สื่อมุสลิมในกระแสปฏิรูป
สื่อมุสลิมในกระแสปฏิรูป : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล
ประกอบอาชีพสื่อมา 34 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้รับเชิญไปร่วมวงเสวนา เรื่อง “สื่อมุสลิม กับกระแสไทย กระแสโลก” เป็นการเสวนาครั้งแรกในแวดวงสื่อมุสลิม และได้รับรู้เป็นครั้งแรกเช่นกันว่า เครือข่ายสื่อมุสลิมนั้น กว้างใหญ่ไพศาลพอสมควร ครอบคลุมทั้งสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ โฆษก พิธีกร ประชาสัมพันธ์องค์กร ผมกับคุณฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ซีโอโอไทยรัฐทีวี ซึ่งต่างเป็นมุสลิม พบกันหลายเวทีนอกสังคมมุสลิม แต่ไม่เคยพูดจากันบนเวทีมุสลิม ครั้งนี้ได้รับเชิญมาเจอกัน
คุณฉัตรชัย หรือ ฮาซัน ตะวันธรงค์ เริ่มทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฐานเศรษฐกิจ สร้างชื่อจากการใช้งบน้อย แต่สร้างความแปลกใหม่ที่สปริงนิวส์ ก่อนได้รับการทาบทามจาก คุณยิ่งลักษณ์ วัชรพล ให้มาเป็นแม่ทัพใหญ่ไทยรัฐทีวี คุณฉัตรชัยได้รับเกียรติเป็นมุสลิมที่มีผลงานดีเด่นด้านสื่อมวลชนของสมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิมแห่งประเทศไทย จะมีการมอบรางวัลปลายสัปดาห์หน้า ในงานสมาคม ที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งผมรับชวนไปปาฐกถาพิเศษในงานนั้นด้วยเรื่อง “คุณธรรมของสื่อมวลชน”
เมื่อกล่าวถึงคุณฉัตรชัย เราก็อาจนึกได้อีกหลายคนที่เป็นมุสลิมและมีบทบาทอยู่ในสื่อกระแสหลัก
ถึงแม้เจ้าภาพ สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย ผู้จัดงาน จะมีสมาชิกที่เป็นสมาคม องค์กรสื่อต่างๆ ถึงกว่า 60 องค์กร จำแนกเป็นสื่อวิทยุ 40 แห่ง สื่อโทรทัศน์ในทีวีระบบอนาล็อก 4 แห่ง สื่อโทรทัศน์ดาวเทียม 5 แห่ง รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร 14 แห่ง แต่ในสังคมภายนอก คนจะรู้จักสื่อมุสลิมในแง่ตัวบุคคลเท่านั้น และในแต่ละบุคคลก็ไม่ได้สะท้อนภาพของความเป็นมุสลิมมากนัก แม้กระทั่ง อิบรอฮีม อะมัน หรืออิศรา อมันตกุล สังคมไทยก็รู้จักเขาในฐานะนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และต้นกระแสธารของสถาบัน มูลนิธิ และรางวัลอิศรา แต่ไม่ได้มีภาพจำของความเป็นมุสลิม
ในวงเสวนา คุณฉัตรชัย บอกเล่าถึงประสบการณ์ของการทำสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเริ่มต้นจากแนวคิด low cost tv ที่สปริงนิวส์ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร 3จี ในการรายงานข่าว ซึ่งเป็นแนวโน้มของการบริหารจัดการสื่อโทรทัศน์ยุคใหม่ อีกทั้งการพูดถึงแนวคิดในการทำไทยรัฐทีวี ที่พยายามคิดนอกกรอบ ตามสโลแกนของสถานี คือ คิดต่างอย่างเข้าใจ ในขณะที่คนมีประสบการณ์ด้านโทรทัศน์ไม่มากนักอย่างผม พยายามอธิบายปรากฏการณ์สื่อที่เปลี่ยนไป จนมาถึงยุคที่ต้องปฏิรูป ไม่แต่ปฏิรูปสื่อ แต่หมายถึงการปฏิรูป “ระบบสื่อ” ซึ่งจะต้องดูทั้งโครงสร้าง ตั้งแต่ความเป็นเจ้าของ มาจนถึงเสรีภาพในการทำงานของนักข่าวระดับปฏิบัติการ
และแน่นอนว่า เส้นทางการปฏิรูปสื่อ ก็ไม่ได้ยกเว้นสื่อมุสลิม แม้จะถูกมองว่า เป็นเพียง “สื่อทางเลือก” ก็ตาม
หลายเรื่องที่ถูกรายงานผิดๆ บนพื้นที่สื่อกระแสหลัก เช่น ปัญหาตะวันออกกลาง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ที่ระดับปัญหาร้ายแรงถึงขนาดกษัตริย์ซาอุฯ เรียกอุปทูตอับดุลอิลาห์ อัลชุอัยนี กลับประเทศ แต่รัฐบาลไทยกลับเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง ใกล้เข้ามาคือปัญหาภาคใต้ ที่พื้นฐานมาจากความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม คนที่เข้าใจและรู้จริงคือสื่อมุสลิม ที่แทบไม่มีโอกาสเปิดตัวเองสู่สื่อระดับชาติเลย
ถ้าพวกเขารวมตัวกันได้ ในรูปของ muslim news agency ทำให้คนอื่นๆ นึกถึงว่า ถ้าต้องการข่าวจริงในแวดวงมุสลิม หรือศาสนาอิสลาม จะต้องเข้ามาที่นี่ ในขณะเดียวกันก็ลดระดับความขัดแย้งในเชิงความคิด ที่เป็นสารส่วนใหญ่ส่งออกมาจากสื่อมุสลิม โดยที่คนทั่วไปที่ต่างศาสนา ต่างความคิดก็ได้รับรู้ด้วย กลายเป็นสังคมสื่อมุสลิมเต็มไปด้วยความขัดแย้งในความคิด ที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ การสร้างการรับรู้และการยอมรับในสื่อมุสลิม ในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ที่เชื่อถือได้ ก็จะมีมากขึ้น
ทุกองคาพยพของสังคมนี้กำลังอยู่ในกระแสปฏิรูป สื่อมุสลิมก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น แต่พวกเขาต้องปฏิรูปความคิดก่อนว่า จะเปิดพื้นที่ออกจากวังวนความขัดแย้งภายในที่ต่อเนื่องยาวนานนี้อย่างไร