รัฐบาลมองสื่อเป็นศัตรู “กม.ปิดปาก” ถ้อยคำกำกวม หวั่น จนท.ตีความทิพย์ ใช้อำนาจกระทบสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของ ปชช. พร้อมสอนหลักการ “จับโป๊ะเฟคนิวส์” ด้านนักวิชาการตั้งคำถาม เสนอข่าวในภาวะฉุกเฉินเพื่อดับวิกฤต หรือต้องการทำให้สถานการณ์แย่ลง
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการใหญ่เนชั่นทีวี กล่าวผ่านรายการรู้ทันสื่อกับสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ สถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 นั้น เป็นประกาศที่ใช้ถ้อยคำกำกวม และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณในลักษณะที่กว้างเกินไป จึงมีความกังวลว่าอาจจจะเกิดการตีความทิพย์
ทั้งนี้เข้าใจว่ารัฐต้องการปรามผู้ที่ให้ร้ายผู้อื่น แต่ต้องถือว่า เป็นหลักคิดที่มองสื่อเป็นศัตรูซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากความสับสนในสังคมที่ผ่านมา เกิดจากการสื่อสารของภาครัฐที่สับสน คือต่างคนต่างให้ข้อมูลท่ามกลางความกังวลของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยิ่งทำให้เกิดความอลหม่าน หรือสื่อภาครัฐอย่าง NBT ก็ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดการแถลงข่าว แต่ไม่ได้ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
“การที่ภาครัฐ หรือที่ปรึกษาทางด้านสื่อ มองสื่อเป็นศัตรู เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริง ตรวจสอบอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหากรัฐนำเสนอความจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน และพร้อมให้ข้อมูลตลอดเวลา สื่อก็ไม่ต้องไปแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงจากที่อื่น แต่ที่ผ่านมา เรื่องวัคซีนและมาตรการต่างๆ สับสนไปหมด รัฐมุ่งแต่ออกกฎหมายมาเล่นงาน แต่ไม่ค่อยได้ทำความเข้าใจ ดังนั้นต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้น และไม่อยากให้มองว่า สื่อเป็นศัตรู และการนำเสนอของสื่อ ก็ผิดพลาดได้ แต่รัฐก็สามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ ไม่ใช่ข่าวไม่ถูกใจ ก็ประจาน บอกว่า เป็นเฟคนิวส์ ซึ่งเฟคนิวส์ กับข่าวไม่ถูกนั้น ความหมายต่างกันอย่างชัดเจน”
นายอดิศักดิ์ ยังได้แนะนำการแก้ปัญหาเฟคนิวส์ให้กับรัฐบาล พร้อมยกตัวอย่างกรณีคลิปของชายคนหนึ่งที่นอนดิ้นอยู่ริมถนน ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลชี้แจงว่า เป็นคนเร่ร่อน หรือรับจ้างมาสร้างสถานการณ์เพื่อดิสเครดิตรัฐบาลนั้น สามารถตรวจสอบความจริงได้ด้วยการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบบุคคลดังกล่าวได้โดยตรง แต่กลับออกมากล่าวหาสื่อ รวมทั้งกรณีที่กล่าวหาสื่อว่า พยายามด้อยค่าวัคซีนบางยี่ห้อ ที่ไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ ฯลฯ เป็นต้น
“ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ใช้เฉพาะแต่กับสื่อเท่านั้น แต่ยังใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป ที่อาจเกิดการหวาดกลัว กระทั่งไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จริง ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะหากรัฐบาลไม่ยอมให้ประชาชนหรือสื่อพูดความจริง ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ปัญหาก็จะร้ายแรงมากกว่าเดิม จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว”
ทางด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประเทศไทยมี พรก. ฉุกเฉินฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจตาม พรก. ฉุกเฉินฯ จะออกข้อกำหนดตามมา และหากสื่อมวลชนต้องการคัดค้าน ก็ควรต้องคัดค้านตั้งแต่ก่อนที่จะมีการออก พรก. ฉุกเฉิน หรือหากมองว่า โควิด-19 ที่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง และกำลังระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เป็นสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศ 2 ฉบับที่ว่า
