“เทคโนโลยี” และ “โควิด” ถล่มวงการสื่อต้องปรับตัว เพิ่มทักษะสื่อสารรอบด้าน แต่ต้องไม่ลืมการตรวจสอบข้อมูล
ประธาน สภาการสื่อฯ แนะนำภารกิจเชิงลึก พร้อมย้ำอัพสกิลคนข่าวและผู้ที่ต้องการเข้าวงการมาอย่างต่อเนื่อง แถมเสริมเขี้ยวเล็บ เปิดช่องทางทำกิน เล็งผุดแอพฯ แมชชิ่ง ด้าน “นักวิชาการ” ชี้ สังคมหวังเนื้อหาคุณภาพ สร้างความรอบรู้ เท่าทัน แยกแยะได้ ส่งเสริมสุขภาวะ 4 มิติ เป็นกำแพงกั้นหวยพนัน ออนไลน์ ลดเนื้อหามอมเมาชวนหวังลาภลอย
9 ต.ค. 2564 รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ได้นำเทปงานเสวนา “สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทย ฝ่าภัยโควิด-19” โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยมีวิทยากร 3 คน ได้แก่ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นางสาวชามานันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการ ประชาสัมพันธ์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. มาเผยแพร่ออกอากาศ
ทั้งนี้ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรวิชาชีพสื่อหลายระดับ หลายหน้าที่ที่แตกต่างกัน ในส่วนของสภาการสื่อมวลชนฯ มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลด้านจริยธรรมรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากิจการสื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการทำหน้าที่สื่อมวลชน ส่วนการให้ความช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ รวมทั้งการดูแลคนสื่อ เป็นหน้าที่ของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่
นายชวรงค์ ยังได้กล่าวอีกว่า การเพิ่มทักษะของสื่อทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้รับกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ในยุคของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผ่านโครงการฝึกอบรม รวมทั้งโครงการวิจัยต่างๆ และไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะคนสื่อที่เป็นสมาชิกเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับทุกคน รวมถึงเชื่อมโยงกับนักวิชาการด้านการสื่อสารด้วย
“เราก็ทำหน้าที่ที่ถูกกำหนดให้ทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่วงการสื่อถูกรบกวน (Disrupt) จากเทคโนโลยี รวมถึงการระบาดของโควิด 19 นั้น การอบรมของเราก็ขยายออกไปเช่น อบรมเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพอื่นๆ ให้กับสมาชิก หรือคนสื่อที่ต้องการเปิดช่องทางสื่อของตัวเอง เราก็จัดให้มีการอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสารการตลาด การสร้างรายได้ รวมทั้งเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ของการทำงาน แต่ไม่ได้ถึงขั้นตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ต้องออกจากวิชาชีพสื่อ เพราะอย่างที่บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้ชัดเจนเหมือนความเสียหายที่เกิดจากจากน้ำท่วม และคนสื่อหลายคนที่ต้องออกจากอาชีพไปก็ไปประกอบอาชีพอย่างอื่น แต่ที่คิดไว้และยอากทำแต่ยังหาทุนสนับสนุนไม่ได้ก็คือ การทำแอปพลิเคชั่นจับคู่ หรือแมชชิ่ง สำหรับคนสื่อต้องการหางานในวงการสื่อ กับองค์กรที่ต้องการคนสื่อเข้าทำงาน แต่ยังหาทุนสนับสนุนไม่ได้”
ด้าน รศ. ดร. กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนิด้า กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม 3 ด้าน คือ 1. เปลี่ยนแปลงผู้บริโภคสื่อให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล สื่อสารผ่านเทคโนโลยี มือถือ ออนไลน์มากขึ้น 2. เปลี่ยนแปลงการทำข่าวของผู้สื่อข่าวเช่นเดิม หากเกิดกรณีน้ำท่วมสำนักข่าวต่าง ๆ ต้องใช้รถถ่ายทอดสด (O/B) แต่ปัจจุบันสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพียง 1 เครื่องในการรายงานสด หรือไลฟ์สด และ 3. เปลี่ยนการทำธุรกิจสื่อให้มีขนาดเล็กลง แต่เพิ่มการสื่อสารหลายช่องทางรวมทั้งช่องทางสื่อสังคม หรือ Social Media ซึ่งสามารถสร้างรายได้ ได้
ทั้งนี้ ในยุคที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น ใช้ชีวิตผ่านเทคโลยีออนไลน์มากขึ้น ทั้งการเรียน การสอน การสั่งของ และการรับข่าวสาร ทำให้มีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสื่อได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้มีอิทธิพลทางโซเชียล หรือ Influencer ก็เกิดขึ้นมากมาย แต่คุณภาพข่าวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ
“สื่อใหม่ๆ คงไม่เกิดขึ้น หากสื่อเดิมมีคุณภาพ ประกอบกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีข้อมูลข่าวสารสามารถเปรียบเทียบกันได้เอง ดังนั้นสื่อต้องเข้าใจว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่เรามองเรื่องสุขภาวะ อยากเน้นเรื่องคุณภาพข่าวสาร ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ นี่คือสิ่งที่คิดว่าสื่อมวลชนที่อยู่ในโลก Disruption ซึ่งจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพและให้คนชื่อถือ ใช้ประโยชน์จากการนำข้อมูลของเรามาเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ดังนั้นสื่อต้องปรับตัว และเชื่อมั่นใจศักยภาพและเติมเต็มจุดแข็งของตัวเอง พัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งต่อองค์ความรู้นั้นให้สังคมยังเชื่อมั่นในสื่อคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ขอฝากสมาคมนักข่าวฯ คิดถึงการให้ความรู้กับองค์กรที่ลงโฆษณาด้วยว่า ถ้าลงโฆษณากับสื่อที่มีคุณภาพจะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร ไม่ใช่ลงไปหมด แม้จะเป็นข่าวปลอมสร้างเรตติ้งอย่างเดียว”
ขณะที่ นางสาวชามนันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์ หนึ่งในเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สุขภาวะในความหมายภาพรวม ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมีอยู่ 4 ด้านคือ สุขภาวะทางกาย ทางจิตใจ สังคม และสติปัญญา แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ และมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตต่างๆ คือสุขภาวะทางปัญญา และคาดหวังให้สื่อปรับการสำเสนอเรื่องการพนันให้ลดน้อยลง ไม่ส่งเสริมหรือชักชวนคนให้เข้าไปในกิจกรรมการพนัน และให้พื้นที่กับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ส่งเสริมสุขภาวะในมิติต่าง ๆ สร้างการรับรู้ ปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน แน่นอนว่าการปรับพฤติกรรมคนต้องมีหลายปัจจัยร่วม แต่สื่อก็เป็นส่วนสำคัญหากมีการสื่อสารสม่ำเสมอ และได้รับการช่วยเหลือของภาคส่วนต่างๆ น่าจะช่วยกันได้และสังคมไทยจะไปสู่สังคมสุขภาวะที่ดีได้แน่ๆ
“ส่วนตัวอยากให้มี การปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาด้านนี้ขึ้นให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าในแง่ของความเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาท มีภารกิจสำคัญที่สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างมากมายในการนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่า มีคุณภาพ คุณค่าของสื่อมวลชนอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ และจริยธรรมสื่อ” คุณชามนันท์ กล่าว