พรรคการเมืองประสานเสียง ยกเลิกคำสั่งคุมการทำงานสื่อ หนุนสร้างเสรีภาพ​ภายใต้กรอบดูแลตรวจสอบกันเอง

พรรคการเมืองประสานเสียง ยกเลิกคำสั่งคุมการทำงานสื่อ หนุนสร้างเสรีภาพภายใต้กรอบดูแลตรวจสอบกันเอง

 

ในการเสวนาเรื่อง “รับฟังนโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน” ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีผู้แทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย นายบุญยอด สุขถิ่นไทย พรรคประชาธิปัตย์ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ พรรคชาติไทยพัฒนา และน.ส.พรรณิการ์​ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย นายณรรธราวุธ เมืองสุข สื่อมวลชนอิสระ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา​ดูข่าวโทรทัศน์​รู้สึกไม่แน่ใจว่าจะเชื่อได้ หรือไม่ได้ ​ยิ่งช่วงหลังมีเรื่องของสีเสื้อสื่อแสดงตัวตนชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูล เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง อีกทั้งปัจจุบัน มีทั้ง ทวิตเตอร์ ไลน์ เฟซบุ๊ก ดังนั้น ใครส่งข่าวอะไรก็จะมีคนที่ไม่ใช่นักข่าวตรวจสอบว่าจริงไม่จริง กระบวนการกลั่นกรองสื่อสารมวลชนปลายทางถือว่าเกณฑ์ดี สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามจากไลน์กลุ่มเพื่อนเกี่ยวกับองค์กรนั้น

 

ทั้งนี้ โลกของสื่อสารมวลชนเปิดแต่ถูกปิดโดยคำสั่ง คสช. 4-5 ฉบับ ​​การเดินทางของสื่อมวลชนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากคะแนนเต็ม 10 ให้คะแนน 7 คะแนน โดยมีประชาชนถ่วงดุล ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น การปล่อยข่าวลบเหมือนสมัยเก่าจึงทำไม่ได้ สื่อมวลชนไหนมีความน่าเชื่อถือแค่ไหนอยู่ที่ผู้รับสารจะตอบเองว่าไว้ใจสื่อนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน

นายจิรายุ กล่าวว่า ​เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ คสช.​ยกเลิก ประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อมวลชน ​ซึ่งมาจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2557  ฝ่ายกฎหมายก็ไปดูจากของเก่า นำมาปรับใช้ในการควบคุมสื่อ อีกทั้ง​อยากเห็นการดีเบตของสื่อมวลชนเอง เช่น พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์บางฉบับตกใจไม่เชื่อว่าจะพาดได้ขนาดนั้น จึง​อยากให้สื่อมวลชนตรวจสอบกันเองว่า พาดหัวข่าวแบบนั้นเป็นการใส่ร้าย ชักนำให้เชื่อความจริงข้างเดียว หรือไม่

นายจิรายุ กล่าวว่า ในนโยบายพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเรื่องสื่อมวลชนเป็นการเฉพาะ เพราะเกรงจะเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาว่าแค่เริ่มต้นก็ตั้งท่ากำหนดสื่อสารมวลชนแล้ว ดังนั้นจึงไม่เขียนชัดเจนแต่เขียนในเรื่องการวางรากฐานประชาธิปไตย ส่งเสริมความรู้ เพิ่มการมีส่วนร่วมประชาชนทุกเรื่อง เช่น พ.ร.บ.​ข้อมูลข่าวสาร ​เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐในการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง ​และให้ประชานชนเป็นศูนย์กลางมีส่วนร่วมในการกลั่นกรองเรื่องต่างๆ มากขึ้น ​

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาของสื่อมวลชนอยู่ที่การปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันคนไม่อ่านหนังสือพิมพ์กระดาษ​ ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ การปรับตัวโครงสร้างต้องตามให้ทัน ​คนส่งสารปัจจุบันไม่ใช่ทีมงานบรรณาธิการ แต่นักข่าวส่งสารกลายเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งปัญหาการเป็นเกตคีบเปอร์ (Gate – keeper) ซึ่งเป็นหน้าที่สื่อมวลชน ทุกคนจะเข้าใจตรงนี้หรือไม่

 

ทั้งนี้ สำหรับ​นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับสื่อมวลชน มีประมาณ 9 ข้อ เช่น ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม, สนับสนุนสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่อิสระ,  ไม่ละเมิด ไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน, แก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์​ฯ  ส่วนสภาวิชาชีพที่จะออกมาเพื่อปกป้องสิทธิ และส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ​ หากประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล จะไม่ทำหน้าที่เป็นเร็กกูเรเตอร์ (Regulator) ไม่ไปจับผิดแต่จะเป็นรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน​ ช่วยผู้ประกอบวิชาชีพให้เติบโตแข็งแรงด้วยตัวเอง

นายบุญยอด กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อ 5 ปีผ่านไปยังไม่เห็น ทั้งที่คนเฝ้ารออยากเห็นสื่อปฏิรูปตัวเองในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จะทำเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ​รวมไปถึงการตรวจกัก ปิดกิจการหนังสือพิมพ์ จะทำไม่ได้ แต่ให้กลับไปสู่กระบวนการตามกฎหมาย หากใครละเมิดคนอื่นก็จะอาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้

สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากไม่มีก็อาจทำให้เกิดการด่ากันในโซเชียลมีเดียไม่มีขอบเขต ​ หรือประชาชนที่ถูกละเมิดโดยสื่อก็ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใครตรงไหน ทุกวันนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่การถูกคุกคามโดนปิดก็ต้องไปดูเป็นรายกรณี ​ว่าดำเนินการตามจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ รวมทั้งอาจต้องไปดูองค์กรสื่อแต่ละที่ว่ามีองค์ประกอบอย่างไร แหล่งเงินมาจากไหน มีใครเป็นท่อน้ำเลี้ยง ซึ่งจะต้องมาคุยกัน ​​

 

น.ส.พรรณิการ์​ วานิช พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่สื่อต้องเผชิญมี 4 ประเด็น คือ 1.  พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากสื่อเดิมไปสู่ดิจิทัล ซึ่งโซเชียลมีเดียเบ่งบาน มีเฟซบุ๊กไลฟ์ เปลี่ยนโฉมวงการสื่อสิ้นเชิง ทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ เปลี่ยนผู้รับสารเป็นผู้ส่งสาร สามารถแชร์ คอมเมนต์ ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น

2.เศรษฐกิจ จากการประมูลทีวีดิจิทัล จนมี​ทีวี 20-30 ช่อง ​จากเดิม 3-5 ช่อง ส่งผลกระทบเศรษฐกิจมหาศาลแทบไม่มีช่องไหนมีกำไร ช่องที่อยู่ได้คือเจ้าของสื่อที่มีทุนหนา และส่วนใหญ่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่ต้องการมีสื่อในมือ จะกำไรขาดทุนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ​จนนำมาสู่การเลย์ออฟ เออร์ลีรีไทร์ ​และต้องทำงานแข่งขันกับเรตติ้ง​ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังรัฐประหารยิ่งทำให้นักข่าวลำบาก

3. ด้านการเมือง  โดยสถิติตั้งแต่รัฐประหารจนถึง 22 ก.พ. 2562 พบว่ามีการลงดาบสื่อมวลชนไปแล้ว 59 ครั้ง ในช่วงไม่ถึง​ 5 ปี โดยอาศัยหลักเกณฑ์​คำสั่ง คสช.​  ซึ่งทุกฝั่งโดนหมด​ทั้งฝั่ง วอยส์ทีวี โดนไป 24 ครั้ง พีซทีวีโดนไป 14 ครั้ง ​ไปจนถึงฝั่ง​ เนชั่น สปริงส์ ทีนิวส์ ฟ้าวันใหม่ก็โดน ​หรือแม้แต่ไทยพีบีเอส ทุกสื่อเดือดร้อนทั่วกันจากประกาศ ​ของ คสช. ที่เป็นเครื่องมือปิดปากสื่อ ซึ่งยังไม่ร้ายแรงเท่ากับเส้นแบ่งที่ยังไม่ชัดเจน อะไรทำได้ ไม่ได้ ผิด ไม่ผิด จนนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง

