รัฐฯ ต้องแก้ “กม. ปิดปากสื่อ/ประชาชน” เหตุขัด ม. 35 แห่ง รธน. ปี’ 60 มาตรฐานการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่อยู่ตรงไหน อินฟลูเอนเซอร์/จิตอาสา จะกล้ารายงาน “เรื่องจริง” อีกหรือไม่ ศรัทธาและความเชื่อมั่นของรัฐบาล จะเพิ่มขึ้นได้อย่างไรภายใต้สถานการณ์นี้
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่1 ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ระบุไว้ชัดเจนว่าสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ คือการเสนอข่าวอย่างครบถ้วนถูกต้องรอบด้าน การที่รัฐบาลออกประกาศควบคุมสื่ออย่างชัดเจนในครั้งนี้ โดยส่วนแล้วไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินไป
โดยเฉพาะที่ระบุว่าห้ามลงข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม ซึ่งก็มีคำถามตามมา เพราะความกลัวของมนุษย์ไม่เท่ากัน เช่น การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) ที่สูงถึง 1.7 หมื่นรายนั้น บางคนกลัว บางคนไม่กลัว จึงทำให้ลำบากในการทำงาน และไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่า ดีกรีความหวาดกลัวเป็นอย่างไร
“ประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ. 2548 เป็นประกาศที่คลุมเครือและมัดมือชก แม้จะบอกว่า ออกมาเพื่อหวังปราบ เฟคนิวส์ แต่ก็กระเทือนคนที่เสนอข่าวด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ซึ่งรัฐต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า องค์ประกอบของเฟคนิวส์นั้น มีอยู่ 3 อย่างคือ 1. ข้อมูลบิดเบือน 2. ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และ 3. เป็นข้อมูลเท็จ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลคิดผิดไปแล้วก็สามารถคิดใหม่ได้ ประกาศผิดก็ประกาศใหม่เขียนให้ชัดเจน”
นอกจากนี้ นายมานิจ ยังได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่า เป็นเรื่องอันตรายเนื่องจากมาตรฐานของเจ้าหน้าที่แต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นหากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับประกาศฉบับนี้ไปถึงศาลก็แนะนำว่าควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งเช่นนี้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะกฎหมายรอง จะไปยกเว้นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไม่ได้
ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในรายการเดียวกันว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินปี 2548 นั้น เป็นความพยายามของภาครัฐในการบริหารจัดการความจริง นอกจากบริหารจัดการเฉพาะโควิด-19 พร้อมทั้งมีการตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น คือประเด็นทางกฎหมาย และประเด็นทางเทคนิค โดยเฉพาะการ “ตัดคำ” ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 ออกไปจากคำสั่งนี้ แล้วเน้นถึงเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร “ที่อาจจะตีความ” ได้ว่าเป็นการบิดเบือนสร้างความหวาดกลัวและ/หรือ สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตีความเอาผิดกับผู้ที่นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบ ซึ่ง (ณ วันที่มีคำสั่ง) ก็ยังไม่รู้ว่าคือใคร แต่ตามหน้าที่สุดท้ายได้กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งต่ออำนาจไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Providers : ISP) ดำเนินการตรวจสอบว่าใครโพสต์อะไร จากนั้นก็กำหนดให้ ISP ต้องส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทย มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่ระบุให้อำนาจในการปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและ/หรือ สร้างความตื่นตระหนก รวมทั้งเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงในมาตรา 14 อยู่แล้ว
“ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ในการตีความว่า ข้อมูลข่าวสารอันไหนที่เขาจะบอกว่า เผยแพร่ออกไปแล้วสร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แม้ว่า ข้อมูลข่าวสารนั้นจะเป็นเรื่องจริง ตรงนี้สังคมก็คงมีคำถามว่า มาตรฐานอยู่ตรงไหน”
