นักวิชาการ-คนสื่อ ชี้ การนำเสนอข่าว “ผกก. โจ้” ทำให้สังคมไทยได้รู้ไส้ในตำรวจว่า ระบบซ้อมผู้ต้องหาไม่ใช่แค่เรื่องเล่าหรือตำนาน แต่ทุกอย่างมีอยู่จริงและยังทำกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไล่ตั้งแต่นายดาบรอเกษียณไปจนถึงสิบตรีจบใหม่ ทั้งที่นายกฯ เคยบอกว่า จะ “ปฏิรูปสีกากี”
28 ส.ค. 2564 ผศ. ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “สังคมไทย ได้อะไรจากการนำเสนอข่าว ผกก. สภ. เมืองนครสวรรค์” กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้การนำของ พ. ต. อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล รวม 7 นาย ใช้วิธีการสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถึงแก่ความตายว่า
จากการติดตามรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของสื่อต่างๆ ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ประเทศไทยยังคงมีระบบการซ้อม-ทรมานผู้ต้องหาอยู่ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อในกลุ่มออนไลน์ รวมทั้ง ผู้มีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดีย (influencer) ก็จะพบว่า มีการนำเสนอแบบเร้าอารมณ์ และเน้นเรื่องเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่เหตุการณ์ มีการผลิตซ้ำเนื้อหาตามกระแสความเชื่อ และพิจารณาเพียงรูปลักษณ์ภายนอก (ของ ผกก. โจ้) จนทำให้เกิดเป็นกระแสติด แฮชแท็ก เซฟ ผกก. โจ้ ในทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นการสื่อสารที่ไม่ต่างจากนักเลงคีย์บอร์ดโดยทั่วไป
“เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานของสื่อหลักอย่างมากว่า เราจะวิ่งตามกระแสของ influencer หรือเชื่อ algorithm และดันเนื้อหาไปตามกระแสเหล่านี้ ซึ่งก็ต้องย้ำว่า การนำเสนอข่าวของสื่อหลักไม่จำเป็นต้องนำเสนอตามกระแส หรือนำเสนอเพียงประเด็นที่ตื้นเขินเท่านั้น แต่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นกระแสให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ และอยากฝากถึงสื่อบางราย ที่นำคลิปวิดีโอที่ผู้ต้องหาถูกซ้อมไปให้ผู้สูงอายุดู เพื่อนำภาพปฏิกิริยาของผู้สูงอายุที่ได้ดูคลิปนำเสนอเป็นข่าวนั้น ถือเป็นความโหดร้ายมาก และก็ทำให้สื่อถูกตั้งคำถามกลับมาเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่แค่การถามหาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่เป็นการถามหาหัวใจของความเป็นมนุษย์”
ผศ. ดร. เอื้อจิตร กล่าวต่อไปว่า การนำเสอนข่าวนี้ของสื่อ ยังทำให้สังคมไทยได้รับรู้ ถึงกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในคดียาเสพติด เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสอบสวนขยายผลจากผู้ต้องหาได้เป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่จะทำบันทึกการจับกุม นอกจากนี้การนำเสนอข่าว ผกก. โจ้ ยังเป็นการสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ตั้งแต่ความซับซ้อนของวงการตำรวจที่เคยเป็นเพียงเรื่องเล่าขานต่อ ๆ กันมา รวมทั้งการประกอบอาชีพจากสินบนนำจับรถยนต์หนีภาษีของกรมศุลกากร ตลอดจนวิธีการการระบุสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลตามหลักนิติเวชที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น เพียงแต่ต้นทางที่สำคัญคือ ตำรวจ ที่เป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูป ของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เข้าบริหารประเทศว่า วันนี้ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งก็ต้องฝากสื่อมวลชนไปสอบถามให้ด้วย
