ศิลปะเพื่อการสื่อสารในยุคโซเชียลฯ ที่ยากจะเลี่ยงคือ “สแลง” แต่ต้องใช้ให้เหมาะสม เพราะนอกจากจะเข้าถึงและเกลื่อนกลืนได้ดีกับกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว ยังส่งผลต่อการตลาดอีกด้วย ส่วนเนื้อข่าวที่ชอบเขียน “กล่าวว่า/เผยว่า” นั้น “เชยจุงเบย”
11 ก.ย. 2564 รศ. ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนฯ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “คำสแลงร่วมสมัย ของเด็กไทยในยุคดิจิทัล” ว่า สแลงเป็นคำประดิษฐ์คิดค้น ที่เกิดขึ้นเพราะผู้ที่ต้องการสื่อสารบางคนมองว่า คำที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถสื่อความหมายได้อย่างที่ต้องการ หรือผู้พูดไม่รู้จักคำอื่น จึงต้องสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกสำหรับบางสถานการณ์เพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม
ส่วนกำเนิดหรือที่มาของสแลงในยุคที่ผ่านมาก็คือ สื่อมวลชน เนื่องจากเสรีภาพของสื่อมีมากโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ขณะที่หนังสือพิมพ์มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ที่จะใช้สื่อสาร เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้รับสารเข้าใจความหมายของสิ่งที่ต้องสื่อ ดังนั้นบนพื้นที่ที่มีเพียง 2 บรรทัดหรือ 2 แถว สำหรับการพาดหัวข่าวให้ดึงดูด หนังสือพิมพ์จึงจำเป็นต้องประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ โดยคำใหม่ที่ว่านั้น ก็มีสแลงรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อโลกพัฒนาเข้าสู่ยุคการสื่อสารแบบดิจิทัล ผู้รับสารทุกคน แม้แต่พระสงฆ์ อินฟลูเอนเซอร์ และประชาชนทั่วไป ได้กลายเป็นผู้ส่งสาร จึงสามารถสร้างสแลงขึ้นมาใช้ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ไม่ควรเปรียบเทียบเชิงคุณค่าของสแลงในแต่ละยุคสมัย แม้ว่า สแลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่บางคำก็ยังใช้กันอยู่ เช่น “ไขก๊อก” หรือ “เลื่อยขาเก้าอี้” ซึ่งมีการบัญญัติขึ้นในอดีต แต่ปัจจุบัน สื่อฯ ก็ยังใช้กันอยู่ และสังคมก็ยอมรับ ส่วนสแลงในยุคดิจิทัลที่มีผู้สร้างขึ้นอย่างมากมายนั้น หลายคำก็น่าสนใจและมีความหมาย แต่ก็ต้องรอการพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นในยุคนี้ แล้วอีก 5 ปี 10 ปี คำเหล่านี้จะยังอยู่หรือไม่
คณบดี คณะนิเทศฯ จุฬาฯ ยังให้คำแนะนำว่า การที่สื่อฯ จะนำสแลงไปใช้ คงต้องพิจารณาว่า จะใช้ในบริบทไหน และจะต้องใช้อย่างไร เช่น หากใช้ในการรายงานข่าวก็ไม่น่าจะเหมาะสม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการรายงานข่าวก็คือ ต้องการสื่อสารให้คนจำนวนมากเข้าใจตรงกัน ภาษาที่ใช้จึงต้องเป็นภาษาที่ประชาชนทั่วไปรู้จักและเข้าใจ การใช้สแลงอาจทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันได้ ส่วนคอลัมน์ หรือบทความต่าง ๆ นั้น สแลง ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งก็สะท้อนถึงบุคลิกของผู้เขียนให้ผู้รับสารหรือผู้อ่านได้รับรู้ ซึ่งก็ใช้กันอยู่อย่างกว้างขวาง
ด้าน นายวัฒนะชัย ยะนินทร Content Editor & Webmaster ผู้จัดการออนไลน์ ในเครือสำนักข่าวผู้จัดการ หนึ่งในสื่อมวลชนผู้คร่ำวอดกับสแลงมาเป็นเวลานาน กล่าวว่า สแลงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยคนไทยนำคำศัพท์ในภาษาตะวันตกมาใช้ เช่นคำว่า Modern (ทันสมัย) ถูกนำมาตัดให้เหลือเพียงคำว่า “เดิ้น” ที่หมายถึงความทันสมัย ต่อมาก็มีคำว่า เชย ที่มาจากตัวละคร “ลุงเชย” ในละครเรื่อง “สามเกลอ” กระทั่งกลายเป็นคำว่า “เชย” และยังนำใช้กันจนถึงทุกวันนี้