ศ. ดร. พิรงรอง กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสังคมไทย มีผู้ที่อยู่หน้างาน มีกลุ่มจิตอาสาที่คอยเฝ้าระวังและเป็นหูเป็นตาควบคู่ไปกับสื่อ ก็อาจจะเกิดอาการเกร็ง ไม่อยากพูด ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณของบรรดาจิตอาสาสั่นคลอน หรือความไว้เนื้อเชื่อใจและความศรัทธาของสาธารณะที่มีต่อผู้มีอำนาจทางนโยบาย ก็จะหายไป จากผลของการที่รัฐออกกฎข้อบังคับแบบนี้เหมือนประกาศศึก ประกาศเป็นศัตรู
ดังนั้นในระยะอันสั้นนี้รัฐบาลควรยกเลิกประกาศดังกล่าว เนื่องจากขัดกับหลักธรรมาภิบาลทั้งหมด ส่วนระยะกลาง ระยะยาว ก็คือการให้ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชนผู้ใช้สื่อได้รู้เท่าทันสื่อและมีความสามารถในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งต่อเนื่องในเรื่องการกำกับดูแลตัวเองทั้งระดับของสื่อและผู้ใช้สื่อ
ขณะที่ นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว The Standard กล่าวในวงเสวนา “หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน” ซึ่งจัดโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับประกาศ ฉบับที่ 27 (ข้อ 11) ที่ออกตามความใน ม. 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และก่อนหน้าที่ รัฐบาลจะออกประกาศฉบับที่ 29 ซ้ำออกมาอีก เพียง 1 วัน กล่าวในวงเสวนาว่า
การที่รัฐออกคำเตือนในลักษณะนี้ ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความพยายามที่จะกดหรือพยายามข่มขู่ทั้งสื่อและผู้ออกมาให้ความเห็นในทางตรงข้ามกับรัฐบาล หรือสิ่งที่ทำให้เกิดภาพลบต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีการทางทหารหรือเผด็จการที่พยายามทำให้ประชาชนเชื่อฟังข้อมูลจากฝั่งตัวเองเพียงอย่างเดียว หรือฝั่งภาครัฐอย่างเดียว เพราะการควบคุมข้อมูลข้อเท็จจริงได้คือ ความสามารถสั่งการหรือทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือต่อตัวผู้สั่งจากการที่ไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือไม่จริง ตัวอย่างเช่น ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ปธน. ทรัมป์ ใช้วิธีการ “ตราหน้าสื่อ” ที่เสนอข่าวเชิงลบต่อรัฐบาลว่าเป็นเฟคนิวส์
“สื่อไม่ได้มีหน้าที่ ที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับรัฐบาลเสมอไป เพราะรัฐบาลมีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้ แต่สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถามว่าเพื่อใคร ก็เพื่อประชาชน และจะเห็นได้ว่า การที่หลายสื่อนำเสนอ แล้วข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น ก็เพราะวิกฤตจริง ๆ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการรายงานก็อยู่บนพื้นฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณทั้งหมด ไม่ได้นำเสนอความเห็นที่ผิดแผก หรือตั้งใจจะโจมตี”
นายนครินทร์ ยังกล่าวอีกว่า เฟคนิวส์ คือคำหลอกลวงที่เกิดจากเจตนา ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารที่ผิดพลาดในทางวารสารศาสตร์ เนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นอาจจะผิดพลาดได้ และมีการแก้ไขรวมทั้งยอมรับความผิดพลาดมาโดยตลอด แต่สิ่งที่นายกฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นแง่ลบต่อรัฐบาลคือเฟคนิวส์ และยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ออกมาระบุว่า อะไรก็ตามที่นำเสนอในลักษณะนี้จะตีความว่าเป็นเฟคนิวส์ ซึ่งหมายความว่า DES จะใช้คำว่าเฟคนิวส์เป็นเครื่องมือในการโจมตีคนที่เห็นต่าง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง อินฟลูเอนเซอร์ หรือประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีความเข้าใจบริบทของการสื่อสาร ก็จะเกิดความเกรงกลัว และไม่กล้าออกมาพูดอีกต่อไป
ฟังรายการวิทยุย้อนหลัง ได้ที่
https://www.facebook.com/1485992901622232/posts/3027414360813404/
https://www.facebook.com/1485992901622232/posts/3027424564145717/