ด้าน นายนพปฎล รัตนพันธ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และรักษาการหัวหน้าข่าวอาชญากรรมชุมชนเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวนี้ทำให้สังคมได้เห็นภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกมุมหนึ่งที่เคยได้ยินกันมาตั้งแต่ 10 – 20 ปีที่แล้วว่า มีการทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ กระทั่งเกิดการผลักดันไม่ให้ตำรวจใช้วิธีนี้อีก แต่ปรากฏว่า วันนี้เรื่องการทรมานผู้ต้องหาก็ยังมีอยู่ และมีอยู่ในตำรวจทุกช่วงอายุ เช่น ตำรวจในทีม ผกก. โจ้ ทั้ง 7 คน ซึ่งมีอายุที่หลากหลายคือ มีทั้งตำรวจใกล้เกษียณ และตำรวจรุ่นใหม่ อีกทั้งยังอยู่ในโรงพักเกรดเอ ก็ร่วมกันใช้วิธีการนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า แม้เป็นจะตำรวจรุ่นใหม่ซึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังใช้วิธีการแบบเดิม ๆ อยู่ ดังนั้นหากตำรวจต้องการให้ประชาชนศรัทธา ก็ต้องทำอะไรที่เปิดเผยและโปร่งใสมากกว่านี้
ส่วนกรณีที่มีผู้ส่งคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นขณะที่ทีม ผกก. โจ้ กำลังรีดฯ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและนำ มาซึ่งการเสียชีวิตของผู้ต้องหาไปให้ทนายความ แทนที่จะส่งให้สื่อฯ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ส่งคลิปไม่เชื่อใจหรือไม่ไว้ใจสื่อ แต่เป็นเพราะการส่งคลิปในลักษณะนี้ให้กับสื่อนั้น สื่อก็มีขั้นตอนในการตรวจสอบ และต้องใช้เวลาในการสืบค้นเพิ่มเติม รวมทั้งต้องพิสูจน์ทราบ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่า จะสามารถนำเสนอได้หรือไม่ เนื่องจากสื่อมีข้อปฏิบัติในเรื่อง จรรยาบรรณ เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ที่เขาตัดสินใจส่งให้ทนายความก็น่าจะเป็นเพราะหวังผล คือ หวังว่า ปล่อยโครมเดียวผู้คนต้องตะลึงกันทั้งประเทศ ซึ่งก็ได้ผลจริง ๆ ตรงนี้จึงอยากทำความเข้าใจว่า การเผยแพร่คลิปแบบนี้ สื่อหลักไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่า เป็นการละเมิดจรรยาบรรณของสื่ออย่างร้ายแรง”
ขณะที่นายอิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ หัวหน้าโต๊ะข่าว รายงานสถานการณ์สด สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า การสื่อสารในกรณีนี้ อย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยได้รับรู้อะไรมากขึ้นกว่าเดิม คือ จากเดิมที่รู้ว่ามีการกระทำแบบนี้อยู่ แต่ไม่เคยถูกนำออกมาตีแผ่และเป็นสิ่งที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ แต่เมื่อสื่อนำเสนออย่างจริงจัง ก็ทำให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมาก
“ถ้าถามว่า ภาพการทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติด จะมีผลทำให้ผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้ที่กำลังคิดจะค้าฯ เกิดความเกรงกลัวหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ และยิ่งเขารู้ว่า ตำรวจมีวิธีการแบบนี้ พวกเขาก็จะหาวิธีการที่เหนือชั้นกว่าตำรวจขึ้นไปอีก ที่น่าสนใจคือ ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดที่ถูกตำรวจจับ และถูกนำไปรีด หรือมีข่าวว่าถูกทรมานนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงรายย่อย อย่างผู้ต้องหาของทีม ผกก. โจ้ ที่เสียชีวิตนั้น ตำรวจก็บอกเองว่า ผู้ต้องหามียาไอซ์อยู่ในตัวเพียงแค่ 3 กรัมในขณะที่เข้าจับกุม”
ฟังรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ย้อนหลัง