และ 4. จรรยาบรรณ​กับจริยธรรมสื่อ เราควรจะแบ่งสื่อไหมว่าสื่อไหนสื่อจริงสื่อเทียม มาจนถึงเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณ​ซึ่งเป็นคำเดียวกันหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า ​จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นกรอบการทำหน้าที่สื่อมวลชน ​ส่วนสื่อจะเลือกข้างได้ไหม ตัวอย่างเช่น นิวยอร์ค ไทมส์ เดอะการ์เดียน ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนพรรคไหน เพื่อให้ประชาชนทราบจุดยืน

น.ส.พรรณิการ์​ กล่าวเพิ่มเติมว่า ​ประเด็นสื่อมวลชนควรต้องตรวจสอบกันเองหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะ​คนที่ตรวจสอบคือประชาชน ซึ่งจะให้คะแนนคุณ ในการนำเสนอข่าว ข่าวปลอม ข่าวจริง ไม่ใช่พวกคุณไปตัดสินกันเอง แต่ประชาชนตรวจสอบสื่อ ​เพื่อให้สื่อ​เสริมสร้างปรับปรุงตัวเอง อยู่ใต้จรรยาบรรณทำเพื่อมวลชน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ​ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับสื่อ แต่ควรจะมีให้น้อยที่สุด ​และใช้กฎหมายปกติที่มี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพ ไม่ควรมีกฎหมายพิเศษเข้ามาจัดการสื่อเพราะบทเรียนที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายพิเศษไปจัดการ 59 ครั้ง ​ดังนั้นพรรคมีนโยบายที่จะสะสางมรดก คสช. ​​ตั้งคณะกรรมการพิจารณาประกาศ คสช. ​ที่​ล่วงละเมิดสิทธิ อย่างเช่น คำสั่ง ​คสช. 12/2557 ,17/2557 , 26/2557 , 97/2557, 103/2557  ,41/2559  และแก้ไข​ พ.ร.บ.คอมฯ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่เป็นปัญหา พร้อมเพิ่มอำนาจตรวจสอบประชาชน

อย่างไรก็ตาม การ​ต่อต้านคอรัปชั่นที่ดีที่สุดคือการให้อำนาจประชาชน 70 ล้านคน ตรวจสอบ ด้วยเทคโนโลยี โอเพนดาต้า (Open Data) ​ที่เปิดเผยโปร่งใส ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เอื้อให้ประชาชนตรวจสอบ ไม่ว่าองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานรัฐ  แม้จะมี พ.ร.บ.เอื้อให้ขอข้อมูลแต่กระบวนการยุ่งยากเสียเวลา ​ควรทำให้ง่าย เข้าถึงเรื่องสัมปทาน การซื้อขายอาวุธ ซึ่ง​ไม่ใช่เรื่องลับ และไม่ให้มีกฎหมายปิดปากสื่อเพราะเสรีภาพสื่อเป็นเสรีภาพประชาชน และเสรีภาพประชาชนนำไปสู่ประชาธิปไตยยั่งยืน

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า  สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพทำงานโดยสุจริต ซึ่งมีการต่อสู้มานาน ​รวมทั้งการปลดคำสั่ง คสช. ​ส่วนจะทำให้ได้หมดหรือไม่นั้น ต้องดูว่ามีเวลาแค่ไหน เพราะภาพการเมืองหลังเลือกตั้งเที่ยวนี้ เห็นตรงกันหมดว่ารัฐบาลใหม่อาจอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน ต้องรีบทำต้องกระตุ้นให้นักการเมืองตื่นตัวรีบทำเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน

 

อย่างไรก็ตามในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ​ มีปัญหาตั้งแต่ก่อนหน้าที่ที่ทะเลาะกันเพราะมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามายุ่งวุ่นวาย ​ซึ่งเราต้องรับความจริง และตอบคำถามให้ได้ว่าสื่อมวลชนสามารถกำกับกันเองได้หรือไม่ ถ้ายืนยันว่ากำกับได้ก็จบ  ​ซึ่งพรรคมีนโยบายกระจายอำนาจ ให้องค์กรดูแลกันเองได้ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ใช่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแต่ก็ยินดีร่วมมือ ​

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องสื่อไว้ชัดเจน ดังนั้นไม่ควรมี คำสั่ง คสช.​ ออกมา ควรยกเลิก คำสั่งที่เข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยสื่อควรมีอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลองค์กรตัวเอง ส่วนทำได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นบททดสอบตัวเอง