บนเส้นขนานสื่อ-พีอาร์
บนเส้นขนานสื่อ-พีอาร์ : กระดานความคิด โดยจอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล’
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ในวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างสื่อ กับประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นเป็นปกติ คล้ายน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า พีอาร์มีงบ นักข่าวระดับหัวหน้า หรือบรรณาธิการ มีอำนาจ ถ้าจะเอื้อเฟื้อเงินทอง สิ่งของให้กันบ้าง แลกเปลี่ยนกับการเปิดพื้นที่ให้แก่ข่าวสาร ข้อมูลของบริษัทนั้น หรือหากมีข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ก็ช่วยปรับ ช่วยแก้ ช่วยทิ้งไปไม่ให้เป็นข่าว ก็เป็นวิถีปกติที่มีปฏิบัติกันอยู่ อาจเป็นลักษณะของการกินคนเดียว หรือแบ่งปันกัน โดยที่ต้นสังกัดอาจรู้ หรือไม่รู้ก็ได้
ไม่ต้องถามว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่ หรือต้นสังกัดจะจัดการอย่างไร เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเพียง “คำเล่าลือ” ไม่มีหลักฐานเอกสาร หรือใบเสร็จมายืนยัน ถึงแม้ได้เห็นต่อหน้าต่อตา แต่ก็เลี่ยงบาลีกันไปได้ เช่น การจ่ายเงินเดือนโดยระบุชื่อบุคคลธรรมดา ในลักษณะที่เรียกว่า “ผูกปิ่นโต” แต่อธิบายว่าเป็นการจ่ายค่าโฆษณา ทั้งที่โดยปกติสัญญาจ้างโฆษณาจะต้องกระทำระหว่างนิติบุคคล กับนิติบุคคล และจ่ายให้นิติบุคคล หรือตัวแทนที่มีใบรับมอบอำนาจเท่านั้น
ถ้าจะย้อนยุคไปก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาสู่วงการนี้ และก่อนที่บทบาทของทุนธุรกิจจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการทำงานของสื่อ “นายสิบ” ผู้เขียน “อดีตแห่งปัจจุบัน” ได้ฉายภาพความฉ้อฉลของสื่อหนังสือพิมพ์ในความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างนักข่าว นักการเมือง และตำรวจ ที่ยังเป็นภาพสะท้อนมาจนถึงวันนี้ อย่างน่าสนใจว่า
“..นับตั้งแต่สงครามโลกสงบลง หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นง่าย คนข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ก็มาจากสารทิศอาชีพเดิม สมัยนั้นความตื่นตัวทางการเมืองสูงในระดับหนึ่ง หมายถึงบุคคลที่เข้าไปเล่นการเมือง หรือนักการเมืองอยากดัง ก็คบพวกนักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์เข้าไว้ เลี้ยงเหล้า เลี้ยงข้าวกันไม่อั้น แถมยังมีเงินค่ารถ หรือบุหรี่ฝรั่งติดไม้ติดมือกลับบ้าน นักข่าวการเมืองจึงมีช่องทางหากินดีกว่าพวกทำข่าวอื่น เมื่อวันเวลาผ่านไป ช่องทางหากินก็เกิดขึ้น ได้กับนักข่าวอาชญากรรมที่พึ่งพิงของตำรวจ ต่างตอบสนองซึ่งกันและกัน ในยุคสมัยหนึ่งการจับกุมทางอาชญากรรม ตั้งแต่เรื่องกระจอกจนถึงเรื่องใหญ่ จะมีรายชื่อตำรวจเข้าไปจับกุมตั้งแต่พลตำรวจถึงนายพลยาวเหยียด บางทียาวเสียกว่าเนื้อข่าวก็มี นักข่าวบันเทิงก็มีทางหากินของเขา”
เมื่อกิจการสื่อเคลื่อนย้ายเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม นายทุนสื่อส่วนหนึ่งมาจากพ่อค้า นักธุรกิจ การขยายกิจการจากสื่อหนึ่งไปยังอีกสื่อหนึ่ง ในลักษณะ “ข้ามสื่อ” ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับนักการเมือง สื่อกับตำรวจ กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวสายเศรษฐกิจ กับแหล่งข่าวบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ได้ทั้งข่าว ทั้งโฆษณา รวมทั้งเงินที่เรียกว่า “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” เฉพาะราย
ครั้งนี้ “คำเล่าลือ” ถูกแปรรูปเป็นหลักฐานเอกสารที่ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (ทีซีไอเจ) อ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ต่อมา ซีพีเอฟ บริษัทในเครือซีพี มีแถลงการณ์ยอมรับว่า บริษัทที่อ้างถึงคือ ซีพีเอฟ
ในเอกสารชุดนี้มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้แก่สื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน”
ผมไม่ใช่ศาล สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินความถูกผิดของใคร แต่หน้าที่ของเราคือกำกับ ดูแลกันเอง เมื่อมีข้อสงสัยสาธารณะถึงความน่าเชื่อถือของสื่อก็ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา
คณะกรรมการอิสระกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ และหวังว่าความจริงจะปรากฏในเร็ววัน