วงเสวนา Media Forum ครั้งที่ 3 ระบุ รัฐ ทุน สื่อ ประชาชน ต่างกุมอำนาจสื่อ ต่างกันที่สัดส่วน บริบท และสถานการณ์ เห็นพ้องจับมือต่อรองให้เจ้าของแพลตฟอร์มร่วมรับผิดชอบต่อสังคมดิจิทัล ชี้การสร้างความเป็นพลเมืองต้องส่งเสริมเรื่องการรู้เท่าทัน
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 5 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดกิจกรรม Media Forum ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “สิทธิพลเมืองดิจิทัล: อำนาจสื่อในมือใคร” ขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ Center for Humanitarian Dialogue วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ Media Fun Facts และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เริ่มต้นเกริ่นนำ และชวนเช้าสู่การเสวนาด้วยการกล่าวถึงคำสำคัญ 2 คำคือ “อำนาจสื่อ” และ “สิทธิพลเมือง” เพราะในปัจจุบันพลเมืองสามารถเป็นสื่อได้ ทำให้สื่อต้องปรับตัว มามองสิทธิพลเมืองผ่านเรื่องราวของสื่อสารมวลชน จากเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน จึงเกิดคำถามว่าอำนาจสื่ออยู่ในมือใครกันแน่ และควรมีข้อเสนออย่างไรเพื่อให้พลเมืองดิจิทัลมีประสิทธิเสรีภาพ และมีศักดิ์ศรีมากขึ้น
จากนั้นการเสวนาได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรร่วมแสดงทรรศนะ เริ่มจาก นายพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ อดีตกรรมการ World Association of Newspapers and News Publishers (WAN – IFRA)และ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งแสดงความเห็นว่า อำนาจที่กล่าวถึงนั้นอยู่กับสื่อ และประชาชน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้ต้องมาดูว่า ข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งเห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มที่ดี เป็นพื้นที่ที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านลบด้วย
นายพิชายกล่าวถึงบทบาทของสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ในยุคดิจิทัลควรจะมีการฝึกอบรมนักข่าวในเรื่องของสื่อดิจิทัล การตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารข้อมูล โดยยกตัวอย่าง ในเครือข่าย Asia News Network (ANN) ที่มีการตกลงกันว่าสมาชิกควรจะมีความผิดชอบ โดยกำหนดรายการตรวจสอบ (Check Lists) ในการตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร พร้อมกันนี้ ต้องสนับสนุนให้พลเมืองคุ้นเคยกับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งก็ต้องมาดูว่า สื่อไทยจะทำอย่างไรที่จะหากระบวนการของตัวเอง และที่สำคัญไปกว่าคือนโยบายของสื่อ ที่อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนก็คือ ไม่เห็นด้วยที่ให้รัฐมาควบคุมสื่อ ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะสื่อ นักวิชาการ รัฐบาล องค์กรเอกชน องค์กรประชาชน นั้นควรมีการหารือกัน
ประเด็นสำคัญที่นายพิชายได้หยิบยกคือ บทบาทของเฟชบุ๊ก ซึ่งเขาคิดว่า เฟชบุ๊กควรจะยอมรับว่า นอกจากเป็นแพลตฟอร์มแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตด้วย โดยในฐานะผู้ผลิตควรจะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ ในการตรวจสอบข้อมูล และปัจจุบันนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเมื่อพูดถึงสื่อดั้งเดิม หากยังยึดติดกับเรื่องต้องตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ สื่อดั้งเดิมอาจจะไม่อยู่ไม่นาน ขณะที่ เมื่อพูดถึงดิจิทัลก็ต้องมาพูดกันว่าจะสร้างรายได้อย่างไร
