกิจ โดยเฉพาะวงการเกมเมอร์ และวงการการศึกษา
ขณะที่ ผศ. ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ และสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ระบุว่า เรื่องงานเสมือนจริงในลักษณะเดียวกับ Metaverse นั้น วงการข่าวในต่างประเทศมีมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ NHK ที่สร้างฉากให้ผู้ประกาศข่าวซึ่งอยู่กันคนละที่ แต่ผู้ชมรู้สึกเหมือนนั่งอ่านข่าวอยู่ด้วยกัน หรือที่อังกฤษ ก็จะใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ผลิตเนื้อหาจนเป็นเรื่องปกติ และปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาในลักษะนี้อยู่มากกว่า 100 แห่ง
“ในเมื่อต่างประเทศปรับตัวเพื่อรองรับงาน VR และ AR มาแล้ว ประเทศไทยก็ต้องคิดว่า จะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อการทำงานขององค์กรสื่อได้อย่างไร โดยเฉพาะการเข้าถึงต้นทุน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะหาก Facebook บีบให้การมองเห็นของเราน้อยลงดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็ต้องเรียนรู้ว่า อะไรที่จะเป็นเนื้อหาที่เหมาะจะอยู่บน Facebook และเนื้อหาแบบไหนที่ไม่เหมาะกับ Facebook แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อไทยแทบทั้งหมด ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเป็นของตัวเองว่า Audience หรือผู้รับสาร อ่านข่าวจาก Facebook มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากไม่มีการลงทุนศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างจริงจัง ข้อมูลส่วนใหญ่ล้วนได้มาจากเอเจนซี จึงเป็นข้อมูลจากช่องทางเดียวที่มีอยู่ และนำมากำหนดยุทธศาสตร์ ดังนั้นเรื่องงานวิจัย หรืองานสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งที่องค์กรสื่อต้องให้ความสำคัญ และต้องทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง”