คณะอนุฯ วิชาการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนาทิศทางการเรียนการสอนกฎหมายและจริยธรรม ระดมนักวิชาการ-นักวิชาชีพ 23 องค์กรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์วางแนวทางการเรียนรู้ในสื่อยุคหลอมรวม
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้จัดโครงการเสวนาทิศทางการเรียนการสอนกฎหมายและจริยธรรมภายใต้บริบทสื่อยุคหลอมรวม โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 20 ท่านจาก 14 สถาบัน พร้อมด้วยนักวิชาชีพรวม 12 ท่าน จาก 9 องค์กร เข้าร่วมผ่านการประชุมทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้นับเป็นการจัดกิจกรรมภายนอกครั้งแรกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 และการเสวนานี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 24 ปีที่จะเปิดตัว “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 อีกด้วย
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องกฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชนถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสื่อยุคหลอมรวมที่แพลตฟอร์มสื่อเปลี่ยนไป ผู้รับสารเปลี่ยนไป ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น การเรียนการสอนกฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชนก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้ทางสภาการฯ ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนกฎหมายและจริยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงทำหน้าที่ในการรับฟังข้อเสนอแนะจากทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพเพื่อนำไปพัฒนาเป็นคู่มือ และอบรมการเรียนการสอนในวิชานี้ต่อไป
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน กรรมการนโยบาย (ด้านกิจการสื่อสารมวลชน) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า พัฒนาการและแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนดำเนินการมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลักสำคัญในการเรียนการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมไม่ใช่ “ความรู้” แต่เป็น “การตระหนักรู้” และสื่อมีความรับผิดชอบมากกว่าอาชีพอื่น เพราะมีหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม เป็นหมาเฝ้าบ้าน และเป็นผู้ส่งสารไปยังสาธารณะ เมื่อเข้าสู่ยุคการหลอมรวมสื่อ มีการผสมผสานการใช้งานสื่อหลายประเภท แนวปฏิบัติด้านจริยธรรมจึงอาจมีความแตกต่างจากยุคเดิม
รศ.ดร. สุกัญญา บูรณเดชาชัย ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเสวนาการระดมสมองในครั้งนี้เป็นกิจกรรมส่วนแรกของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน โดยในระยะต่อไปคณะอนุกรรมการวิชาการจะมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน และท้ายที่สุดจะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในงานเสวนาครั้งนี้และการดำเนินงานระยะต่าง ๆ ไปพัฒนาเป็นหนังสือหรือตำราเพื่อตอบสนองบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ในเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนในวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชนจากนักวิชาการมีการสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ในการสอนเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชนที่มีค่อนข้างน้อย ประกอบกับบริบทสื่อรวมถึงผู้เรียนที่เปลี่ยนไป ทิศทางการเรียนการสอนต้องปรับให้ผู้เรียนเข้าใจบริบทสังคมมากขึ้น เน้นปรากฏการณ์หรือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงเสนอให้ใช้แนวทางการสอนในเชิงจิตปัญญา เป็นต้น
ด้านนักวิชาชีพให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ต้องมาจากการค้นคว้าของผู้เรียนและนำมาถกเถียงอภิปรายในชั้นเรียน นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ควรเชื่อมโยงและครอบคลุมถึงผู้ผลิตสื่อรายใหม่ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย