สัมมนา คาดอนาค AI มีบทบาทเข้ามามีส่วนช่วยในการทำข่าว แนะใช้จริยธรรมนำ AI กูเกิล ผุด เครื่องมืออำนวยความสะดวกนักข่าว จับมือองค์กรสื่อ สกัดข่าวปลอม “ไลน์” ชี้ความถูกต้องต้องมาก่อนความเร็ว
วันที่ 19 ต.ค. ในการสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 หัวข้อ “ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0” จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในช่วงการ บรรยายพิเศษ (TED TALK) หัวข้อ “เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต”
นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะเข้ามามีส่วนช่วยในการทำข่าวอย่างมากมายในอนาคต ทั้ง การเลือกข่าวจากข้อมูลมากมายมหาศาล ไม่ให้ข่าวที่ออกมาจมไปกับข้อมูลซึ่งคาดกันว่า ในปี 2024 เอไอจะสามารถเขียนบทความได้ในระดับนักเรียนมัธยม และต่อไปจะแต่งเพลงได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ที่จะติดท็อปชาร์ตด้วย และปี 2049 จะเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมองกันว่าเอไอจะทำงานศิลปไมไ่ด้ แต่หลังๆ จะเห็นเอไอทำงานศิลปะกันมากขึ้น หรือการออกแบบการเขียนข่าวตามสไตล์เฉพาะตัว ด้วยการเรียนรู้สำนวนของคนเขียน อังกฤษ ใช้เอไอเปลี่ยนข่าวให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ในการนำเสนอญีปุ่่นสามารถใช้เอไอเขียนนวนิยายสั้น เกือบชนะรางวัล Literary Prize
นายชัย กล่าวว่า เอไอไม่ได้มีแต่เฉพาะด้านบวก เพราะอาจไม่สามารถทราบได้ว่าข่าวที่เอไอเขียนมาลอกใครมาหรือไม่ หรือเอไอมีการตระหนักถึงสิ่งที่เขียนหรือไม่ ดังนั้น ถึงเทคโนโลยีเปลียนแต่ นักข่าวไม่เปลี่ยน ซึ่งเอไอก็อาจตามไม่ทันศัพท์ใหม่ๆ ที่สำคัญต้องใช้จริยธรรมนำเอไอ ต้องใช้จริยธรรมนักข่าว ควบคุมเอไอ ป้องกันเรื่องความเป็นส่วนตัวของมนุษย และเลือกบิ๊กดาต้าที่จะป้อนให้กับเอไอ
น.ส.สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลตั้งมา 20 ปี มีภารกิจที่ไม่เคยเปลี่ยนคือต้องการมีส่วนร่วมจัดการข้อมูลข่าวสารบนโลกใบนี้ มีประโยชน์ต่อคนบนโลก โดยผู้สื่อข่าวทำสิ่งเหล่านี้มาก่อน กูเกิล กูเกิลจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการ นำมาสู่โครงการกูเกิล นิวส์ อินิชิเอทีฟ สนับสนุนนักข่าวทั่วโลก 300 ล้านเหรียญ พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตข่าว และหลักสูตรออนไลน์ ยังช่วยการสร้างการเติบโตร่วมกันไปกับผู้สื่อข่าว เจ้าของสื่อ บนแพลตฟอร์มออนไลน์
อย่างไรก็ตาม กูเกิลมีเครื่องมือมากมายในการช่วยทำข่าว ทั้งเครื่องมือแผนที่ที่สามารถวัดระยะทาง ระยะเวลาเดินทางที่ค่อนข้างแม่น กูเกิล ทรานสเลทจากแปลภาษาเป็นคำๆ เร่ิมเป็นประโยค อัพเดทที่ในภาษาไทยถือเป็นการก้าวกระโดดในรอบ 20 ปี แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซนต์แต่ช่วยทำให้ทำงานข่าวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งโปรแกรมจดโน๊ตด้วยคำสั่งเสียงที่เป็นแบบเรียลไทม์ จดโน๊ตข้างนอกคนในออฟฟิศเห็นหมดพร้อมกัน หรือ อิมเมจกูเกิลที่สามารถตรวจสอบว่าเป็นรูปจริงรูปแต่ง มีที่มาจากไหน
น.ส.สายใย กล่าวว่า กูเกิลเทรนด์ เป็นอีกเทคโนโลยีที่ใช้ท่ามกลางการค้นหาข้อมูลล้านล้านเว็บไซต์ เมื่อเรามีข้อมูลคนใช้เราก็จะรู้ว่าคนสนใจข่าวอะไร เช่น ช่วงนี้มี “คีย์เวิร์ด” ไหนที่คนค้นหาเยอะ เช่น ในอเมริกา มีคำค้น “ย้ายไปแคนาดา” สูงมากในช่วง โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง หรือ หาได้ว่าพื้นที่ไหน ชอบเพลงแบบไหน จะได้เขียนข่าวหรือสัมภาษณ์บุคคลได้ตรงกับความสนใจมากที่สุด