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับเห็นต่างว่า อำนาจสื่อไม่ได้อยู่ในมือผู้บริโภค เช่น จากกรณีของสารเคมีอันตราย สะท้อนให้เห็นว่า หากอำนาจสื่ออยู่ในมือผู้บริโภค หรือในมือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแล้ว เรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องความปลอดภัยน่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ซึ่งในความเห็นของตัวแทนจากภาคผู้บริโภคมองว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือทุน และสื่อไม่เคยยอมรับ แม้ว่าความเป็นวิชาชีพนั้นมีอยู่ แต่อยู่ภายใต้การกำกับของทุน และคิดว่าหากยิ่งอยู่ภายใต้การกำกับของทุนมากขึ้น สื่อจะยิ่งไม่มีอำนาจ
สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ นางสาวสารีคิดว่าเข้ามาช่วยได้บ้างในฐานะเป็นพื้นที่แสดงออกของประชาชน แต่ในประเทศไทยยังคงใช้โครงสร้างการตัดสินใจแบบเดิม คือเป็นปัญหาของกฎหมาย ที่ใช้การตัดสินใจของคนเพียงมี่กี่คนมาตัดสินเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นวิกฤติอำนาจการตัดสินใจของประเทศ
ขณะที่ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน กล่าวถึงสภาพปัจจุบันที่ผู้บริโภคพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์กันมาก ทว่ากลับให้ความสนใจเฉพาะข่าวดราม่า ทำให้สื่อกระแสหลักปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีแนวทิศทางการทำข่าวไปตามความต้องการการบริโภคสื่อ เพราะจำเป็นต้องได้มาซึ่งเรตติ้ง ยอดผู้ชม ยอดคลิก เพื่อให้ได้รายได้ เลยเป็นสภาวะกระอักกระอ่วนว่า หากยังเป็นสถานการณ์แบบนี้ โอกาสไปทำข่าวคุณภาพก็จะจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคซึ่งเป็นพลเมืองดิจิทัลเองก็ต้องตระหนักด้วยว่า หากบริโภคข่าวดราม่ามากก็จะส่งผลต่ออนาคต
ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยอมรับว่า บทบาทของผู้บริโภคในฐานะพลเมืองดิจิทัลมีส่วนกำกับดูแลสื่อมากขึ้น เช่นกรณีถ้ำหลวง แต่ในเชิงวิชาชีพวารสารศาสตร์ที่ต้องสร้างความกระจ่าง จึงเป็นที่มาของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อทำเกินไปหรือไม่ บางครั้งอารมณ์ของสังคม อารมณ์ของสื่อสังคมออนไลน์ ก็ไปกระทบต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่เงียบ หรือไม่ได้แสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น ก็ต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของพลเมืองดิจิทัล กับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นวิชาชีพของสื่อให้ไปด้วยกันได้
และในฐานะที่สังเกตการณ์พลเมืองดิจิทัลของไทย นายชวรงค์กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เมื่อใช้คำว่าพลเมืองดิจิทัล พลเมืองคือคนที่ตื่นรู้ ไม่ใช่พลเมืองทั่วไป ต้องรู้เท่าทัน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ น้อยมากที่คนที่จะเป็นพลเมืองจริงๆ ในโลกของความเป็นจริง พลเมือง กับประชาชน ต่างกันคือพลเมืองคือคนที่กระตือรือร้น ในเรื่องการเมือง ส่วนในทางดิจิทัล พบว่ายังมีปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนทำงานนี้เลย เช่นเรื่องการต่อต้านข่าวปลอม ก็มีทำกันอยู่หลายหน่วยงาน เช่น kapook ช่อง 9 หรือสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งคนที่ทำเรื่องเดียวกันควรจะเกิดเครือข่ายอย่างหลวมๆ แม้ไม่ต้องมาร่วมกันทำ แต่ก็ให้รู้กันว่าใครทำอะไรอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง
สิ่งหนึ่งที่นายชวรงค์ตั้งข้อสังเกตผู้บริโภคในสังคมไทยก็คือ การไม่ตื่นตัว ยอมซื้อของไม่ดี ไม่ได้คุณภาพ หาก เปรียบเทียบกับมาเลเซียซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้บริโภคตื่นตัวมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะถูกจำกัดสิทธิอย่างอื่น เช่นสิทธิทางการเมือง แต่ในประเทศไทยด้วยเพราะมีสิทธิทางการเมืองพอสมควร พอมีเรื่องดิจิทัลขึ้นมา ก็เลยเกิดกลุ่มที่เรียกว่านักเลงคีย์บอร์ดขึ้นมาจำนวนมาก ส่วนนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้สร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทย กับกัมพูชาพบว่า กัมพูชาก้าวจากสังคมข่าวลือ ตัวอย่างจากเหตุเผาสถานทูตไทย มาเป็นสังคมดิจิทัลเลย โดยผ่านช่วงของสังคมที่ขับเคลื่อนโดยสื่อมวลชน ปัจจุบันบล็อกเกอร์ หรือ ผู้มีอิทธิพลในดิจิทัลของกัมพูชากล้าเปิดเผยตัวตน เพราะเชื่อมั่นว่าสังคมของเขามีวุฒิภาวะเพียงพอ
คำถามที่ว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือของใคร ยังคงเป็นคำถามที่มีความเห็นต่างอย่างหลากหลาย เมื่อ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นว่า จะดูว่าอำนาจสื่ออยู่ในมือของใครนั้น ต้องดูบริบท และช่วงเวลาขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ในบริบทของพลเมืองเน็ต อำนาจอยู่ที่การออกแบบแพลตฟอร์ม จากเอกสาร Privacy Blueprint ระบุว่า การออกแบบระบบบางอย่างทำให้ความเป็นส่วนตัวหายไป สะท้อนให้เห็นว่า ตอนออกแบบแพลตฟอร์มไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้อย่างเพียงพอ
ประเด็นที่น่าสนใจที่นายอาทิตย์พยายามจะตอบคำถามว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจสื่อนั้น คือ มาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ…..ที่ระบุเกี่ยวกับข้อยกเว้นว่าจะไม่ใช้กฎหมายนี้กับหน่วยงานความมั่นคง สื่อ สภาผู้แทนราษฎร ศาล การดำเนินงานของบริษัทข้อมูลเครดิต ซึ่งถ้าดูตามกฎหมายนี้ ก็น่าจะพอกล่าวได้ว่า ทุนใหญ่ รัฐบาล สื่อ หน่วยงานความมั่นคง ยังคงเป็นกลุ่มที่มีอำนาจ
ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องอำนาจของแพลตฟอร์มอย่างสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟชบุ๊กซึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดวาระสาร โดยที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ เป็นสิ่งที่กระทบกับสื่ออาชีพมาก โดยจะเห็นว่าเนื้อหาของสื่ออาชีพออกน้อยลงเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพื้นที่แสดงออกมากขึ้น ทั้งนี้ เฟชบุ๊กกำหนดอัลกอริทึมให้ขึ้นกับวิธีที่นำเสนอ แต่ไม่ได้เลือกประเภทเนื้อหา จุดนี้ผู้จัดการ iLaw มองว่ายังเป็นไม่น่าห่วงมาก
ต่อคำถามว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือใคร นายยิ่งชีพยังคิดว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือรัฐ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นประเด็นใด โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐเข้ามาควบคุมมากในเรื่องที่กระทบกระเทือนกับรัฐ เช่นกรณีช่วยเหลือเด็กติดถ้ำ ซึ่งเห็นว่าสื่อถูกตำหนิมากเกินไป ทั้งๆ ที่สื่อไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอะไรเลย หากรัฐไม่ให้