สแลง เป็นศิลปะ และจะมีคำใหม่ๆ เข้ามาตลอดโดยเฉพาะในยุคดิจิทัล สแลงได้กลายเป็นสีสันในการสื่อสาร แม้จะไม่ใช่คำที่ถูกต้อง แต่ก็ทันสมัย มีเสน่ห์ เช่นคำว่า “สภาพ” ที่มีการเพิ่มตัวอักษร “พ” เข้ามา และสื่อนำมาพาดหัวข่าว เช่น สภาพพรัฐบาล (สะท้อนถึง สถานการณ์ภายในของรัฐบาล) หรือคำว่า สู่ขิต (สู่สุคติ)
“นอกจากสื่อแล้ว จะเทย หรือกะเทย ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดค้น และประดิษฐ์สแลงเพื่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม แต่บางคำก็ถูกนำออกมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น คำว่า ส้มหยุด หรือมงลง ฯลฯ ส่วนคำว่า CIA ที่เด็กรุ่นใหม่ ใช้เป็นสแลงแทนพ่อค้าขายของรถเข็นในพื้นที่การชุมนุมนั้น ต้องยอมรับว่าคิดได้เก่งมาก แต่แสลงที่เป็นคำหยาบ แม้จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่สื่อฯ ก็ไม่ควรนำมาใช้”
นายวัฒนะชัย กล่าวถึงการใช้สแลงในงานข่าวว่า ขึ้นอยู่กับบริบท และควรเลือกคำที่เข้าใจง่าย เหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน เช่น หากเป็นข่าวเคร่งเครียด หรือข่าวที่เกี่ยวกับชนชั้นสูง สื่อฯ ก็ควรเลี่ยงคำสแลง แต่หากเป็นข่าวที่เน้นความสนุก หรือเป็นเรื่องหยิกแกมหยอก สแลงก็สามารถนำมาใช้ได้ และยิ่งจะทำให้ประชาชนสนใจอ่านมากขึ้น เช่น คำว่า จึ้ง (สแลงขึ้นสูงสุดของคำว่า ปัง และปังปุริเย่) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เกี่ยวข้องกับการตลาดของสื่อฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ส่วนคำว่า “กล่าวว่า” หรือ “เผยว่า” ที่นิยมเขียนกันในข่าวทุกย่อหน้านั้น ปัจจุบันนี้อาจจะ “เชย” ไปแล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงและหาคำอื่นมาใช้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เขียน ส่วนที่มีผู้กล่าวว่า การใช้ สแลง จะทำให้ภาษาวิบัตินั้น ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ถ้าเลือกใช้กับบางบริบท บางกรณี ก็จะยิ่งทำให้ข่าวทันสมัย และน่าอ่านมากขึ้น
ขณะที่ นายไพศาล ฮาแว ในฐานะ Content Creator ของสำนักข่าว The Standard ซึ่งคนสื่อรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานสื่อฯ ได้ไม่ถึง 2 ปี กล่าวว่า เขาเติบโตมาในยุค Social Media ซึ่งเป็นยุคที่มีสแลงคำว่า “จุงเบย” ซึ่งในยุคนั้น สแลง คือการบ่งบอกถึงความทันสมัย บอกว่า เราอยู่ตรงนั้น และติดตามในเรื่องนั้น ๆ เราไม่ได้ตกเทรนด์
ส่วนสแลงที่จะนำมาใช้ในการรายงานข่าว ก็จะต้องเลือกใช้ให้เข้ากับเทรนด์ของแต่ยุค เช่นปัจจุบัน คำว่า “พส.” ซึ่งเดิมแปลว่าพี่สาวนั้น ปัจจุบัน พส. หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ 2 รูป คือ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต (นครไธสง) ดังนั้นการพาดหัวข่าวด้วยประโยคที่ว่า “2พส.เข้าสภาฯ” ผู้อ่านทีทันสมัยและไม่ตกเทรนด์ จะรู้ได้ทันทีว่า “2พส.” ก็คือ พระ 2 รูปนี้เท่านั้น จะเป็นรูปอื่นไปไม่ได้ แต่หากสื่อฯ พาดหัวว่า “พระ 2 รูป” ก็จะไม่มีใครรู้ว่า คือ พระรูปไหน
“สแลง เป็นคำของยุคสมัยที่เราหลีกเลี่ยงได้ยากในการที่จะไม่ใช้รายงานข่าว แต่ก็ต้องระวัง ต้องใช้เท่าที่จำเป็น ใช้ให้ตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด และต้องเป็นคำที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ สแลงหลายคำนำมาใช้กับงานสื่อฯ ไม่ได้ การใช้สแลงทุกวันนี้ไม่มีใครชี้นำใครได้ หรือจะกำหนดให้คนนั้นคนนี้ใช้ตามที่ตัวเองคิดขึ้นมาไม่ได้ สแลงบางคำที่ใช้กันอยู่ ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน แต่ถ้าสามารถสะท้อนอารมณ์ของสังคมในขณะนั้นได้ สแลง ก็จะกลายเป็นคำยอดนิยมได้เช่นกัน” นายไพศาล กล่าว