สภาการฯ เปิดวงเสวนา ถกบทบาทสื่อกับการรับมือสงครามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง นักวิชาการห่วงกุข่าวลวง ขุดข่าวเก่าปลุกความขัดแย้ง เสนอสื่อต้องช่วยกันตรวจสอบ ผลักดันนโยบายหาเสียงสู่ความเป็นจริง
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเสวนา Media Forum ครั้งที่ 6 เรื่อง “บทบาทสื่อและการรับมือสงคราวข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 โดยมีนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการสื่อข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่จะกลายเป็นสถานการณ์ที่ทำให้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง รวมถึงการตัดสินใจต่อการเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ทางการเมือง การบริหารประเทศ ซึ่งผู้ร่วมเวทีมีความกังวลต่อการสร้างข่าวสารที่เป็นเท็จ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อและจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งที่ผิดพลาด
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากโดยเฉพาะในเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพราะมีความสะดวก และง่าย ซึ่งสื่อออนไลน์มีทั้งแบบเปิด เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และแบบปิด คือ ไลน์
คนเราจะเชื่อข่าวสารจากเพื่อน หรือคนสนิท แต่ถ้าไม่เชื่อเพื่อน ก็จะเชื่อคนแปลกหน้าไปเลย เช่นพวกสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนจากนี้ เชื่อว่าข่าวสารข้อมูลจะมีมาก ในระยะเวลาสั้นและจำกัด ดังนั้นจึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหว และประเด็นที่น่ากังวลก็คือ
- ความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อออนไลน์ จะมีเครื่องมือจับความสนใจ เช่น จากการ Like และShare ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม หรือที่เราไม่ชอบก็จะน้อยหรือไม่ได้รับเลย
- ข่าวสาร ใส่สีตีไข่, Fake News, ข่าวลวง, ข่าวลือ ในประเทศญี่ปุ่นจะมีการนำข่าวสารที่ไม่ดีของฝ่ายตรงข้ามมาเผยแพร่ ดังนั้นจึงเป็นห่วงว่าจะแก้ไขข้อ เท็จจริงให้ถูกต้องได้ทันเวลาก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
ช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่ข่าวสารอ่อนไหว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ข่าวสารสมดุล สมบูรณ์ และในฐานะผู้โหวต จะต้องได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ข้อมูลผู้สมัครควรต้องได้รับการนำเสนออย่างเท่าเทียมกัน
ดร. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์จะต้องมีการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ดังนั้นความกังวลใจคือ จะนำเสนอเนื้อหาอย่างไร เป็นกลางแค่ไหน อย่างไร ส่วนตัวนั้นไม่มีความกังวลถึงความเป็นกลางของสื่อ เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การนำเสนอข่าวสารเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะและมีความสมดุล
ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยชินกับการใช้อำนาจควบคุมสื่อ ดังนั้นสิ่งที่กังวลคือ นอกจากสื่อจะถูกควบคุมแล้วยังเซ็นเซอร์ตัวเองด้วย จึงมีความกลัวอยู่ในระดับหนึ่งว่า หากจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และทหาร คำถามคือ เป็นความเคยชินที่ยังจะมีอยู่หรือไม่ พร้อมจะก้าวออกมาจากความเคยชินนี้หรือไม่อย่างไร จะออกจากการควบคุม และเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างไร เพื่อทำหน้าที่สื่อมืออาชีพ
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรี เพราะ คสช. ควบคุมการเลือกตั้ง ทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การบังคับใช้กติกา รวมถึงการควบคุมกลไกของหน่วยงานที่กำกับการเลือกตั้ง และประเด็นสำคัญคือ คสช. ส่งรัฐมนตรีในรัฐบาล จำนวน 4 คน จัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเตรียมลงเล่นการเมือง ดังนั้นในบทบาทของสื่อมวลชนต่อการเลือกตั้งเพื่อให้การจัดเลือกตั้งมีความเป็นธรรม อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังมีคำสั่ง คสช. ที่กำกับบทบาทด้านการสื่อข้อมูล และนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
