ชะตากรรม…ที่ถูกซ้ำเติม : กระดานความคิด โดย”จอกอ”
เสียงกรีดร้องอย่างโหยหวน และภาพผู้สูญเสียลูก ภาพเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย นานหลายนาที จบด้วยคำอธิบายของนักเล่าข่าวว่าให้พื้นที่เพื่อแสดงความเสียใจในโศกนาฏกรรมของครอบครัวนี้ ได้เสนอคำถามสำคัญว่า สื่อได้ทำหน้าที่ด้วยความสะใจ เพียงเพื่อสนองตอบสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ หรือได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ อย่างไร ยุคของทุนได้ทำให้เป้าหมายในเชิงอุดมการณ์ ถูกกดทับด้วยเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองลูกค้าที่กระหายใคร่รู้ความหายนะของคนอื่นเท่านั้นหรือ
หลายคนอาจจำได้ ภาพของกองทัพสื่อมวลชน รุมล้อมพ่อแม่เด็กที่ถูกระเบิดเสียชีวิตที่บิ๊กซี ราชดำริ ช่างกล้องทีวี ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ต่างซูมภาพสีหน้าแววตาผู้สูญเสีย กดชัดเตอร์รัวราวข้าวตอกแตก ในขณะที่นักข่าวก็ยิงคำถามซ้ำๆ เพียงให้เขาตอบว่า รู้สึกอย่างไรกับการสูญเสีย บางทีอาจอยากฟังว่า เขาดีใจที่สูญเสียลูกไป ภาพเหล่านี้ คำถามเหล่านี้ ท่าทีเหล่านี้ คือการบีบคั้นหัวใจของผู้สูญเสีย และดูเหมือนว่ามันจะยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคม หากคำว่า “ข่าวขายได้” คือบทสรุปสุดท้ายบนโต๊ะประชุมข่าว
แน่นอนว่า นี่เป็นเรื่องราวที่มนุษย์สนใจ หรือเป็น human interest ข่าวสีสัน ที่มีคุณค่าเชิงข่าว และเป็นข่าวสะท้อนสังคมที่สมควรนำเสนอ การเสนอข่าวจะนำไปสู่ความระมัดระวังมากขึ้นในการเดินทางโดยรถไฟ โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง การจัดการเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอได้มากมาย เช่น การรายงานสภาพและลักษณะของจุดที่เกิดเหตุ การรายงานระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และอาจรวมถึงการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของผู้บริหารการรถไฟ
ถ้าเราไม่ได้คิดใคร่ครวญมากนัก ก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเห็นว่าการได้รับรู้รายละเอียดของข่าวอย่างครบถ้วน ชื่อเด็ก ชื่อแม่เด็ก ชื่อนามสกุล บุคคลที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมของคนร้าย ภาพเหยื่อผู้ประสบเคราะห์กรรม ชื่อโรงเรียน ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่หากความสูญเสียนี้เกิดกับเรา ลูกเรา หลานเรา บางทีอาจจะคิดได้บ้างว่า การเสนอภาพและข่าวซ้ำๆ การเสนอภาพและข่าวที่เจาะจงชัดเจนนั้น มันสร้างความเจ็บปวดมากเพียงใด
การเสนอข่าวหรือภาพใดๆ ก็ตาม ต้องคำนึงถึงการไม่ไปล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความเคารพอย่างเคร่งครัดต่อเด็ก สตรี การเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ หรือโศกนาฏกรรม อันเกิดกับเด็กและสตรีนั้น
ไม่เพียงเรื่องความผิดต่อจิตใจเท่านั้น หากในมุมของกฎหมายก็นับว่าเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาด้วย
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 คุ้มครองเด็กจากการเผยแพร่ ภาพข่าวในสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยบทบัญญัติว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เรื่องกฎหมาย อาจจำเป็นต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครใช้กฎหมายนี้จัดการผู้กระทำความผิดเลย แต่ในเรื่องจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องความละเอียดอ่อนทางจิตใจ สื่อที่กระทำผิด สมควรได้รับการตักเตือน และองค์กรสื่อควรถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาดจริงจัง