ปฏิรูปบนความหวาดระแวง ‘จอกอ’

ปฏิรูปบนความหวาดระแว

ปฏิรูปบนความหวาดระแวง

ปฏิรูปบนความหวาดระแวง : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

               บางคนยังฝังใจอยู่กับการได้มาซึ่งอำนาจ นอกกติกา และเห็นว่า เมื่อผลผลิตของการยึดอำนาจมาจากต้นไม้ที่มีพิษ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากต้นไม้พิษนี้ ก็ย่อมเป็นพิษเสียทั้งสิ้น ผมเห็นว่า ทัศนคติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรรับฟัง เพราะเมื่อเราเกิดความไม่แน่ใจ ก็จะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น ไม่ผลีผลาม เชื่อหรือยอมทำตามไปทั้งหมดอย่างง่ายดายโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ถ้าถึงขั้นหวาดระแวงไม่ไว้ใจใครเลย และกักขังตัวเองไว้กับความหวาดระแวงนั้น เราก็ไม่อาจเริ่มต้นหรือทำสิ่งใดได้สำเร็จ

งานใหญ่ในการปฏิรูปประเทศนี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมีเหตุผลอธิบายในการเข้ามาร่วมสังฆกรรม หรือวางเฉยไม่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นร่วมกัน คือเราต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่กลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งอีก และแน่นอนการปฏิรูปก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่อาจทำให้เรามั่นใจได้ ถึงแม้สิ่งนี้จะมิใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะแก้ได้สารพัดโรคก็ตาม

หลายคนอาจยังสับสนในบทบาทหน้าที่ของ สปช. หรือยังแยกแบ่งบทบาทของ สปช.กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ชัดเจน สปช.นั้นทำหน้าที่คล้ายๆ กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือเป็นองค์กรหลักในการระดมความเห็น เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สำคัญคือการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นข้อถกเถียงกันก่อนหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ายึดอำนาจว่า ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งแล้วถึงจะปฏิรูป สรุปก็คือ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และ สปช.คือองค์กรที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำหน้าที่นี้ ในขณะที่ สนช.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คือการตรากฎหมายที่ค้างพิจารณาอยู่ หรือกฎหมายเร่งด่วนมาทดแทนกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย ไม่สามารถใช้ในบริบทสังคมปัจจุบันได้

อีกทั้งทำหน้าที่ในการรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อก่อรูปขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร

ดังนั้น หากมองในแง่ของบทบาท สปช.จึงเป็นความหวังของผู้คนทั้งประเทศ ในการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะขจัดข้อขัดแย้ง ปัญหาต่างๆ นานา ซึ่งเคยทำให้สังคมไทยตกลงไปอยู่ในหล่มโคลนของความร้าวฉาน ในห้วงเวลาที่ผ่านมา นี่อาจเป็นเพียงแนวคิดในเชิงอุดมคติ ที่ไม่สามารถไปสู่ความเป็นจริงได้

แต่หากมองย้อนไปในอดีต เราคงไม่คิดว่า แนวคิดในเชิงอุดมคตินี้ จะมาบั่นทอนความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปในภาคสื่อสารมวลชน เนื่องเพราะตลอดเส้นทางการปฏิรูปสื่ออันยาวไกลนี้ อย่างน้อยความสำเร็จก็เคยเกิดขึ้น นั่นคือ การปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การช่วงชิงคลื่นความถี่ที่เคยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ มาเป็นสมบัติสาธารณะ ให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ ถึงแม้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะยังเป็นปัญหาในแง่ความคิดของตัวบุคคล ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มาสู่แนวคิดหรือปรัชญาในการปฏิรูปสื่อได้อย่างแท้จริงก็ตาม

ความสำเร็จครั้งนั้น คือการปฏิรูปสื่อ แต่ครั้งนี้เราเรียกว่า “การปฏิรูประบบสื่อ” แปลว่า เราต้องปฏิรูปทั้งระบบตั้งแต่โครงสร้างความเป็นเจ้าของ ความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ รวมทั้งการปฏิรูปองค์กรกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน ดังนั้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากต้องคงไว้ซึ่งหลักการตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา 45-48 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว ยังต้องมีบทบัญญัติบางประการที่เป็นการสกัดความพยายามของนักการเมือง หรือหน่วยงานรัฐ ในการครอบงำกิจการสื่อ ผ่านทุนและงบประมาณโฆษณาด้วย

หลายคนคาดหมายว่า กระบวนการทำงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเป็นคล้ายกำแพงที่ขวางกั้นความมุ่งหวัง ตั้งใจ ของทุกภาคส่วนที่ส่งตัวแทนเข้าไป เพราะ คสช.คงมีพิมพ์เขียวไว้ในใจ หรือได้ให้นักกฎหมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ไว้แล้ว ในแนวทางที่ต้องการ เช่น การลดทอนความสำคัญของระบบพรรคการเมือง ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้ หรือผู้ลงสมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง การปฏิรูปสื่อสารมวลชน ก็อาจอยู่ในวังวนนี้ คือให้มีเสรีภาพ ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด โดยเฉพาะความมั่นคงของรัฐ และคสช.

นั่นก็เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กัน และน้ำเสียงในการแสดงความเห็นในเรื่องการปฏิรูปสื่อ ในพื้นที่ของสื่อมวลชนเองก็จะดังมากขึ้น เมื่อ สปช.เดินหน้าเต็มรูปแบบ เพราะบางสมมุติฐานมีความเชื่อว่า ในที่สุดสื่อมวลชนซึ่งน่าจะเป็นเสียงข้างน้อยใน สปช.ก็จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ สปช.ส่วนใหญ่ ที่ถูกวางตัวมาตั้งแต่ก่อน สปช.เกิด แล้วยังมีปัญหาในเชิงการยอมรับความเป็นผู้แทนสื่อ ปัญหาวิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่างสื่อที่หลากหลาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

คนมองโลกในแง่ร้ายก็จะบอกว่า ถ้าเช่นนั้นจะเข้าไปด้วยเหตุใด หากรู้ว่าจะทำอะไรไม่ได้

คำตอบง่ายสุดของคนที่อยู่ในวิชาชีพนี้มาเกือบ 40 ปี ได้พานพบความเปลี่ยนแปลงของสังคม ได้ผ่านประสบการณ์การทำข่าวการเมืองเรื่องอำนาจและผลประโยชน์มาช้านาน ได้พบความสำเร็จและล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน คือ ร้ายที่สุดของความพยายามในการทำงาน ก็คือการยืนหยัดต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม อย่างตรงไปตรงมา และมันจะปรากฏต่อสังคม แปรรูปเป็นพลังงานของเหตุและผล ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด เช่น ความพยายามขององค์กรสื่อในการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ในปี 2549

ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้ว ตัวแทนองค์กรสื่อจะได้เข้าไปใน สปช.หรือไม่ แต่กระบวนการปฏิรูปสื่อจะต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่า คสช.จะยังอยู่หรือไป เพราะนี่คือภารกิจของชีวิตและจิตวิญญาณของสื่อทั้งระบบ