ผู้ จัดการสุดสัปดาห์ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เนื้อหาในคำชี้แจงก็เป็นไปตามประเด็นที่ คสช.เห็นว่า อาจมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคณะทหารที่กำลังทำงานฟื้นฟูประเทศ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้อธิบายเหตุผลประกอบเรียงลำดับตามบทความ โดยได้แสดงเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบ คล้าย คสช.จงใจจะเล่นงานผู้จัดการโดยเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามเพื่อลดแรงกดดันที่จะมีต่อสภาหนังสือพิมพ์ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นองค์กรอิสระ ผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงประกาศหยุดตีพิมพ์เป็นเวลา 1 เดือน หรือ 4 ฉบับ ก่อนที่จะกลับมาตีพิมพ์ตามปกติต่อไป
ในฐานะส่วนตัว ผมยินดีที่ผู้จัดการ ในฐานะองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แสดงการยอมรับกติกาในการกำกับดูแลกันเอง และถือเป็นความรับผิดชอบที่ได้แสดงเหตุผลในการทำหน้าที่สื่ออย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ซึ่งตามกระบวนการ เมื่อได้รับหนังสือชี้แจงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งมี ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ เป็นประธาน จะได้ดำเนินการต่อไปตามหน้าที่ โดยอาจส่งหนังสือชี้แจงไปยังผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย หรืออาจจะสอบถามผู้ถูกร้องเรียนเพิ่มเติม ในชั้นนี้ถือว่าการร้องเรียนกรณี ผู้จัดการสุดสัปดาห์ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และมีกรณีข้อกล่าวหาว่าละเมิดจริยธรรมยังไม่เป็นที่ยุติ
ในห้วงระยะเวลาที่มีการโต้แย้งอำนาจของ คสช.ในการสั่งการให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตรวจสอบจริยธรรมของผู้จัดการสุดสัปดาห์ นั้น ผมได้รับคำถามจำนวนหนึ่งว่า คสช.มีเจตนาพิเศษ ที่เลือกปฏิบัติอย่างเข้มงวดกับผู้จัดการหรือไม่ ผมตอบว่า ผมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปถึงเจตนาของ คสช.ได้ แต่ คสช.ในฐานะผู้กล่าวอ้างว่าเสียหาย ก็มีสิทธิที่จะร้องเรียนให้ตรวจสอบผู้จัดการสุดสัปดาห์ โดยทำตามขั้นตอน เช่นเดียวกับผู้ร้องเรียนรายอื่นๆ เมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการสอบสวนปกติ
มีคนถามว่ากลัวไหม มีคนถามว่ากล้าไหม ผมตอบได้เพียงสั้นๆ ว่า สำคัญที่สุดคือ การยืนยันหลักการ หลักการในกรณีนี้คืออะไร คือความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลกันเอง เมื่อเรายืนยันหลักการแล้ว ความกลัวหรือความกล้าก็ไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป
มีเรื่องสำคัญๆ ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ซึ่งเพื่อนพ้องในวงวิชาชีพเรียกว่า เป็น “เผือกร้อน” โยนเข้ามาในสภาหนังสือพิมพ์ ได้แก่ การสอบสวนข้อกล่าวหากรณีสื่ออาวุโส 19 ราย รับเงินเป็นรายเดือนจากบริษัทเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระ ที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ผมได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารโพสต์ ที่ได้สอบสวนภายใน และพบว่าบรรณาธิการท่านหนึ่งของเครือบางกอกโพสต์เป็นหนึ่งในรายชื่อนั้น แต่ก็มีหลักฐานเอกสารที่จะมาหักล้างข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะมาให้ปากคำต่อกรรมการอิสระ
อีกเรื่องหนึ่ง คือกรณีกล่าวหาผู้จัดการสุดสัปดาห์ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะเป็นกรณีระหว่าง คสช.ซึ่งผู้นำ คสช. กำลังจะก้าวไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งในฐานะผู้นำประเทศ กับผู้จัดการสุดสัปดาห์ ล่าสุดผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้ชี้แจงข้อกล่าวหา มีประเด็นที่ผมจำเป็นต้องโต้แย้งบางประการ
ด้วยความเคารพในกองบรรณาธิการผู้จัดการสุดสัปดาห์ ผมยืนยันมาตลอดว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” โดยเฉพาะหากได้ทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมาแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เราละทิ้งหลักการ และยอมศิโรราบ ให้กับอำนาจใดๆ อย่างง่ายดาย การยืนยันหลักการความเป็นอิสระของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติครั้งนี้ ก็เช่นกัน ผมยืนยันว่าไม่มีความรู้สึกกดดันเลย องค์กรสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนของผู้จัดการเป็นกรรมการอยู่ด้วย ก็คงคิดไม่ต่างกัน
อำนาจนั้นมาแล้วก็สาบสูญ ผู้ปกครองต่างมาแล้วก็สาบสูญ แต่ความเป็นอิสระของเราจะต้องดำรงอยู่ตลอดไป