สภาวิชาชีพฯ แจง บทบาท-หน้าที่ชัดเจน พร้อมขอบคุณ “ก้อนอิฐและดอกไม้” ที่จัดมาให้ ด้านนักวิชาการแนะ “6 องค์กรสื่อ” ต้องแอคชั่นให้ชัดเจนมากกว่าออกแถลงการณ์ ขณะที่ “กิตติ สิงหาปัด” พูดชัด “สื่อไม่ใช่โจร” อย่านำไปเปรียบเทียบ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิก ประกาศฉบับที่ 27
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. จากกรณี 6 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ถูกตั้งคำถามถึงการทำงาน ภายหลังเจ้าของสื่อออนไลน์จำนวนหนึ่ง ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ประกาศฉบับที่ 29 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับดังกล่าว และศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รวมทั้ง พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวไปแล้ว ว่า
บทบาทหน้าที่ของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ถูกกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ซึ่งถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันไว้อย่างชัดเจน คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรม และประเด็นการละเมิดของสื่อ ขณะที่อีก 4 องค์กร ก็จะมีบทบาทในการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อฯ แต่เนื่องจากประกาศฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องใหญ่และกระทบต่อการทำงานของสื่อฯ ดังนั้น 6 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ จึงต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากการออกแถลงการณ์ร่วมกันแล้ว ก็ยังได้จัดเสวนาเพื่อให้ความรู้กับสื่อต่างๆ และกับประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย
“ขอบคุณหลายๆ ท่าน ที่ให้คำแนะนำที่แม้จะแรงไปบ้างแต่ก็ขอบคุณ และขอบคุณผู้ที่ส่งกำลังใจมาให้ แต่อยากจะบอกว่า บุคลากรใน 6 องค์กรวิชาชีพ ก็คือ คนสื่อที่เข้ามาทำงานแบบผู้เสียสละ เข้ามาแบบจิตอาสา ไม่มีเงินเดือนจะมีค่าเดินทางแต่ก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการเสียสละ เพราะทุกคนมีงานประจำ แต่ตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง ดังนั้นที่ผ่านมาพวกเราทุกคนจึงทำงานในบทบาทของเราอย่างเต็มที่ ถูกตำหนิบ้างได้รับคำชมบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่อยากให้เข้าใจงานของเรา และบทบาทของแต่ละองค์กรของพวกเราเท่านั้น”
นายชวรงค์ ยังได้กล่าวชื่นชม พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจยกเลิกประกาศฉบับที่ 29 แต่ฉบับที่ 27 ยังอยู่ และเนื้อหาในข้อ 11 ของประกาศฉบับที่ 27 ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากประกาศฉบับที่ 29 ดังนั้นเพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้โดยไม่ต้องกังวล ไม่ต้องหวาดกลัว จึงขอให้รัฐบาลยกเลิก ข้อ 11 ในประกาศฉบับที่ 27 โดยไม่ได้ขอให้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 27 ทั้งฉบับ แต่ขอให้ยกเลิกเฉพาะข้อ 11 เท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่ยกเลิก ก็คงต้องมีคำถามว่า ข้อ 11 ของประกาศฉบับที่ 27 มีนัยอะไรซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่
ด้าน ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า นอกจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแล้ว เทคโนโลยียังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนสภาพของสื่ออีกด้วย เจ้าของสื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอเพื่อไม่ให้ถูกถอดถอนโฆษณา ขณะที่สื่อออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับพฤติกรรมผู้บริโภคทีนิยมเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น และมีบทบาทมากขึ้น จึงไม่แปลกใจ ที่คนรุ่นใหม่ที่ทำสื่อออนไลน์ จะไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อขอให้มีการคุ้มครองไม่ให้ประกาศฉบับที่ 29 มีผลใช้บังคับ
