ภาคประชาชนตื่นตัวปัญหา “ข่าวลวง” ชูแก้ปัญหาร่วมกันทั้งองคพายพ
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนเน้นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมไทย สร้างผลกระทบกว่าปัญหาข่าวลวง ต้องสร้างความรู้เท่าทันในระดับพหุวัฒนธรรม ด้านกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชูหลักสูตรการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการรู้เท่าทันสื่อสำหรับพลเมืองยุค Digital Alpha ขณะที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ถามหาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากนโยบายภาครัฐและผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันสื่ออย่างเป็นรูปธรรม ส่วนงานวิจัยและผลสำรวจในภาคประชาชน พบว่าประชาชนไทยยังมีความรู้เพียงระดับพื้นฐานด้านการรู้เท่าทันสื่อ , ดิจิทัลคอมเมิร์ซ และกฎหมายดิจิทัล นอกจากนั้นผู้สูงอายุ ยังเป็นกลุ่มที่เผยแพร่ข่าวลวงโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากที่สุด
จากการจัดงาน International Conference on Fake News เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี 8 เจ้าภาพหลัก ร่วมจัดงานเพื่อกระตุ้นความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ “ข่าวลวง” ซึ่งเป็นสถานการณ์สื่อที่ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ภาคีเครือข่ายจัดงานคือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
โดยประเด็นหนึ่งที่คณะทำงานจัดเป็นการเสวนาสำหรับภาคประชาชน คือเรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อของภาคประชาสังคม” “Empowering Digital Citizenship” เพื่อสำรวจและสะท้อนมุมมองการรู้เท่าทันสื่อ (Media Information and Digital Literacy – MIDL) จากทุกภาคส่วนด้านประชาสังคม โดยมีตัวแทนจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสื่อ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถอดบทเรียนจากผลลัพธ์ของการทำงานที่ผ่านมา
ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ปัญหาที่ใหญ่กว่าข่าวลวง
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) ได้สะท้อนมุมมองจากการทำงานด้านเด็กและชุมชนว่า คำว่าข่าวลวงในบริบทของสังคมไทยนั้น มีประเด็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเพียงเรื่องข่าวลวง นั่นคือเรื่องของความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมไทย ทั้งเรื่องการตีตรา ความเหลื่อมล้ำที่ก่อให้เกิดการเหยียดคนเฉพาะกลุ่ม และความไม่เท่าเทียมต่างๆ ซึ่งยังคงนำเสนอผ่านสื่อ ถูกเผยแพร่ส่งต่อตามอคติของผู้รับสาร ดังนั้นปัญหาของข่าวลวงในลักษณะการส่งต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างในลักษณะนี้ จึงไม่ได้เกิดจากเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากวิธีคิดเป็นหลัก
ผู้จัดการฯ สสย. กล่าวถึงการทำงานและโครงการด้านเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อที่ผลักดันมาโดยตลอด คือการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายรู้เท่าทันตนเอง ,การเท่าทันสื่อ สารสนเทศดิจิทัล และเท่าทันความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒธรรม องค์ประกอบเหล่านี้ จะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่แข็งขัน และมีส่วนร่วมในการสร้างการรู้เท่าทันสื่ออย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเสนอแนะว่าควรมีการสร้างตัวบ่งชี้ทางสังคม มีการวัดและประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อเป็นเป้าหมายว่าสถานการณ์สื่อในประเทศเป็นเรื่องใหญ่ สังคมต้องออกแบบร่วมกันว่าต้องการเครื่องมือในการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่ออย่างไร ทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว
ด้าน ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า ข่าวลวงเกิดมาตั้งแต่ยุคสื่อสิ่งพิมพ์ แต่สิ่งที่ทำให้ต่างกับข่าวลวงในยุคสื่อดิจิทัลคือความรุนแรงและรวดเร็วของการแพร่กระจายข่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมควรตระหนักและหาทางรับมือ เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและรู้เท่าทันสื่อสำหรับพลเมืองในอนาคต นั่นคือประชากรที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 2010-2024 ที่เรียกว่าคนรุ่น Digital Alpha ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากยุคของสื่อเก่าสู่สื่อออนไลน์ โดยยกกรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกาในการออกแบบหลักสูตรที่มีการประยุกต์องค์ความรู้แบบ ““พหุปัญญา” ของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ที่เน้นความสามารถมนุษย์ 8 ด้าน เพื่อเป็นทางออกของพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) นั่นคือสร้างภูมิให้เชื่อมั่นและไม่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
