องค์กรด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์ นักวิชาการ สื่อมวลชน ร่วมระดมสมองแสดงความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย เตรียมประกาศใช้เร็ว ๆ นี้
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติฯ เรื่องการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย โดยแบ่งการจัดเป็น 2 ช่วง คือ ภาคเช้า เป็นการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรสื่อที่เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนฯ ส่วนภาคบ่าย เป็นรอบของหน่วยงาน องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพจิต และนักวิชาการสื่อสารมวลชน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการยกร่างแนวปฏิบัติเรื่องการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายว่า เพื่อให้การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชนเป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ และที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีข้อเสนอแนะถึงสื่อมวลชนถึงการทำข่าวการฆ่าตัวตายมาแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในฐานะขององค์กรวิชาชีพสื่อที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน ควรมีแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเพื่อใช้กำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จึงมอบหมายให้คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนฯ โดยมี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นประธานคณะทำงาน ไปยกร่างเพื่อส่งให้คณะกรรมการจริยธรรม นำเข้าที่ประชุมเพื่อเชิญหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมระดมสมองแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ และเมื่อได้ข้อคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว คณะกรรมการจริยธรรมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ประกาศเพื่อบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณหน่วยงาน และองค์กรที่ร่วมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ อาทิ พ.อ.หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสื่อและการสื่อสาร น.ส. พรทิพย์ ยศกิตติภัทร์ รองผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ แห่งประเทศไทย นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และหัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากสถาบันต่าง ๆ