ในช่วงเวลาปกติหน่วยงานภาครัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุข ไม่จำเป็นต้องแถลงข่าว แต่เมื่อเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤตต้องเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการ และสิ่งที่สื่อต้องตั้งรับในสถานการณ์นี้ คือ ข้อมูลต้องมาจากหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้สื่อยังต้องทำความเข้าใจและต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่า นอกจากงานสื่อสารภายใต้สถานการณ์วิกฤตแล้ว ภาครัฐยังมีหน้าที่ควบคุมความแตกตื่น การตื่นตระหนกอีกด้วย ดังนั้นการให้ข่าวในบางประเด็น จึงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยอมรับได้ เพราะความจริงบางเรื่อง ต้องรอเวลาเพื่อสื่อสารออกไป ต้องรอความพร้อมของประชาชน และรอความพร้อมฝ่ายปฏิบัติงาน
“ผมไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐ แต่ข้อมูลบางอย่างถึงจะเป็นความจริง แต่บางครั้งความจริงก็สามารถรอได้ สถานการณ์ฉุกเฉิน คือการบริหารจิตวิทยามวลชน ความโกลาหล ความวุ่นวาย ทรัพยากรต่างๆ ขณะที่สื่อมวลชนบริหารบนเรตติ้ง บนความรวดเร็ว แต่รัฐไม่ได้บริหารบนความรวดเร็วอย่างเดียว เรื่องพวกนี้เป็นการรายงานข่าว เป็นข่าวที่ยืนอยู่บนหลักการบริหารจัดการ และสื่อคงต้องถามตัวเอง การเสนอข่าวในภาวะฉุกเฉิน เราจะนำเสนอเพื่อดับวิกฤต หรือจะนำเสนอเพื่อทำให้สถานการณ์แย่ลง ดังนั้นประกาศ 2 ฉบับนี้ แม้จะมีผลทำให้สื่อเกิดความเกร็งในการนำเสนอข่าว แต่สื่อคงไม่ได้สูญเสียศักดิ์ศรี เกียรติยศ และมาตรฐานวิชาชีพ ที่สำคัญคือ แค่ประกาศเพียง 2 ฉบับ คงไม่คณามือสื่ออย่างแน่นอน”
ดร.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าว และผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “Chilling Effects: สายลมแห่งความกลัวจาก พรก. ฉุกเฉินมีจริงไหม?” ที่จัดโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ซึ่งพอสรุปได้ว่า
การระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะที่ไม่ปกติ โดยได้สร้างความสับสน โกลาหล และความไม่แน่ใจของผู้คน ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่าย ทำให้การสื่อสารมีความหลากหลายและมีเฟคนิวส์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นปัญหาเหมือนกันทั่วโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับของรัฐบาล โดยเฉพาะการย้ำว่า ห้ามนำเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือบิดเบือนข่าวสาร พร้อมกับให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งที่เป็นข่าวที่สื่อนำเสนออย่างตรงไปตรงมา
“การให้นิยามเช่นนี้ ถือเป็นอาวุธของภาครัฐ ในการจัดการภายใต้ พรก. ฉุกเฉินเช่นนั้นหรือ และขอถามอีกว่า หน่วยงานภาครัฐที่กุมข้อมูลอยู่ มีการเปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีเพียงการบอกแค่ตัวเลขเชิงสถิติ แต่ไม่อธิบายข้อมูลในเชิงลึก ตลอดจนเรื่องนโยบายในการตัดสินใจต่างๆ ไม่มีการสื่อสารแบบรวมศูนย์ในเรื่องเหล่านี้จากภาครัฐ สื่อก็จึงทำต้องพยายามหาข้อมูล จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นถึงความโกลาหลของข้อมูลซึ่งอาจจะเกิดความผิดพลาดได้บ้างซึ่งสื่อก็พร้อมแก้ไข แต่ในส่วนของประชาชนนั้น หากมีการส่งต่อข้อมูลที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรณีนี้อยากจะถามกระทรวงดีอีเอส หรือภาครัฐว่า จะให้นิยามตรงนี้อย่างไร เพราะถ้าไม่ชัดเจน ก็จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายเกินขอบข่ายอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น” ดร.ณัฎฐา กล่าวในที่สุด
อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้รัฐใช้ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ล็อก IP Address ของผู้นำเสนอ และ/หรือ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หากแต่รายละเอียดของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) โดยเฉพาะมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน 11 ที่ครอบคลุมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวจริงและข้อมูลจริง ยังไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด