เปิดแนวปฏิบัติการทำข่าวเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มหลากหลายทางเพศ เน้นเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่สื่อหลักรายงานด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว ด้านนักวิชาการแนะ ก่อนใช้คำนำหน้านามควรถามเจ้าตัวก่อนว่า ต้องการให้เรียกอย่างไร พร้อมย้ำ รายละเอียดทางเพศนำเสนอได้ แต่ควรงดเชื่อมโยงลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์
23 ตุลาคม 2564 นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท ในประเด็น “แนวปฏิบัติการทำข่าวเด็ก ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ว่า หลังจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยกฐานะเป็นสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ คณะกรรมการจึงได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ให้สอดคล้องและครอบคลุมการนำเสนอข่าวในทุกมิติ รวมทั้งเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และล่าสุด สภาการสื่อมวลชนฯ ได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติสำหรับการทำข่าวของสื่อมวลชน รวม 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1.แนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 2. แนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวผู้หญิงและเพศสภาพหญิง และฉบับที่ 3. แนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติการทำข่าวเด็ก เยาวชน มี 4 ประเด็นหลักที่น่าสนใจ คือ 1) ต้องไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว 2) ต้องไม่นำเสนอข่าว-ภาพลามกอนาจาร ส่อเสียด ขบขัน 3) ต้องไม่ละเมิดกฎหมายเดิมที่คุ้มครองอยู่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และกฎหมายวิธีพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวโดยเฉพาะคดีอาญา และ 4) เป็นมาตรการเยียวยา โดยกำหนดให้สื่อที่นำเสนอข่าวในลักษณะต้องห้าม ต้องถอดข่าวนั้นออกจากระบบ
ส่วนแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวผู้หญิงหลักๆ ก็คือ ไม่เสนอข้อมูล-อัตลักษณ์ ภาพโป๊เปลือย และมีข้อต้องพึงระวัง อาทิ การนำเสนอข่าวผู้หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การอุ้มบุญ หรือผลิตซ้ำทัศนคติการแต่งกาย ตลอดจนพฤติกรรมของผู้หญิงที่มักจะมีการอ้างกันว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
สำหรับแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น สื่อต้องไม่ใช้ภาษาที่มีอคติ ไม่ตัดสิน ไม่เหมารวม หรือนำเสนอในลักษณะที่ทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเนื่องข่าวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คณะทำงานฯ จึงได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการใช้ภาษา คำเรียก ที่มาจากข้อเสนอของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งคณะทำงานกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
“แนวปฏิบัติทั้ง 3 ฉบับที่ออกมาล่าสุด จะใช้กับสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนฯ เป็นหลัก ส่วนสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนั้น หากมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณสื่อ สภาการสื่อมวลชนฯ ก็จะส่งให้ต้นสังกัดพิจารณา หรือหากผู้ที่นำเสนอข่าวไม่มีต้นสังกัด สภาการสื่อมวลชนฯ ก็จะทำหนังสือขอความร่วมมือ เพราะในยุคนี้แม้ใครก็เป็นสื่อได้ แต่การเป็นสื่อที่ดีก็จำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และต้องรักษามาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพไปพร้อมๆ กันด้วย”
