คนรุ่นใหม่ยืนยัน ถ้ารู้ทันสื่อฯ “จริง” ก็จะมีรายได้ “จริง” แต่ต้องไม่ลืมจุดเริ่มต้นของการเป็นสื่อ และมีสติก่อนท่องโลกออนไลน์ หากสงสัยให้ตรวจสอบเพื่อปิดโอกาสการตกเป็นเหยื่อ ด้านนักวิชาการชี้ คนไทยที่รู้เท่าทันสื่อ มีน้อยมาก แนะบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงไปถึงโรงเรียน
30 ตุลาคม 2564 นายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งนครเชียงรายนิวส์ ออนไลน์ (นสพ.เชียงราย) และ Business Manager, Ensemble Thailand ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในประเด็น “ใช้สื่อ Social หารายได้ ง่ายจริงหรือ…?” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า โลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร เนื่องจากทุกคนเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกัน มีโอกาสใช้ประโยชน์ได้เท่ากัน แต่ความสำเร็จของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลา ความถี่ ความสม่ำเสมอ และความน่าสนใจของเนื้อหาที่เผยแพร่ เช่น ยูทูปเบอร์บางคนเปิดช่องยูทูปมานาน 3-4 ปี เพิ่งจะมีคนรู้จักก็มี และเมื่อมีผู้ติดตามมาก ก็จะมีโฆษณาเข้ามาโดยอัตโนมัติ
ส่วนคำถามที่ว่า จะหารายได้จากโซเชียลมีเดีย ได้อย่างไรนั้น ก็ขอแนะนำว่า ต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองชอบ จากนั้นก็ต้องผลิตและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ถ้าเริ่มต้นได้แบบนี้ และเนื้อหาโดนใจ ก็จะมีผู้ติดตาม รายได้หรือ ธุรกิจก็จะตามมา
“ปัจจุบันคนทำสื่อ ให้ความสนใจทำเว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าวกันมาก ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า รูปแบบและเนื้อหาไม่แตกต่างกัน ผมกลับมองว่า เว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าว ก็เหมือน ส.ส. คือ ต่างคนต่างมีแฟนคลับ เป็นของตัวเอง โดยส่วนหนึ่งของแฟนคลับ เป็นแฟนคลับที่เกิดขึ้นเมื่อได้เห็น ส.ส. หรือ ได้ฟัง ส.ส. คนนั้นพูด เห็นผลงานของ ส.ส. คนนั้น เว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าวก็เหมือนกัน เพียงแต่ในแง่มุมของงานข่าวนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ช้าไม่เป็นไร แต่ถ้าคนอ่านอ่านของเรา ได้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เขาก็จะเชื่อถือและแชร์ต่อ ส่วนเรื่องของรายได้นั้น ก่อนจะมองเรื่องรายได้ ผมอยากให้ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราทำข่าวเพื่ออะไร ถ้าทำข่าวเพื่อหารายได้ ก็อาจจะเป็นวิธีคิดที่ผิดไปหน่อย คือ ต้องไม่หลงลืมนโยบายหลักของวิชาชีพสื่อ อย่าลืมจุดตั้งต้นของการเป็นสื่อ และไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีรายได้ เพราะถ้าเนื้อหาเราดี น่าสนใจ มีคนติดตาม รายได้ก็จะตามมา”
ด้าน น.ส.กรกมล ลีลาวัชรกุล บรรณาธิการ เว็บไซต์ korseries.com อดีตนิสิต คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พลิกผันตัวเองมาเป็นนิสิตคณะนิเทศฯ 1 ในผู้ประสบความสำเร็จในการทำรายได้จากสื่อออนไลน์ กล่าวว่า เธอเริ่มต้นจากความชอบซีรีย์เกาหลี ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย จึงได้สร้างเพจเพื่อเล่าเรื่องราวที่เธอได้รับจากซีรีย์เกาหลี กระทั่งในช่วงที่เธอกำลังจะต้องเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และต่อเนื่องมาจนถึงการเรียนในคณะสัตวแพทย์ปี 3 ปรากฏว่า มีผู้ติดตามเพจของเธอมากขึ้น และเพจเริ่มโต แต่เธอก็เรียนหนักขึ้น เธอจึงตัดสินใจหยุดเรียนสัตวแพทย์ และเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อม ๆ กับพัฒนาเพจของตัวเอง พร้อมกับเปิดเว็บไซต์ korseries.com กระทั่งถือว่า ประสบความสำเร็จอยู่ในขณะนี้
“คือ ถ้าเรารู้จัก รู้ทัน และเข้าใจการใช้สื่อ เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการถูกหลอก หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แถมยังมีรายได้เข้ามาในระดับที่เราพอใจ การที่เราเข้าถึงสื่อ และใช้สื่อได้โดยไม่กังวลเรื่องการถูกหลอกนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเรียนในสาขาที่มีการสอนเรื่อง การรู้เท่าทันสื่อ แต่สำหรับคนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียก็สามารถรู้เท่าทันสื่อโซเชียลได้ เพียงแค่ต้องมีสติ มีความสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบข้อมูล ส่วนการรู้เท่าทันนั้น ก็ต้องรู้เท่าทันตัวเอง และคนอื่น ต้องระมัดระวัง และวิเคราะห์ตรวจตราให้ดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคุณสมบัติของคนสื่อที่ควรจะต้องมี”
ขณะที่ ผศ.ดร.ชวพร ธรรมนิตยกุล หัวหน้าสาขาการโฆษณาและสื่อสร้างสรรค์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การรู้เท่าทันสื่อของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังเป็นประเด็นให้ต้องขบคิดและต้องหาทางส่งเสริมสนับสนุน แต่การรู้เท่าทันสื่อก็ต้องแยกแยะกลุ่มคนที่อยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลา เช่น คนรุ่นใหม่ จะไม่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี แต่อาจจะมีประเด็นในเรื่องประสบการณ์ชีวิต ขณะที่คนรุ่นเก่าจะรู้เท่าทันในแง่ของการมีประสบการณ์ชีวิต แต่อาจจะรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี ทั้ง 2 กลุ่ม จึงต้องมีสติขณะที่ท่องโลกออนไลน์ คือ ต้องตั้งคำถาม และต้องตรวจสอบข้อมูล โดยการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือ การเริ่มจากตัวเรา
“ตอนนี้ทักษะการเข้าถึงสื่อของคนไทยทุกเจนเนอร์เรชั่นดีมาก ส่วนการวิเคราะห์และประเมินคุณค่า ที่แม้ว่าจะดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มาก ขณะที่การสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมก็มีพัฒนาการค่อนข้างก้าวกระโดด เช่น การนัดหมายชุมนุม ก็ใช้สื่อโซเชียลฯ วัยผู้ใหญ่ก็เข้าถึงได้มากขึ้น เช่น การเข้าไปให้ความเห็นเรื่องประชาธิปไตยตามเพจต่าง ๆ ขณะที่การเรียนในปัจจุบันก็ต้องอาศัยดิจิทัล ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการหาข้อมูลออนไลน์ หรือการเรียนการสอนและการสอบออนไลน์ การให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อ จึงไม่ควรมีอยู่เฉพาะในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องให้ความรู้กับประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย และหากจะต้องทำกันอย่างจริงจังแล้ว แค่คณะนิเทศฯ หรือ คณะวารสารฯ คงไม่พอ แต่ควรกระจายไปอยู่ในทุกคณะและทุกภาควิชาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และในระดับโรงเรียน ”