ตั้งวงถกสื่อท้องถิ่น รับมือสื่อออนไลน์

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จับมือพันธมิตร ตั้งวงถกสื่อท้องถิ่น ระดมสมองหาช่องทางรับมือการขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์ เล็งรวมกลุ่มเครือข่ายเสริมความเข้มแข็งภาคพลเมืองให้รู้เท่าทัน และร่วมกันเฝ้าระวัง

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Center for Humanitarian Dialogue มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า และโครงการ Media Fun Facts ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี โดยการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเสวนา ในเวที Media Forum ครั้งที่ 2 “สื่อ (ท้องถิ่น) ยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย” ณ จัมป์สเปซ โคเวิร์คกิ้งสเปซ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ เข้าร่วม อาทิ นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายธีระพงษ์ โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผศ. ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการมีเดีย มอนิเตอร์ ดร. สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส อาจารย์สุรีวัลย์ บุตรชานนท์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น และนายชุมพร พารา เจ้าของเว็บไซต์ขอนแก่นลิงก์

การเสวนาเริ่มด้วยการเกริ่นนำวัตถุประสงค์การจัดงาน และแนะนำผู้เข้าร่วมเสวนา โดยนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า และบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์อีสานบิซ จังหวัดขอนแก่น ตามด้วยการนำเสนอกระบวนการไดอาล็อก โดย น.ส. ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Center for Humanitarian Dialogue

จากนั้นเป็นการนำเสนอมุมมอง “สื่อ (ท้องถิ่น) ยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย” โดย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อดีตกรรมการ กสทช. ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดเวทีในครั้งนี้ว่า ได้จัดเวทีครั้งหนึ่งแล้วที่กรุงเทพฯ ซึ่งนายเจริญลักษณ์ไปร่วมงานด้วย แล้วสนใจมาจัดเวทีที่จังหวัดขอนแก่น

น.ส. สุภิญญา กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในประเทศไทยว่า ไทยเสียโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพราะการติดตั้งโทรศัพท์บ้านเป็นเรื่องยากในอดีต ต่อมาเมื่อโทรศัพท์มือถือพัฒนาขึ้น คนซื้อหามาใช้ได้ อีกทั้งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตก็ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้คนต้องปรับตัว สื่อก็ต้องปรับตัว คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเป็นพลเมืองที่เท่าทัน

มีปัจจัยองค์ประกอบอย่างน้อย 7 ประการ ที่บอกถึงเงื่อนไขการเท่าทัน Digital เช่น Access การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต, Communication การสื่อสาร และ Commerce การทำธุรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นอีก เช่น การเท่าทันสื่อดิจิทัล มารยาทในการใช้อินเตอร์เน็ต สิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบ ตอนนี้ทุกคนกลายเป็นสื่อและเป็นผู้สร้างวาระขึ้นได้เองแล้ว ไม่ต้องรอนักข่าว นอกจากนี้ยังมีประเด็นความมั่นคงปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะแม้เราจะใช้สื่อออนไลน์ฟรีแต่มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะข้อมูลส่วนตัวของพวกเรา รวมทั้งพฤติกรรมความชอบ /ไม่ชอบสิ่งใด จะถูกเก็บเอาไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ทางการค้า สิ่งเหล่านี้พวกเราต้องเรียนรู้ร่วมกัน และแลกเปลี่ยนกันได้ในวันนี้ ตัวอย่างเช่น การที่เขาพบว่าคนไทยชอบดูฟุตบอลมาก ก็มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ และมีผู้ไปประมูลฟุตบอลอังกฤษปีหน้า

