ปฏิรูปอะไรแบบไหน
ปฏิรูปอะไร แบบไหน : ‘จอกอ’จัก ร์ กฤษ เพิ่มพูล
คล้ายอยู่ในเขาวงกตแห่งการปฏิรูป ต้องตอบคำถามซ้ำๆ ต่างกรรม ต่างวาระ แต่คำถามเดียวสำหรับทุกคำตอบที่พวกเขาต้องการ ทุกเวทีที่เขาอยากรู้คือ จะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปแบบไหน จะสำเร็จหรือไม่ นี่เป็นคำตอบที่จำเป็นต้องอธิบายว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะใน 11 ด้าน ที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะดลบันดาลให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่หวัง ตั้งใจ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้มีโอกาสทบทวน สรุปบทเรียนที่ผ่านมาว่า จากนี้จะก้าวต่อไปอย่างไร
นอกจากข้อเสนอที่มีไปถึงคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขคนในชาติ ที่มี พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ เป็นประธานแล้ว บางข้อเสนอยังได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น ทีวีหลายช่อง สถานีวิทยุบางสถานี BBC Thai ที่ชวนคุยเรื่องปฏิรูป มีทั้งเหมือนและแตกต่างแล้วแต่จังหวะความคิดในเวลานั้น ครั้งสุดท้ายเป็นเวทีของคณะกรรมการจัดทำแนวทางและส่งเสริมการปฏิรูปประเทศไทย สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องในวงการนี้มาเกือบ 40 ปี ที่บางข้อเสนอต่อยอดมาจากความคิดเดิม
ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ หนึ่งในข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประกอบด้วย
การปฏิรูปองค์กรกำกับดูแลสื่อ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนคาดหวังว่า จะเป็นหลักในการเยียวยาแก้ไข กรณีที่ประชาชนถูกละเมิดโดยสื่อ
โดยรูปแบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อมี 2 รูปแบบ
การกำกับดูแลกันเอง (Self – regulation) ใช้ในกรณีสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นองค์กรหลัก แต่ปัญหาสำคัญคือ การกำกับดูแลโดยใช้มาตรการทางสังคมนั้น ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีสภาพบังคับ ฉะนั้นจึงมีแนวคิดที่จะสร้างกลไกบังคับให้ผู้ที่จะดำเนินกิจการสิ่งพิมพ์ ต้องสังกัดองค์กรสื่อที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานภายใต้หลักการ
การกำกับดูแลร่วม (Co-regulation) ใช้ในกรณีของสื่อวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 สนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
โดยลักษณะของสื่อประเภทนี้ รูปแบบการกำกับดูแลร่วมเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด แต่ยังไม่ได้แนวทางการกำกับดูแลร่วมที่ชัดเจน นอกจากนั้นในการกำกับดูแลเนื้อหา อาจจำเป็นต้องเพิ่มบทกำหนดโทษทางการปกครอง เช่น การตักเตือนจากเบาไปหาหนัก และสุดท้ายอาจถึงขั้นถอนใบอนุญาต
การปฏิรูปองค์กรอิสระ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการปฏิรูปสื่อ แต่เจตนารมณ์และเป้าหมายในการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มุ่งต่อผลประโยชน์สาธารณะ และให้โอกาสกลุ่มใหม่ๆ ในการเข้าถึงคลื่นความถี่ถูกทำให้เบี่ยงเบนไป และไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ โดยมี กสทช.เป็นกลไกสำคัญ
ถัดมาเป็นการปฏิรูปองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง ในการเป็นผู้ร่วมกำกับดูแลสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีเดีย มอนิเตอร์ ซึ่งปัจจุบันทำงานในเชิงวิชาการ อาจจะขยายบทบาทเป็นองค์กรผู้เฝ้าระวังการทำงานของสื่อ และเป็นตัวแทนในการดำเนินคดี หรือส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพพิจารณากรณีสื่อละเมิดจริยธรรม
ปฏิรูปโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ปัจจุบันสื่อถูกควบคุมและกำกับโดยกลุ่มทุน โดยผ่านการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ ฉะนั้นเป้าหมายในการดำเนินการจึงมุ่งเน้นในการแสวงหากำไร มากกว่าเป้าหมายในเชิงอุดมการณ์ การจำกัดการถือครองหุ้นโดยนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าทางอ้อมหรือโดยทางตรง จะต้องเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีกลไกในการกำกับดูแลไม่ให้สื่อตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนหรือนักการเมือง
สุดท้ายคือ การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ เช่น บทบัญญัติในเรื่อง “บุคคลสาธารณะ” ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหลักฐานเอกสารของราชการ อันเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น
ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปสื่อ หรือปฏิรูปด้านไหนก็ตาม ก็คล้ายฟองอากาศในมหาสมุทร จำเป็นต้องทุ่มเทอย่างสุดกำลังที่จะให้สำเร็จ ความยากลำบากที่มองเห็นนั้น ต้องยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้