ด้าน นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และผู้เข้าร่วมหลักสูตรสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rold) กล่าวว่า ในระดับโลกอันดับหนึ่งของเจ้าของอำนาจสื่อคือ ทุน รัฐบาล สื่อ และผู้บริโภค ตัวอย่างในฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ใหญ่ 4 ฉบับ เป็นของเศรษฐีทั้งหมด สื่อเป็นเหมือนของเล่นของเศรษฐี ทุนมีอิทธิพลมากกับสื่อทั้งโลก ขณะที่ ในประเทศไทยมีการออกแบบตลาดการแข่งขันสื่อที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม สื่อหนังสือพิมพ์หลักก็เป็นของนายทุน การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้แก่ การได้สัมปทานคลื่น การได้มาซึ่งงบประมาณภาครัฐ (งบประมาณประชาสัมพันธ์) ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่จะช่วยให้สื่อเอกชนอยู่ได้ แต่การเข้าถึงงบประมาณก้อนนี้กลับขึ้นอยู่กับใครเส้นใหญ่ ไม่ใช่ใครคุณภาพดีกว่ากัน นอกจากนี้ เรื่องข้อมูลข่าวนโยบาย การติดตามข้อมูลภาครัฐ สื่อจะมีต้นทุนมากขึ้น เพราะเข้าถึงข้อมูลได้ยาก โดยภาครัฐพยายามสร้างกำแพงให้สูง ซึ่งหากเข้าถึงข้อมูลง่าย การทำสื่อก็จะง่ายขึ้น มีกำไร และอยู่รอดได้
สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ นายธิปไตยมองว่า เป็นอีกทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูล ทว่ารัฐไทย ยังมีกลไกที่ตามไม่ทัน ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เช่นภาษี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สื่อไทย เสียเปรียบเฟชบุ๊ก อีกประเด็นก็คือเรื่องกฎหมายกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้น ถ้าอยากให้สื่อเอกชนขนาดเล็กสามารถไปได้ น่าจะเริ่มคิดในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายในสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในธุรกิจสื่อ
การเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนจนมาถึงประเด็นที่จะร่วมกันหาวิธีทางให้อำนาจสื่อมาอยู่ในมือประชาชน ซึ่ง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรกำกับดูแล เมื่อพูดถึงอำนาจสื่อ หากพูดถึงอำนาจาการผลิตสื่อ ทุกวันนี้ต้องบอกว่า กระจายไปถึงประชาชนแล้ว แต่อำนาจในการเป็นตัวกลาง สื่อก็ถูกอำนาจแพลตฟอร์มแย่งไป และอำนาจแพลตฟอร์มนี้มีอิทธิพลมาก เนื่องจากตอบสนองความต้องการบริโภคได้อย่างเฉพาะเจาจง ส่วนหากพูดถึงอำนาจกำกับดูแล คิดว่าอำนาจรัฐไม่ค่อยมีทิศทาง ยกเว้นอำนาจในการปิดกั้น เช่นข่าวที่มีความอ่อนไหว ข่าวที่กระทบความมั่นคง ส่วนอำนาจทุนก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะสื่อเองก็ยังเป็นธุรกิจ ซึ่งนพ.ประวิทย์ เห็นด้วยที่ว่า อำนาจที่ควรอยู่ในมือประชาชน คืออำนาจในการเข้าถึง และเมื่อเข้าถึงแล้ว ประชาชนต้องมีอำนาจในการพิจารณากลั่นกรอง
ทั้งนี้ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ แสดงความเห็นส่วนตนว่า ไม่คิดว่าเฟชบุ๊กเป็นวิชาชีพด้านสื่อในเชิงจริยธรรม เพราะควบคุมในเชิงธุรกิจ ซึ่งได้พูดมาตลอดว่า สื่ออย่างน้อยต้องพยุงสังคม หากอยากผูกขาดอำนาจ ต้องทำประโยชน์แก่สังคม อำนาจจะอยู่ในมือประชาชนได้ ต้องมีสื่อมวลชนมืออาชีพ แต่ต้องแก้ปัญหาเรื่องการพึ่งพิงทุน ซึ่งวันนี้มีทีวีสาธารณะ แต่ยังไม่มีสื่อสาธารณะแบบอื่นที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงทุนมากนัก ก็น่าจะมีการริเริ่มทำสื่อสาธารณะอาจจะเริ่มต้นจากนักวิชาการ นักวิชาชีพก่อน อย่างช่วงนี้ที่รัฐมีอำนาจมาก เพราะเป็นช่วงที่ไม่ปกติ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยเลือกตั้ง รัฐไม่สามารถเซนเซอร์ได้มากขนาดนี้ และเชื่อว่าอำนาจรัฐจะกลับไปเป็นอำนาจรัฐแบบเดิมเมื่อมีรัฐบาลปกติหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น การทำให้อำนาจสื่ออยู่ในมือประชาชนต้องให้มีการเลือกตั้ง
