ร้อยแปดคำถาม : ‘จอกอ’

googlehangout

ร้อยแปดคำถาม

ร้อยแปดคำถาม : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                 กระแสคอรัปชั่นไหลแรงอย่างยิ่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนักการเมืองอาชีพมายังนักบริหารจำเป็นในการจัดการคืนความสุขให้แก่คนในชาติ ทั้งในนโยบายรัฐบาล แผนปฏิรูปประเทศ รวมทั้งกิจกรรมภาคเอกชน โดยมีองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นแม่งานใหญ่

นอกจากนั้นภาคเอกชนหลายแห่งยังร่วมจัดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างคึกคักต่อเนื่อง ราวกลางเดือนหน้าจะมี 5th National Conference  on Collective Action against Corruption ในหัวข้อ “Citizen Action Against Corruption” ซึ่งในมิติของสื่อ ผมจะเป็นตัวแทนที่จะเล่าเรื่องบทบาทของสื่อในสังคมไทยในเรื่องของคอร์รัปชั่น รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บางประเด็นถาม-ตอบ ที่เคยพูดไว้ในหลายเวที ขออนุญาตทบทวนอีกครั้ง

ประเมินบทบาทของสื่อในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาคสื่อ

ผมคิดว่าในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคอร์รัปชั่น สื่อยังทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อไมโครโฟนที่ใช้ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ด้วยราคาสูงผิดปกติราคาตลาด แต่สื่อก็ทำข่าวนี้เหมือนกับข่าวประจำวันทั่วไป  มีแต่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงราคาแพง ทำไมหน่วยงานและงบที่ใช้ในการปรับปรุงห้องประชุมจึงไม่ใช้งบของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ยินว่า มีสื่อพยายามทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน หรือ Investigative Reporters ไม่มีข้อมูลว่านักข่าวขอดู หรือใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ขอดูสัญญา ซึ่งจะเป็นเอกสารประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความจริง โดยไม่ต้องถกเถียงกัน

นอกจากนั้น สภาพความเป็นอุตสาหกรรมสื่อ ที่มีลักษณะของการกระจายตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการสิ่งพิมพ์ที่ขยายตัวไปสู่ทีวีดิจิทัล ทำให้นักข่าวต้องทำข่าวในเชิงปริมาณมากขึ้น สายพานการผลิตข่าวเลื่อนไหล 24 ชั่วโมง เพื่อส่งออกไปยังช่องทางสารต่างๆ ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา ทำข่าวเชิงลึกซึ่งจะต้องมีการวางแผน มีวิธีการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเกาะกลุ่มกับนักข่าวคนอื่นๆ ได้ ในบางกรณีการที่สื่อรับเงินโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เช่น การรับเงินจัดกิจกรรมทางการตลาด หรือ Event Marketing ก็อาจก่อให้เกิดความเกรงใจ จนกลายเป็นข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพของนักข่าวในการทำข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อหน่วยงานนั้น

การ “ซื้อสื่อ” เป็นปัญหาที่ทำให้สื่อไม่สามารถรักษา “ความเป็นกลาง” ไว้ได้ ใช่หรือไม่

ประเด็นเรื่องการ “ซื้อสื่อ” กับ “ความเป็นกลาง” อาจเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน ซื้อสื่อนั้นหมายถึงความพยายามทั้งของภาครัฐและเอกชน ในการเข้าครอบงำการทำงานของสื่อ โดยผ่านระบบโฆษณา หรือเป็นการจ่ายเงินพิเศษเป็นการประจำให้แก่ผู้มีอำนาจในกองบรรณาธิการ ทำให้ข่าวบางชิ้นประเด็นสำคัญไม่ครบถ้วน บางประเด็นถูกตัดไป ถ้าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือธุรกิจของผู้ซื้อ เช่นในกรณีของซีพีเอฟ ที่กำลังมีการสอบสวนกันขณะนี้

แต่ในกรณีของ “ความเป็นกลาง” เป็นเรื่องของการเสนอข่าวประเภทการเมือง ที่อาจมีลักษณะเนื้อหาโน้มเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ในทางหลักการ การเป็นสื่อที่ดี ไม่ได้แปลว่าต้องมีความเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความเป็นกลางนั้นไม่ได้มีอยู่จริง เพียงแต่ต้องรักษาความไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง ไม่เอาความคิดเห็น หรือทัศนคติส่วนตัวไปปะปนกัน เมื่อทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ

ผลกระทบของดิจิทัล ทีวี ต่อสังคม

การประเมินผลกระทบการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ในระยะเริ่มแรกคงยังมองเห็นภาพไม่ชัดนัก เนื่องเพราะเป็นช่วงระยะปรับตัว แต่ก็มีข้อสังเกตว่ายังมีความพยายามไม่มากพอในการสร้างสรรค์รายการ ที่แตกต่างไปจากฟรีทีวีเดิม อีกทั้งการใช้เงินซื้อรายการหรือหนังต่างประเทศในบางช่อง แทนที่จะคิดอ่านสร้างรายการที่เป็นภูมิปัญญาไทย ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ในระยะต่อไปทีวีดิจิทัลน่าจะมีการปรับตัวเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของช่อง มากกว่าจะทำตามๆ กันไป เช่น รายการเล่าข่าวปะปนกับความเห็นส่วนตัว เกมที่ใช้ดารา ตลกมาเล่าข่าวโดยเน้นเฮฮามากกว่าสาระ

สังคมตั้งคำถามกับสื่อมากมาย หลายเรื่องอธิบายได้แต่อาจไม่เข้าใจในเร็ววัน หลายเรื่องเข้าใจได้ แต่ไม่อยากเข้าใจ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมแห่งความหลากหลาย