เช่นเดียวกับ ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่ระบุว่าโซเชียลมีเดีย มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของข่าวลวง และปัญหาอันเกิดจากข่าวลวงต่างๆ ทั้งด้านการเป็นเครื่องมือทางการเมือง การตกเป็นเหยื่อการโฆษณาของผู้สูงอายุ หรือการรังแก(Bullying) ในโลกโซเชียล โดยชี้ว่าทางออกคือการพัฒนาทักษะของการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการทำงานของมูลนิธิฯ ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้พลเมืองสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลหรือ Fact checker ควบคู่กับการต้องมีเครื่องมือในการคุ้มครองผู้ที่รายงานเรื่องข่าวลวงควบคู่กันไป รวมทั้งมีการขับเคลื่อนในระดับนโยบายร่วมด้วย โดยยกตัวอย่างการทำงานของรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน ที่มีการเปิดโอกาสให้กระทรวงต่างๆ ได้เข้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกัน ประเทศไทยควรมีองค์กรผู้นำในลักษณะนี้
เกาะติดความรู้ด้านดิจิทัลภาคประชาชน กลุ่มผู้สูงอายุยังน่าเป็นห่วง
สำหรับความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาหลักสูตรและงานวิจัยด้านการรู้เท่าทันสื่อ ปรัชญ์ สง่างาม อาจารย์ประจำ สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าภาครัฐมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2559 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลเบื้องต้น (Digital Literacy) สำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัยที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยได้สร้างหลักสูตรขึ้นมา 9 หมวด เพื่อฝึกอบรมให้กับ “ค่ายเยาวชนดิจิทัล DiCY Youth Camp : Digital Galaxy” โดยมีการวัดผลของระดับ Digital Literacy ทั้งก่อนและหลังการอบรม โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนที่มาจากทั่วประเทศ เน้น 9 ด้าน คือ สิทธิและความรับผิดชอบ , การเข้าถึงสื่อดิจิทัล , การสื่อสารยุคดิจิทัล , ความปลอดภัยยุคดิจิทัล , ความเข้าใจสื่อดิจิทัล , แนวทางปฏิบัติในยุคดิจิทัล , สุขภาพดียุคดิจิทัล , ดิจิทัลคอมเมิร์ซ และกฎหมายดิจิทัล
นอกจากนั้นในปี 2561 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังคงเกาะติดงานวิจัยด้านการรู้เท่าทันสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยทำการสำรวจสมรรถนะในการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และการเข้าใจดิจิทัล โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง จำนวนทั้งสิ้น 12,374 คน ในทุกกลุ่มประชากร ตั้งแต่ Generation Z (ช่วงอายุ 6 – 20 ปี) ไปจนถึงคนรุ่น Baby Boomer (ช่วงอายุมากว่า 54 ปี) รวมทั้งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนพิการ ผลการสำรวจที่น่าสนใจพบว่า สมรรถนะหลักที่อยู่ในระดับดี ได้แก่ การสื่อสาร , แนวปฏิบัติในสังคมดิจิทัล และสุขภาพดียุคดิจิทัล ส่วนสถานภาพการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทย ที่อยู่ใน “ระดับพื้นฐาน” ได้แก่เรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ , การเข้าถึงสื่อดิจิทัล , ความปลอดภัยยุคดิจิทัล , การรู้เท่าทันสื่อ , ดิจิทัลคอมเมิร์ซ และกฎหมายดิจิทัล
ด้านการวิจัยในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าได้มีการทำผลสำรวจ ผ่านโครงการ “สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง : สร้างนักสื่อสารสุขภาวะที่รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ” กับกลุ่มผู้สูงอายุในหลายภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ,เทศบาลนครสกลนคร จ.สกลนคร , เทศบาลตำบลเชิงดอย จ.เชียงใหม่ , เทศบาลตำบลชะมาย จ.นครศรีธรรมราช และองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย จ.สุพรรณบุรี มีผู้เข้าร่วมโครงการรวม 300 คน
พบว่า การบริโภคสื่อของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุในเมืองและชนบทต่างกันอย่างยิ่ง โดยผู้สูงอายุในเมือง มีข้อมูลท่วมท้น ผู้สูงอายุเปิดรับสื่อเกือบทุกประเภท ในขณะที่ผู้สูงอายุในชนบท ข้อมูลมีจำกัด เข้าถึงสื่อได้น้อย ส่วนใหญ่มีเพียงสื่อโทรทัศน์ และมีวัตถุประสงค์การใช้ไม่เฉพาะเจาะจง เปิดทั้งวัน เพื่อความบันเทิงและประกอบการตัดสินใจ โดยให้ความเชื่อถือทีวีมากสุด โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มจะสนใจข้อมูลสุขภาพมากที่สุด
รศ.ดร.นันทิยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการใช้สื่อของกลุ่มผู้สูงอายุในชนบทว่า มีการหลงเชื่อโฆษณาทางทีวี เช่น อาหารเสริม เรื่องสุขภาพ เชื่อข้อมูลจากคนบอกต่อ ซึ่งไม่ได้กลั่นกรอง รวมทั้งการไม่อ่านข้อความจนจบ และไม่มีทักษะการรับส่งข้อมูลด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิด และเป็นเป้าหมายของการส่งต่อข่าวลวงมากที่สุด โดยการวิจัยในครั้งนี้ ได้มีการใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ คือการนำเอาคาถา “หยุด คิด ถาม ทำ” มาใช้เป็นกุศโลบายให้เป็นลูกประคำห้อยติดตัว เพื่อให้ “หยุด” ก่อนจะซื้อ แล้ว “คิด” ว่าดีหรือไม่ จากนั้นจึง “ถาม” ซึ่งคือการหาข้อมูล แล้วค่อยตัดสินใจ “ทำ” ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าผู้สูงอายุยังขาดในเรื่องการ “ถาม” หรือการวิเคราะห์ข้อมูลมากที่สุด