“เลขาฯ สภาการสื่อมวลชนฯ” แจง 6 องค์กรร่วมแถลงการณ์ หวังให้รัฐทบทวนการคุมสื่อ ตามประกาศฉบับ 10 ก.ค.64 เผย มีที่ไหนนำเสนอเรื่องจริงกลับมีโอกาสติดคุก แถมเล่นงานได้โดยไม่ต้องเตือนล่วงหน้า ด้านนักวิชาการแนะ อยากได้ความร่วมมือต้องพูดคุย กฎหมายช่วยไม่ได้
นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชน” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสทม. เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 ว่า จากการที่รัฐบาลได้ออกประกาศใช้ข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 นั้น ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกและเข้าใจได้ เพราะไม่ได้เป็นครั้งแรกที่รัฐพยายามเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อฯ ในลักษณะนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ รายละเอียดในข้อ 11 ของประกาศฉบับนี้ มีประเด็นและมีข้อแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำไปเทียบกับเนื้อหาในข้อ 6 ของประกาศฯ ที่ออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid-19 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563
โดยประกาศฉบับวันที่ 25 มี.ค.2563 ได้ระบุความรับผิดชอบของสื่อฯ ไว้ในข้อ 6 อย่างชัดเจนว่า “ห้ามนำเสนอข่าว…..ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อันไม่เป็นความจริง” ซึ่งประโยคที่ว่า “อันไม่เป็นความจริง” ก็คือ “ข่าวปลอม” และตามปกติแล้ว ผู้ที่นำเสนอข่าวปลอมก็ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว แต่ประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 กลับไม่มีประโยค “อันไม่เป็นความจริง” ระบุไว้ ซึ่งหมายความว่า ภายใต้ข้อบังคับแห่งประกาศฉบับวันที่ 10 ก.ค.2564 นั้น แม้สื่อฯ หรือประชาชนทั่วไป จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง แต่ถ้าความจริงที่นำเสนอไปนั้น รัฐบาลพิจารณาแล้วสรุปว่า เป็นความจริงที่สร้างความตื่นตระหนก หรือสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน สื่อ และ/หรือ ประชาชนที่เสนอความจริง ก็ต้องมีความผิด
นอกจากนี้ ในสาระสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่เคยระบุไว้ในประกาศเมื่อ 25 มี.ค. 2563 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศฯ ต้อง “ตักเตือน ระงับ หรือสั่งให้แก้ไข” ข้อมูลข่าวสารอันไม่เป็นความจริง หรือข่าวปลอม ที่เกิดขึ้น ให้ถูกต้อง หรือต้องสั่งแก้ไข หรือต้องสั่งระงับการนำเสนอนั้น กลับไม่มีระบุไว้ในประกาศฉบับวันที่ 10 ก.ค.2564 ซึ่งก็หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าดำเนินการอย่างใดๆ กับสื่อฯ และ/หรือ ประชาชนที่นำเสนอความจริง ได้ทันทีโดยไม่ต้องเตือนล่วงหน้า ซึ่งออกจะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย
“ประกาศฉบับนี้ เขียนข้อกำหนดไว้กว้างเกินไป จึงค่อนข้างกระทบกับการทำงานของสื่อมวลชน และกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ซึ่ง 6 องค์กรสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงากลางสื่อมวลชนไทย ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลจะนำข้อห่วงใยรวมทั้งข้อเสนอแนะ ไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุง หรือชี้แจงเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของสื่อซึ่งทำหน้าที่สื่อสารตามกรอบจริยธรรม รวมทั้งประชาชนที่สื่อสารด้วยความสุจริต” เลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว
ทางด้าน ผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา กรรมการบริหารหลักสูตร นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สื่อมวลชนจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอบางอย่าง แต่ประกาศฉบับวันที่ 10 ก.ค.2564 มีประเด็นว่า หากสื่อนำเสนอบางอย่างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่เมื่อนำเสนอแล้วเกิดความหวาดกลัว หรือทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ก็อาจจะมีความผิดได้นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและหารือสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐกับสื่อมวลชน เพื่อหาข้อยุติและหาจุดร่วมในการทำงานด้วยกัน
“พอเข้าใจได้ว่า ในบางประเด็น ภาครัฐก็ต้องการควบคุมการทำงานของสื่อ แต่อาจจะลืมคิดไปว่า คำว่าสื่อในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่สื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ยังมีสื่ออื่นๆ ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูปเบอร์ และประชาชนทั่วไปที่เป็นสื่อบุคคล และภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการสื่อสารเช่นกัน ประกาศที่ออกมาจึงถูกมองว่า ออกมาเพื่อควบคุม “สื่อมวลชน” ที่เป็นสื่อกระแสหลัก แต่ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงสื่ออื่นๆ ได้ ดังนั้นหากภาครัฐต้องการความร่วมมือในการสื่อสารที่ดี ก็ควรใช้การพูดคุย สร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนสื่อมวลชน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ตัวแทนภาคประชาชน รวมถึงผู้แทนสื่อใหม่ หรือนิวส์ มีเดีย ความรู้สึกที่ว่า กำลังถูกสั่ง หรือถูกก้าวก่ายการทำงานก็จะลดลง”
ผศ.ดร.ประกายกาวิล ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สื่อมวลชนอขงไทย ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างเต็มที่ โดยพยายามนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้อย่างจริงจัง และมีความพยายามในการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งกรณีที่บริษัทรับประกันภัยโควิด ประกาศยกเลิกกรมธรรม์อย่างไม่เป็นธรรม สื่อก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองค่อนข้างดี โดยเฉพาะในการปลุกกระแสที่เกิดจากการนำเสนอ กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกมาแสดงบทบาท และประชาชนเกิดการตื่นตัว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประกาศฉบับนี้ออกมาและอาจจะคิดว่าเป็นอุปสรรค แต่สื่อก็ยังคงต้องทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อต่อไป
ฟังรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ย้อนหลัง
วันเสาร์ที่ 17 ก.ค. 2564 ได้ที่ >> คลิ๊ก