ผศ. ดร. เอื้อจิต กล่าวว่า กระแสโลกออนไลน์ เมื่อจัดสัดส่วนแล้ว มุมสีเทากับดำค่อนข้างมากกว่า ที่น่าเป็นห่วงคือสื่อหลักผลิตซ้ำสื่อออนไลน์ ซึ่งขณะนี้การนำเสนอเนื้อหาในสื่อต่างๆ มักจะมีองค์ประกอบคือ SLVR โดย “S” หมายถึง sex หรือเรื่องเพศ “L” หมายถึง ภาษา ทั้งในความไม่เหมาะสม ภาษาที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น “V” หมายถึง Violence ความรุนแรง และ “R” หมายถึงภาพตัวแทนคนในสังคมที่จูงใจให้คนอยากเป็น อยากมีอย่างนั้นบ้าง เช่น สวย หล่อ ดัง มีชื่อเสียง ทำให้วิธีคิดผิดเพี้ยนไป แต่ไม่ใช่ภาพตัวแทนของสังคมอย่างแท้จริง ตัวอย่างกรณีตำรวจถ่ายรูปคู่กับเปรี้ยว ซึ่งเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เพจที่ได้รับความนิยมเป็นกระแสหลักตอนนี้ มีแนวโน้มจะเสนอภาพของ SLVR ค่อนข้างมาก ดังนั้นคำถาม คือ ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ รู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล

ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมออนไลน์คือ ทำอย่างไรให้คนได้รู้ว่าจะเสนอเนื้อหาอย่างไรที่เป็นประโยชน์ ทำให้เห็นว่า เมื่อเราเข้าถึงออนไลน์แล้ว ทำอย่างไรจะให้ชีวิตของเราดีขึ้น สังคมดีขึ้น ซึ่ง Digital Literacy (การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล) จึงเป็นเรื่องสำคัญ

นายชุมพร เจ้าของเวปไซต์ ขอนแก่นลิงก์ กล่าวว่า เริ่มทำตั้งแต่ปี 2543 ตอนนี้ถือว่าเวปไซต์ได้กลายเป็นสื่อเก่าไปแล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลัก แต่หากจะมองเป็นโอกาสหรือความท้าทายก็ได้ เพราะยุคนั้นยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อเดิมกระตือรือร้นและสนใจเข้าสู่แพลทฟอร์มของดิจิตัล

ดังนั้นหากมองเป็นโอกาสก็ยังมีมาก แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการคุกคาม และมีความท้าทาย เพราะใครๆ ทุกคนก็เป็นนักข่าว สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาได้เอง โอกาสคือนอกจากมีเวปไซต์แล้ว มีไลน์ เพจ และอื่นๆ ก็มีเรื่องรายได้เข้ามา

“รายได้หลักของผมตอนนี้ไม่ใช่หน้าเวปไซต์ แต่เป็นยอดการกด like เพจ ส่วนอีกด้านก็มาจากการไปทำ Content อื่นๆ ได้ เช่น เครือข่ายเพื่อนสื่อกระแสหลักและสื่ออาชีพ ก็มีส่วนมากในการประสานเพื่อช่วยเหลือกัน และช่วยแก้ปัญหา เช่น มีคนแจ้งเรื่องขยะเข้ามาที่เพจ ผมก็ประสานไปที่สื่อหลักช่วยนำเสนอ ทำให้ผู้ว่าฯลงมาดูแล และเร่งจัดการแก้ไขปัญหา” นายชุมพร กล่าว

น.ส. สุภิญญา กล่าวว่า เรื่องที่นายชุมพรเล่ามาน่าสนใจมาก เพราะไม่เพียงแต่สื่อกระแสหลักเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่จะเห็นว่าเวปเพจก็ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของสื่อออนไลน์ด้วย และคนจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจผิดว่า Facebook คือ อินเตอร์เนต แต่ที่จริง Facebook เป็นแค่ Application ตัวหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่มีคนใช้จำนวนมาก จนทำให้มีอำนาจต่อรองได้มากกว่าเวปไซต์ ซึ่งวันนี้ Facebook ใหญ่มาเป็นอันดับ 3 ของโลก จนทำให้สื่อในสหรัฐ ทั้งเวปไซต์ ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง โดยทำเพจเอง เพื่อเชิญชวนคนมาเข้าถึงสื่อของเขาโดยตรง เรียกร้องให้สื่อใหม่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้รับผิดชอบ และคืนกำไรกลับมาสู่สังคมด้วย แต่ในเมืองไทยยังไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับยักษ์ใหญ่ด้านสื่อออนไลน์เหล่านี้