ด้าน นายจิรยุทธ์ ปรีชัย บรรณาธิการข่าวเนชั่นทีวี กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเด็ก ผู้หญิง และผู้หลากหลายทางเพศนั้น โดยปกติสื่อหลักก็จะมีความระมัดระวังและมีแนวปฏิบัติของตัวเองซึ่งสอดคล้องกับความเป็นสากลอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่า การนำเสนอข่าวในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ต้องใช้ความระวังแบบสูงสุด ทั้งการพาดหัวข่าว และเนื้อหาข่าว เช่น การใช้คำว่า “เกย์ ตุ๊ด แต๋ว” เนื่องจากบางคนไม่ยอมรับเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเอง รวมทั้งการที่ถูกบีบคั้นจากสังคมด้วยคำว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า หากเปิดเผยตัวตนมากเกินไปก็จะยิ่งทำให้สังคมไม่ยอมรับ
“สื่อหลักส่วนใหญ่จะระมัดระวังการทำข่าวของคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว เนื่องจากรู้ว่า เป็นเรื่องอ่อนไหว เช่น ก่อนหน้านี้เพลง ประเทืองดัง สื่อก็นำมาใช้ แต่สุดท้ายคำว่า ประเทือง ก็หายไป และจนถึงขณะนี้ สื่อก็ยังไม่สามารถบัญญัติศัพท์เฉพาะ สำหรับคนกลุ่มนี้ได้ แต่สื่อส่วนมากก็มักจะเลี่ยงคำที่ทำให้ผู้เป็นข่าวมีความรู้สึกว่า ถูกด้อยค่า อยู่แล้ว”
ขณะที่ ดร. กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่องการใช้ภาษาในการนำเสนอข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศมากว่า 10 ปี รวมทั้งจากการทำงานร่วมกับ UNDP : United Nations Development Programme หรือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ พบว่า สื่อไทยมีการนำเสนออัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากเกินไป อีกทั้งยังนำมาเชื่อมโยงกับลักษณะการมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย เช่น ถั่วดำ อมนกเขา เสือเหลือง สายเหลือง ฯลฯ รวมถึงมีการขยายคำมากเกินไป เช่น โหด ดับ สยอง จึงไม่ได้เป็นแค่การนำเสนอข่าว แต่เป็นการตัดสินคนกลุ่มนี้ เช่น ข่าวหญิงข้ามเพศที่ฆาตรกรรมเพื่อนสาว ทั้งที่การฆาตรกรรมไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่สื่อก็พาดหัวว่า ผู้ก่อเหตุเป็นกระเทย หรือสาวสอง ซึ่งเป็นการตีขลุม และเป็นการเชื่อมโยงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
“การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ สื่อต่างประเทศจะไม่พูดถึง เช่น กรณีตำรวจหญิงนิวยอร์กฆาตรกรรมแฟนใหม่ของแฟนสาว ในเนื้อหาข่าวที่นำเสนอไม่มีคำว่า เลสเบี้ยน รวมอยู่เลย แต่หากเป็นสื่อไทย ก็คงจะพาดหัวว่า ทอมหึงโหด คือ ใช้อัตลักษณ์ทางเพศมาก่อนเลย อย่างไรก็ตามการระบุถึงเพศสภาพในเนื้อข่าวนั้น ถ้านำเสนอเพื่อให้เห็นถึงแรงจูงใจก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำไปเชื่อมโยงกับลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ดร. กังวาฬ ได้กล่าวขอบคุณสภาการสื่อมวลชนฯ ที่ประกาศแนวปฏิบัติปฏิบัติการนำเสนอข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการนำเสนอข่าวในการปกป้องสิทธิของกลุ่มเปราะบาง แต่ตัวหนังสือก็คือตัวหนังสือ จึงต้องการให้พัฒนาระบบการรองรับการนำแนวปฏิบัติไปใช้ เช่น มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้คำปรึกษา พร้อมกับให้คำแนะว่า กรณีที่สื่อไม่มั่นใจว่า จะใช้คำนำหน้านามของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร ก็ขอให้สอบถามจากผู้ที่ตกเป็นข่าวว่า ต้องการให้ใช้คำนำหน้านามแบบไหน และหากตัดสินใจไม่ได้ ก็ต้องมีที่ปรึกษาที่มาจากชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันศัพท์ในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น “สาวสอง” ในปัจจุบัน วงการผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ใช้แล้ว เพราะทำให้ดูเหมือนเป็นคนชั้นสอง จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า “หญิงข้ามเพศ” หรือ คำว่า “ทอม” ก็เปลี่ยนมาเป็น “ชายข้ามเพศ” ซึ่งขณะนี้ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยไทย (รับฟังคำอธิบายได้จาก ClipVDO) ได้มีการบัญญัติศัพท์ไว้ในทำคู่มือสำหรับสื่อในการทำข่าวบุคคลในกลุ่มนี้ไว้แล้วด้วย