สำหรับเรื่องการรู้เท่าทันนั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นต้องทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย และต้องไม่ใช่การพูดคุยแค่หลักการ ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของ Start up ไม่ว่าจะทุนขวาง หรือรัฐขวาง แต่สิ่งที่รัฐตามไม่ทันคือ เทคโนโลยี ต้องลงมือทำในเครือข่ายที่มีอยู่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ
ด้าน นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้ง kapook.com ตั้งคำถามว่า อำนาจสื่อที่อยู่ในมือรัฐบาลนั้น รัฐได้ใช้โอกาสที่มีอำนาจนี้อย่างเต็มที่หรือไม่ ส่วนการจะมองว่าอำนาจอยู่ในมือใครมองเป็น 3 ส่วน คือ 1) ทุนขนาดใหญ่ ที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศต่างๆ โดยแทบจะไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องผลิตเนื้อหาเอง ซึ่งคือผู้ควบคุมแพลตฟอร์ม ที่เปิดพื้นที่ให้ใช้ และที่น่ากังวลคือ พยายามเปลี่ยนสื่อเดิมให้เป็นเพียงผู้ให้บริการเนื้อหา (content provider) ซึ่งถ้าปล่อยไปนาน สื่อดั้งเดิมจะลดอำนาจ]’ไปเรื่อยๆ 2) อำนาจอยู่ในมือคนที่ไม่เคยเป็นสื่อ แล้วอยากเป็นสื่อ ที่ได้ประโยชน์จากอำนาจของเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ และ 3) อำนาจอยู่ในมือประชาชน แม้ไม่ผลิตสื่อ แต่กดดันสื่อได้มากขึ้น เช่นกรณีข่าวถ้ำหลวงนั้นเห็นได้ชัดว่า ประชาชนสามารถช่วยตรวจสอบสื่อได้มากขึ้น ในเมื่อวงการนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ นายปรเมศวร์ เน้นว่าก็ต้องช่วยกันดูให้อำนาจกลับมาสู่ประชาชนมากขึ้น และสื่อเองก็ต้องพัฒนาตนเองด้วย
ตัวแทนจากภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของนวัตกรรมอย่าง ดร.เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ในความสัมพันธ์กับนักศึกษา จากการเกี่ยวข้องกันบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟชบุ๊ก พบว่าปัจจุบันเป็นวัฒนธรรมมาเร็วไปเร็ว ทุกอย่างอยู่ในสเตตัสบนสื่อสังคมออนไลน์หมด อาจจะกล่าวได้ว่า อำนาจสื่ออยู่ทั้งในมือเจ้าของแพลตฟอร์ม และคนที่ใช้แพลตฟอร์ม แต่คนที่ใช้แพลตฟอร์มถูกกระตุ้นโดยหลายปัจจัย ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีความรู้เท่าทันสื่อเพียงพอ หรือรู้แต่เจตนาเล่นกับมัน ในเรื่องนี้นวัตกรรมจะเข้ามาช่วย โดยแพลตฟอร์มต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น ในเรื่องอัลกอริทึม หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ว่าไปที่ไหนบ้าง อีกเรื่องคือต้องสร้างวัฒนธรรมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ประชาชนก็ต้องวิพากษ์ตนเองด้วย ว่าเป็นผู้ใช้แพลตฟอร์มที่ดีหรือไม่
ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ได้จุดประเด็นคำถามในการยกระดับประชาชนให้เป็นพลเมือง โดยกล่าวว่า ถ้าจะให้ดิจิทัลสร้างความเป็นพลเมือง การเข้าถึงดิจิทัลต้องสะท้อนความเป็นจริง เช่นการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตในเชิงปริมาณ ต้องทั่วถึง และถูกลง ขณะที่ ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรม ต้องมีกลไกเฝ้าระวัง ไม่ใช่แบบตรวจจับ แต่เป็นการเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร โดยเฉพาะ ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป การเฝ้าระวังต้องเป็นมิติที่ทุกคนลุกขึ้นมาสนใจในเรื่องรอบตัว ซึ่งการเป็นพลเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสื่อสารเรื่องนั้นๆ