นอกจากนี้ กูเกิล ยังทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าวทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่ผิด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราไม่เสนอข้อมูลผิด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร โดยเฉพาะเฟคนิวส์ กูเกิล มีนโยบายให้ความสำคัญ โดยทำงานร่วมสามาคมข่าวฯ โดยเร็วๆ นี้ จะมีให้สำนักข่าวร่วมยืนยันความถูกต้องลงในเนื้อหาที่เผยแพร่
นายชรัตน์ เพ็ชรธงไชย หัวหน้าธุรกิจไลน์ทูเดย์, ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้คนสร้างสรรค์เนื้อหาได้รวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น จนกระทบไปถึงทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อ เพราะเมื่อผู้อ่านมีตัวเลือกมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเกิดการแข่งมากขึ้นอีกทั้งปัจจุบันผู้ผลิตเนื้อหาไม่ใช่แค่สื่อมวลชนทั่วไปแต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้คนทำข่าวยังอยู่รอดได้จะต้องพิจารณาใน 3 อย่างคือ เนื้อหา คนดู และ ช่องทาง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีทำให้การผลิตเนื้อหาสามารถรู้ได้ว่า คนอ่านชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ส่วนช่องทางการสื่อสารบริการของ “ไลน์” ทำให้สามารถเข้าถึงได้ทั้งผู้ผลิต และคนอ่าน รวมทั้งใช้เอไอเข้าาคัดกรองเนื้อหาไม่ได้นำข่าวเป็นพันมาเสนอทั้งหมดแต่ใช้อัลกอริธึมมาใช้ให้รู้ว่าคนอ่านชอบอ่านข่าวอะไร
“สิ่งที่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ คือประเด็นเรื่องความเร็วไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ต้องเป็นประเด็นความจริง ความถูกต้อง เพราะคนสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงเรื่องการเอนเอียงไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ใช่มองแต่ปริมาณ แต่ต้องมองคุณภาพ และการทำคอนเทนต์ไม่ได้ทำคอนเทนต์เดียวจะเหมาะสมกับทุกที่ แต่ต้องคิดว่าแพลตฟอร์มนี้เหมาะกับเนื้อหาอะไร”
นายชรัตน์ กล่าวว่า ต่อไปคนที่อ่านข่าวจากสมาร์ทโฟนเราจะรู้ว่า คนอ่านเคยเข้าเว็บไซต์อะไรมาแล้วบ้าง ก็จะสามารถเดาทางพฤติกรรม ว่าคนคนนั่นสนใจสิ่งใดและจึงจะนำเสนอข่าวไปยังคนคนนั้น ไลน์เหมือนแพลตฟอร์มอีกทงเลือกหนึ่งทำให้ตัวข่าวถูกกระจายมากขึ้นเป็นตัวกลางช่วยให้เกิดการแบ่งรายได้กับคนผลิตเนื้อหา ขณะเดียวกันก็จะดูแลด้านความปลอดภัยเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย
นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากการทำข่าวสมัยก่อนที่ต้องใช้แท่นพิมพ์ 200-300 ล้านบาท มีรถส่งหนังสือพิมพ์ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิตอล พฤติกรรมคนอ่านก็เปลี่ยน การทำข่าวก็เปลี่ยนไป ทั้งช่องทางและรูปแบบปัจจุบันมีแค่มือถือเครื่องเดียวก็จบ อยากให้คนอ่านเยอะก็มาบูสต์โพสต์เลือกเป้าหมายได้เลย ทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาตัวเองในการทำข่าวดิจิจตอล
อย่างไรก็ตาม การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น 4 ปีที่เรียนก็ถือเป็นเบ้าหลอมให้นักศึกษา จะได้ไปศึกษาเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรื่องความเร็วก็อาจนำมาสู่ความผิดพลาด ขนาดหนังสือพิม์เดิมที่ทั้งนักข่าวส่งข่าว รีไรท์ พิสูจน์อักษร ยังผิดได้ ดังนั้นออนไลน์มีโอกาสผิดอยู่แล้ว อยู่ที่ผิดแล้วจะยอมรับไหม สังคมไทยพร้อให้อภัย ขณะที่ปัญหาเรื่องข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์เป็นปัญหาระดับชาติหากเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ เมื่อทำผิดก็สามารถไปติดตามฟ้องร้องหรือหาคนผิดฟได้ไม่ยากดังนั้นเขาคงไม่ทำข่าวปลอมให้อ่าน