ผศ.ดร. วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า สื่อในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ 1. สื่อมืออาชีพ 2. สื่อใหม่ หรือองค์กรอิสระ อาจเป็นกลุ่มเกิดใหม่ที่มาจับกลุ่มกันเพื่อสื่อสารเรื่องเฉพาะ หรือกลุ่มทางการเมือง และ 3. องค์กรที่ทำข้อมูลวิชาการ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แต่จะเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ เช่นกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้
ดังนั้นหากมองถึงสนามการสื่อสาร และบทบาทหน้าที่ของทั้ง 3 สนามนี้จะพบว่า มีการให้ข้อมูลทั่วไป ตรงไปตรงมา เพื่อการรับรู้ ไม่ใช่ตัดสินใจ มีพื้นที่ หรือเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ในกลุ่มที่ 2 อาจมีการแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่ยังขาดไปคือ ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นภาพเชิงเปรียบเทียบ ข้อมูลส่วนนี้สำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชน แต่ยังเห็นไม่มากในขณะนี้
ส่วนสิ่งที่ยังไม่เห็นจากสื่อคือ บทบาท Watch Dog หรือการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวัง
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งว่า ในสถานะบุคคลทั่วไปมองใน 2 ประเด็น คือ 1. ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนระบบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะจากโครงสร้างที่กำหนด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญ คือ การเปลี่ยนผ่านที่มีอำนาจนิยมหรือระบบเผด็จการควบคุมการเมือง และ 2. สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งประชาชนต้องการรับรู้ว่า 4 – 5 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม รวมถึงกติกาทางการเมือง มีรายละเอียดและการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
สถานการณ์ดังกล่าวต้องนำไปสู่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของชาติ มากกว่าประโยชน์ของตัวบุคคล หรือการสร้างความเกลียดชัง ปลุกระดม สร้างความเป็นฝักฝ่าย ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสรี รวมถึงสะท้อนไปยัง คสช. ว่า การควบคุมเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครอง
นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เชื่อว่าในช่วงเลือกตั้งจะมีสงครามข่าวสาร และพบกรณีการปล่อยข่าว สร้างข่าวลวง หรือ ข่าวปล่อย ซึ่งมีลักษณะโยนหินถามทาง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องรวมตัวเพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการติดตามข้อมูลที่นำเสนอ แม้จะมีกระบวนการที่นำไปสู่การนำเสนอที่ช้า แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดข้อมูลที่แม่นยำ นอกจากนั้นสื่อมวลชนต้องร่วมมือสะกัดกั้นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น การออกแบบบัตรเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งจากกรณีที่จะมีกลุ่มคนประท้วงที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น
“ในการเลือกตั้งของต่างประเทศ พบข้อมูลว่าจะมีการสาดโคลนกันจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยเชื่อว่าจะมี ทั้งการขุดเอาข่าวเผาบ้านเผาเมือง คดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ดังนั้นหากเป็นไปได้สื่อมวลชนไม่ควรให้ความสนใจมากนัก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการขุดความขัดแย้งขึ้นมาอีก สิ่งที่ต้องการเห็น คือ การเจาะข้อมูลด้านนโยบายมากกว่าการนำเสนอตัวบุคคล การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ขณะที่กระบวนการการเลือกตั้ง สื่อมวลชนต้องแม่นยำในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง” นางสมศรี กล่าว
นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า ตนกังวลในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งจะพบการปล่อยข่าวลวง และใช้กลุ่มของสังคมออนไลน์ปั่นกระแสให้ขึ้นติดอันดับคำ หรือความนิยมทางโลกออนไลน์ ทั้งนี้มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าได้รับความร่วมมือจากรัสเซียร่วมกันสร้างกระแสข่าวพร้อมกัน จนทำให้ผู้ติดตามโลกออนไลน์เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือข้อเท็จจริงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นการปั่นกระแส ดังนั้นในการเลือกตั้งของประเทศไทย ตนมองว่า กกต. ต้องมีระบบตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวีชุมชน กล่าวว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ก็ทำให้เห็นความชัดเจนขึ้นบ้าง สำหรับท้องถิ่นในชุมชน การรับข่าวสารในท้องถิ่น ยังคงพึ่งพาสื่อกระแสหลักเดิมมากกว่าสื่อออนไลน์ ยกเว้นชนชั้นกลางในต่างจังหวัดที่จะเข้าถึงได้มากกว่า
สื่อปัจจุบันเหมือนถ้วยกาแฟ เมื่อคนน้ำในแก้วกระแสหลักจะทำให้น้ำหมุนเหวี่ยงจากจุดศูนย์กลางจุดเดียว แต่สื่อที่จะทบทวนตั้งคำถาม ยังมีน้อย ตอนนี้คนที่ต้องการปล่อยข่าว บิดเบือนข่าวสาร มีการจ้างสื่อมืออาชีพมาสร้างกระแสโดยตรง ฉะนั้นสิ่งสำคัญสำหรับสื่อทั้งชุมชนและสื่อท้องถิ่น คือ ความปลอดภัย เพราะยังต้องอยู่ในพื้นที่ เป็นความท้าทายในการเลือกที่จะนำเสนอข่าวสาร ท่ามกลางการอยู่กับหัวคะแนน และพรรคการเมือง
หากคนทำสื่อ ซึ่งเป็นนักค้นคว้าหาความรู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ควรทำหน้าที่เป็น “ครู” ผู้ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร เป็นที่พึ่งให้กับคนในสังคม เหมือนเช่นสื่อในอดีตเช่น อิศรา อมันตกุล อย่ามองแค่การรายงานผลการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่พึ่ง
นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบัณฑิต เซ็นเตอร์ (Kapook.com) เสนอต่อเวทีเสวนาด้วยว่า เพื่อให้เกิดการรวมตัวของสื่อมวลชน ที่สื่อข่าวทางออนไลน์ ผ่านการติดแฮชแท็ค หรือ รูปภาพที่มีคอนเซ็ปเดียวกัน เพื่อให้เกิดกระแส และพลังในการรับมือช่วงเลือกตั้ง
ขณะที่ตัวแทนจาก กกต. ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี กกต. กล่าวว่าระเบียบการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็บ ที่กำหนดไว้ ซึ่งนักข่าวยังฟังคำสั่ง ดังนั้น กกต. ต้องทำตามเช่นกัน โดยหลังจากนี้กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะทยอยออกมา และในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จะมีเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากนักการเมืองและสื่อมวลชนเพื่อให้กติกาออกมาดีที่สุด นอกจากนั้น กกต. พร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ผลจะเป็นไปตามต้องการหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ขณะที่การสร้างข้อมูลเท็จ หรือ โฆษณาชวนเชื่อนั้น กกต. มีระบบตรวจสอบภายใต้กฎหมายปกติ โดยการควบคุมนั้น จะมีระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการจับกุมและดำเนินคดีอาจทำได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ กกต. ได้คุยกับหน่วยงานเอกชน ทั้งเฟซบุ๊ก และ ไลน์ ยินดีให้ความร่วมมือกับ กกต. ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เช่น ลบข้อความตามที่แจ้ง
ดร. สติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ให้มุมมองด้วยว่า โซเชียลมีเดียคือสนามรบหลักของการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 แต่สิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งได้ คือ การเชื่อมโยงสนามรบเสมือนกับพื้นที่ทางกายภาพให้ได้ ทั้งนี้การใช้โซเชียลมีเดียจะต้องไม่เป็นภาระของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะสังคมออนไลน์นั้น สร้างการสื่อสารที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันได้ ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้รับสารทางเดียวเท่านั้น
“ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีมาก และเข้าถึงได้ง่าย แต่ปัญหาคือคนไม่ต้องการรู้เพียงแค่ข้อมูลที่เข้าถึงได้เท่านั้น เพราะต้องการมุมวิเคราะห์จากข้อสงสัยที่เกิดขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 88 ว่าด้วยการเสนอชื่อบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองสนับสนุน เป็นข้อมูลที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้มากกว่านั้นคือ ทำไมต้องเขียนกลไกลักษณะดังกล่าว และจะนำไปสู่อะไรหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะทำคือการรวมตัวเพื่อรับมือกับสงครามข่าวสารในช่วงเลือกตั้ง ที่มีลักษณะคล้ายกับการประทุของระเบิดที่ถูกกดทับ” นายสติธร กล่าว
น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ตอนนี้ภาคประชาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การสร้างองค์กรมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และสื่อต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องยึดร่วมกันไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อใหม่ และออนไลน์ คือ ข้อเท็จจริง Fact และความสมดุล เท่าเทียม Fair รวมทั้ง Free ความมีเสรีภาพในการนำเสนอและรับข้อมูลข่าวสาร
อีกประเด็นคือ ต้องมีการตรวจสอบองค์กรสื่อออนไลน์ข้ามชาติที่มีบทบาทมากในสังคมไทยตอนนี้ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กรณีศึกษาอาหรับสปริงส์ ที่สื่อออนไลน์ ต้องเรียกร้องความรับผิดชอบจากองค์กรเหล่านี้ต่อสังคม และผู้รับข่าวสาร เพื่อยกระดับของการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งในเมืองไทย ยังมีองค์กรตรวจสอบน้อย ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง ข่าวสาร และข้อมูลข่าวสารที่ขาดหายไป
นายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนที่เป็นกลางช่วยกันตั้งคำถามให้กับพรรคการเมืองทุกพรรคว่ามีนโยบายใดของพรรค ที่เป็นนโยบายหลักที่หากต้องร่วมรัฐบาลผสมแล้ว รัฐบาลนั้นต้องยอมรับและใช้นโยบายนั้นเพื่อให้พรรคที่จะเข้าร่วมรัฐบาลเป็นเครื่องต่อรองในการร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้น สิ่งนี้จะทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการเมืองให้นโยบายที่หาเสียงนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งนับจากครั้งก่อนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้พัฒนาการทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาไกลมากแล้ว แตกต่างจากเดิมหลายสิบเท่า ดังนั้นต้องตระหนักเรื่องนี้ เชื่อมโยงถึงปรากฎการณ์ใช้สื่อออนไลน์เพื่อหาเสียง ว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
ภาคประชาสังคมก็ใช้สื่อออนไลน์มากในขณะนี้ สามารถสร้างหรือกำหนดวาระทางสังคมในประเด็นที่ต้องการ และช่วยตรวจสอบพรรคการเมืองได้ด้วย รวมทั้งช่วยสื่อกระแสหลัก สื่ออาชีพ ซึ่งยังต้องยึดความน่าเชื่อถืออยู่เช่นเดิม
สื่อมวลชนคงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานข่าว และหาข้อมูลมากขึ้นเช่นเดียวกัน แทนที่จะส่งทีมลงพื้นที่ทุกแห่ง อาจต้องอาศัยนักข่าวต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย อาจมีทีมวิเคราะห์เพิ่มเติมในกรุงเทพฯ แต่คนก็อยากเห็นการนำเสนอข่าวในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้เรียกร้องมานานแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ทำอย่างไรจะเพิ่มการนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น นโยบายต่างๆ มีผลในทางปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมมือกับสื่อมวลชน กรณีนักวิชาการจะต้องไปให้ข้อมูลซ้ำๆผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงนี้ ยังคงมีอยู่ เรียกว่า Easy Access Resources นักวิชาการที่เข้าถึงได้ง่าย พูดสื่อสารได้ชัดเจนตรงประเด็น สื่อก็นิยมเชิญมาให้ข้อมูล
เรามีองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง ข่าวจริง- ลวง อยู่หลายองค์กร แต่ทำอย่างไรจะมาคุยกันและร่วมมือกันเพื่อสร้างข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้มากที่สุด
องค์กรสื่อควรร่วมมือกันทำไกด์ไลน์ แนวปฏิบัติการใช้โซเชียลมีเดียของสื่อ รวมทั้งคู่มือการทำข่าวช่วงการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ละเมิดจริยธรรม