ผศ.ดร.เอื้อจิต ยังได้พูดถึงการรู้เท่าทันสื่อว่า ไม่สามารถทำแค่ในโรงเรียนได้ แต่ควรมีเครือข่ายภาคพลเมือง โดยใช้ช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ แล้วไปเปลี่ยนวัฒนธรรมการสื่อสารในสังคม ซึ่งเรื่องนี้ต้องเปิดประเด็นจากภาครัฐ หรือภาควิชาการ โดยยกบทเรียนจากวิทยุชุมชน ที่มีจุดประสงค์ให้ชุมชนสื่อสารกันในชุมชน แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นรายการเพลง สะท้อนให้เห็นว่า เมื่ออำนาจมาอยู่ในมือ ก็ขึ้นอยู่ว่าอำนาจนั้นอยู่ในมือของใครที่ใช้อำนาจ
การเสวนาวันนี้ยังมีตัวแทนจากภาครัฐคือ นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ยืนยันว่า อำนาจสื่ออยู่ในมือทุกคน ไม่ว่าประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ประชาชนที่เป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลาง ผู้ให้บริการเนื้อหา รวมทั้งภาครัฐ แต่จะทำอย่างไรให้อำนาจสื่ออยู่ในมือประชาชน ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า ประชาชนต้องเป็นพลเมืองดิจิทัล ที่มีความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ในเรื่องการตระหนักรู้ในเรื่องเทคโนโลยี เช่นใช้ในการประกอบอาชีพ ใช้ในทางสร้างสรรค์เกิดประโยชน์แก่ตนเอง คนรอบข้าง ชุมชน และประเทศชาติ
ตัวแทนจากดีอียังกล่าวต่อว่า เนื่องจากประชาชนต้องการสิทธิของประชาชน สิทธิในการเข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ในเมื่อประชาชนมีสิทธิ ภาครัฐก็ต้องเข้ามากำกับดูแลการใช้สิทธิ เพื่อไม่ให้การใช้สิทธิเหล่านั้นไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งในส่วนของดีอีนั้นทำเรื่องของภาคบังคับ หรือกฎระเบียบ กฎหมาย เมื่อมีกฎหมายเหล่านี้ ก็เลยเหมือนไปควบคุมสื่อ แต่จริงๆ แล้วภาครัฐต้องการควบคุมสิทธิ ไม่ให้เกิดการละเมิด หรือถูกละเมิด อีกส่วนคือส่วนของการส่งเสริม หรือสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องดิจิทัล โดยกระทรวงฯ มีหลักสูตรการเรียนรู้ Digital Literacy มีกิจกรรมส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในระดับชุมชน ซึ่งเหล่านี้จะทำให้อำนาจสื่อดิจิทัล จะอยู่ในมือพลเมืองดิจิทัลอย่างแท้จริง
ในตอนท้าย นางสาวสุภิญญาได้สรุปประเด็นที่เป็นข้อเสนอที่ได้จากการเสวนาในวันนี้ว่า สิ่งที่ควรจะทำในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองดิจิทัลนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำงานในส่วนที่ตนทำได้ ทั้งภาครัฐ ภาคผู้บริโภค ภาควิชาการ รวมทั้งสื่อเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้การเข้าถึงความเป็นดิจิทัลมีต้นทุนที่ถูกลง การรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจากับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบ และความมีส่วนร่วมมากขึ้น การสร้างอำนาจต่อรองของภาคพลเมือง การสร้างมาตรฐานความโปร่งใส การสร้างความเป็นธรรมในเรื่องของการจัดเก็บภาษี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสิ่งที่สำคัญก็คือการสร้างการรู้เท่าทันดิจิทัล