ภาคีโคแฟค39องค์กรประกาศเจตนารมณ์ร่วมตรวจสอบข่าวลวง

ภาคีโคแฟค ร่วมกับ IFCN และ 39 องค์กรภาคีเครือข่าย จัดงานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก เน้นย้ำให้คนไทยรู้เท่าทันและเช็คก่อนแชร์ข่าว

ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ได้รับการจัดให้เป็นวัน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” หรือ International Fact-Checking Day 2021 ที่ประกาศโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล หรือ International Fact-Checking Network – IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลกเน้นประเด็นข้อมูลสุขภาวะโดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ประเด็นข่าวเชิงวารสารศาสตร์ และข่าวสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน  โดยมุ่งหวังว่าผู้คนในสังคมจะให้ความสำคัญกับ ‘ข้อเท็จจริง’ และ ‘การตรวจสอบข้อเท็จจริง’ กันให้มากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ข่าวลือข่าวลวงเผยแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วไม่มีจุดจบสิ้น

ในการนี้ ภาคีโคแฟค ร่วมกับ IFCN และ 39 องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดงานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day ซึ่งจัด ณ โรงแรมศิราเทล กรุงเทพมหานคร ในงานได้มีการจัดงานเสวนาที่เกี่ยวข้องกับข่าวลวงในปัจจุบัน และกิจกรรมรณรงค์ออนไลน์ร่วมด้วย

Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า International Fact-Checking Day ในปีนี้ ถือเป็นวันที่ดีในการร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง และมีการเฉลิมฉลองในหลายๆ เมือง เช่น ลอนดอน โรม รวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งในอนาคต IFCN อยากจะขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ส่งผลดีต่อผู้รับสารในการที่จะลดการรับข้อมูลข่าวลวง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่การตรวจสอบข่าวลวงและหาต้นตอยากกว่าการหาต้นตอโรคระบาดเสียอีก และกว่า 6,000 คนที่เสียชีวิตจากการเผยแพร่ข่าวลวงที่เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงเลยทีเดียว นี่เป็นเพียงผลกระทบร้ายแรงเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวง

ในขณะที่ คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า ในปัจจุบันคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้วย เช่น แม่ค้าที่ต่างจังหวัดอาจจะได้รับข้อมูลจากไลน์และส่งต่อทันที ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคมีส่วนกับการเผยแพร่ข่าวลวง เราเลยไม่สามารถทำครอบคลุมทุกพื้นที่ได้จริงๆ ข่าวลวงจึงระบาดเป็นวงจรเรื่อย ๆ การที่ใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค COFACT Thailand กล่าวว่า แน่นอนว่าการตรวจสอบความจริงเป็นหนึ่งในการรู้เท่าทันสื่อ ที่ไม่สุดโต่งไปสู่ความเกลียดชัง การแยกแยะความจริงคือการแยกแยะสสารความจริงกับความเห็นที่อาจจะชี้นำสังคมได้ โคแฟคจะแยกแยะส่วนที่ไม่สามารถค้นหาความจริงได้ กับค้นหาความจริงได้ ถ้าความเชื่อและความเห็นเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นด้วย

คุณมะรูฟ เจะบือราเฮง ผู้อำนวยการ ดิจิทัลเพื่อสันติภาพและ โคแฟคชายแดนใต้ (Deep South COFACT) กล่าวว่า ในภาคใต้เน้นการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก โดยการเกินเครือข่ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2552 จากกรณีของการร่วมมือกันจัดตั้งปฏิญาณปัตตานี เพื่อสร้างการลงมือทำเพื่อลดการสื่อสารที่บิดเบือน เน้นสร้างการสื่อสารเพื่อสันติ และจึงเกิดเครือข่ายโคแฟคภาคใต้ โดยใช้การทำงานแบบเปิด โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนและสื่อท้องถิ่นร่วมมือกันทำงานในการตรวจสอบข่าวลวง และเน้นการทำงานผสมผสานระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ เพื่อให้ถึงคนทุกกลุ่ม โดยพยายามสร้างวัฒนธรรมให้ทุกคนสามารถตั้งคำถามและทำงานต่อยอดได้

จากทั้งหมดนี้จึงนับเป็นวาระอันพิเศษยิ่งที่ 39 องค์กรได้ร่วมกันจัดงานในโอกาสวันสำคัญนี้ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วมกันตลอดทั้งปีจากวันนี้ไปจนถึงวันตรวจสอบข่าวลวงโลกในปีหน้า  เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวของสังคม ส่งเสริมทักษะและเครื่องมือให้กับพลเมืองยุคดิจิทัลในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ขยายชุมชนตรวจสอบข่าวลวงให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีความเข้มแข็ง ทั้งในภาคีสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรสื่อมวลชน เป็นต้น

เรายังคงเชื่อมั่นว่า ข้อเท็จจริง และ ความเข็มแข็งของภาคพลเมือง จะช่วยทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพ บนพื้นฐานของการไตร่ตรอง ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ เพื่อลดผลกระทบด้านลบยุคข้อมูลข่าวสารรวมถึงลดความขัดแย้งอันเนื่องจากความเข้าใจผิดด้วยเช่นกัน 

ทุกท่านสามารถติดตามโคแฟคได้ทาง www.cofact.org หรือ Facebook : Cofact-โคแฟค