“แต่จริงๆ แล้ว หลายคนคาดหวังว่า องค์กรวิชาชีพจะไปยื่นฟ้องฉบับที่ 27 อีกฉบับด้วยซ้ำ โดยสังคมเองก็จับจ้องและมองเปรียบเทียบกันอยู่ ระหว่างองค์กรสื่อกับสื่อออนไลน์ ฉะนั้นองค์กรสื่อต้องปรับตัว พูดให้ชัดก็คือ ภาพรวมขององค์กรวิชาชีพสื่อจะขับเคลื่อนอย่างไร เรื่องความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะเป็นแบบไหน อะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ต้องบอกให้สาธารณชนได้รับรู้ ส่วนจะเทคแอคชั่นเรื่องอะไร มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ข้อเรียกร้องของคนทำงาน ข้อเรียกร้องของสังคม แต่องค์กรสื่อต้องแอคชั่นให้ชัดเจน มากกว่าการออกแถลงการณ์”
ดร.มานะ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลมีหลากหลาย แต่ความหลากหลายอาจจะทำให้ดูโกลาหล ดูไม่เป็นเอกภาพ แต่ก็เป็นเรื่องปกติของสภาพสังคมที่ข้อมูลมีความหลากหลายให้ประชาชนได้เลือกรับ และบางคนก็เลือกเสพเฉพาะที่ตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง และในยุคที่ข้อมูลไหลบ่าถาโถมอย่างในปัจจุบัน คงไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาชนรู้เท่าทันสื่อหรือไม่ เพราะบางครั้งประชาชนอาจจะรู้มากกว่าสื่อ จึงมีหลายแง่มุมที่สื่อและประชาชนจะต้องพัฒนาและเรียนรู้ไปด้วยกัน และต้องระลึกไว้เสมอว่า เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
ขณะที่นายกิตติ สิงหาปัด พิธีกรรายการข่าวสามมิติ กล่าวบนเวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อเรื่อง “หยุดอ้างข่าวปลอมหยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ- ประชาชน” เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ว่า ไม่ทราบเจตนาของผู้ที่ออกประกาศควบคุมสื่อ (ฉบับที่ 27) ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่โดยส่วนตัว คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องออกประกาศ ทั้งยังเป็นการออกโดยไม่แยกแยะ หลายเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงความคิดในใจลึกๆ ของผู้มีอำนาจในรัฐบาล และนำไปสู่การตีความกลั่นแกล้งกันได้ โดยเฉพาะเมื่อมีคำว่า กระทบกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหากมีคำ ๆ นี้ ก็จะต้องมีผู้ตกเป็นเหยื่อ จึงเห็นด้วยกับการที่ 6 องค์กรสื่อออกแถลงการณ์คัดค้าน และยังคงต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ให้ชัด
“มีคนบอกว่า เขาออกกฎหมายมาจับโจร ใครไม่ใช่โจรก็อยู่เฉย ๆ การพูดแบบนี้แสดงว่า ผู้พูดไม่เข้าใจจิตวิญญาณของคนทำสื่อ ผมอยากจะบอกว่า สื่อเป็นอาชีพเฉพาะที่มีกรอบจริยธรรม นักข่าวไม่ใช่โจร ดังนั้นจะเอานักข่าวไปเปรียบเทียบกับโจรไม่ได้ และถ้าเปรียบเทียบแบบนี้ ก็แสดงว่า รัฐบาลมองเห็นหน้าคนที่โจมตีรัฐบาลแล้ว แต่กลับออกประกาศมาคลุมหมด ซึ่งถือว่าผิด เราเป็นสื่อ เราหวงแหนความน่าเชื่อถือ เราไม่หากินกับเฟคนิวส์ ผมจึงอยากให้รัฐบาลหรือใครก็ตามที่ออกสิ่งเหล่านี้มา ได้มีการทบทวนให้เข้าใจจิตวิญญาณของสื่อฯ อย่าเอาคนทำสื่อโดยสุจริต ไปปะปนกับคนที่คุณมองเห็นหน้าเขาว่า เขาโจมตีคุณ ซึ่งเป็นคนละพวก คนละกลุ่ม คนละวิชาชีพ และคนละแนว”
นายกิตติ กล่าวต่อว่า สื่อไม่ได้เป็นคู่กรณีกับรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร สื่อก็ทำงานของตัวเอง บทบาทของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิกฤตหรือไม่ สื่อก็รายงานข่าวแบบรับผิดชอบ เฟคนิวส์ไม่ใช่ทางของสื่อ สื่อไม่ได้หากินกับดราม่า ไม่ได้เพิ่มสีสัน โดยสื่อจะปล่อยให้ความจริงพูดด้วยตัวเอง แต่ในภาวะโรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ มีความจริงหลายชุด หลายงานวิจัยที่ยังไม่สิ้นสุด บางคนบอกระบบสาธารณสุขล่มสลาย บางคนบอกหมอทำงานช้า ก็ต้องสู้กันต้องตีความกัน แต่การตีความตามข้อ 11 ของประกาศฉบับที่ 27 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะเป็นปัญหากับประชาชนทั่ว ๆ ไป รวมทั้งกับใครก็ตามที่พยายามนำเสนอความจริง
ฟังรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ย้อนหลัง