ด้าน อาจารย์สุรีวัลย์ จากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ภาควิชาการก็ต้องปรับหลักสูตร ปรับรายวิชาและปรับตัวเช่นกัน ต้องเพิ่มเนื้อหาสื่อใหม่และดิจิทัลด้วย เพราะเราไม่ต้องการสร้างนักศึกษาที่จบไปแล้วไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่ตอนนี้ต้องการคนที่มีทักษะหลายด้าน

ซึ่งการปรับตัวนี้ก็เป็นเรื่องยากมากเช่นกัน เช่น ที่คณะฯ เดิมมีหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติฉบับกระดาษ ต่อมาก็เปิดเพจเฟซบุ๊ก และสร้างเวปไซต์ แล้วมีแผนจะเพิ่ม Platform ขยายการกระจายข่าวสารใน Twitter และ YouTube ด้วย ซึ่งตอนนี้เราต้องเท่าทัน ไม่เพียงแต่ Media Literacy ต้องเป็น Digital Literacy ด้วย

นายชุมพร กล่าวเสริมว่า ตอนนี้สิ่งที่น่าห่วงคือ การสื่อสารออนไลน์ทำให้เป็นช่องทางของการเสนอข่าวลวง ข่าวไม่จริง ผู้ใหญ่ คนสูงอายุหลายคนได้รับข้อมูลมาแล้วก็กดแชร์ต่อโดยไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างใน ดังนั้น ควรทำให้คนทั่วไปเข้าใจปัญหานี้และเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์

อาจารย์สุรีวัลย์ กล่าวว่า นอกเหนือจากข่าวลวงแล้ว การทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลักบางครั้งก็รู้ทั้งรู้ว่าพาดหัวข่าวบิดเบือน หรือสร้างความหวือหวา ผิดจริยธรรม กองบรรณาธิการก็รู้ แต่ยังคงเลือกที่จะทำ เพราะต้องการเพิ่มยอด Like และมองประโยชน์เชิงการตลาดหรือรายได้มากกว่า

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่พบมาก คือ การสั่งซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ตามสั่ง ไม่มีคุณภาพ แล้วติดตามเงินคืนไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ผู้เสียหายก็ทำได้แค่ประจานผ่านเฟซบุ๊กขอตัวเอง ดังนั้น จึงเสนอให้มีกลไกที่จะดูแล ได้แก่

  1. ในทางกฎหมาย มีหลายหน่วยงานดูแล ทั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลฯ หาก 3 หน่วยงานนี้ร่วมมือกันได้ดี ก็น่าจะกำกับดูแลได้
  2. ภาคผู้บริโภคกำกับดูแลกันเอง คือ การส่งเรื่องการร้องเรียนโฆษณาเกินจริง ส่งผลให้มีการปรับลงโทษได้ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการสื่อที่ดีรวมกลุ่มกัน
  3. มาตรการทางกฎหมาย โดยให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันฟ้องคดี เช่น ขอให้คิดค่าโทรเป็นวินาที ก็มีผู้บริโภคกว่า 400 ราย ร่วมฟ้องหมู่ และอีกกรณีคือ กระทะเกาหลีขายราคาแพงเกินจริง และล่าสุดคือ การขายเครื่องสำอางออนไลน์ยี่ห้อหนึ่งที่สินค้าไม่ได้มาตรฐาน แล้วผู้บริโภครวมกลุ่มกันฟ้องผู้ประกอบการ

นอกจากนี้คืออยากได้กลไกจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับสถาบันการเงิน ธนาคาร ว่า หากมีการซื้อของที่ไม่ได้รับของตามตกลงแล้ว ธนาคารสามารถโอนเงินกลับคืนให้ผู้ซื้อได้ และอีกประเด็นคือ การเปิดเผยรายชื่อของบริษัทที่มีปัญหาเพื่อให้สังคม และคนอื่นๆ ได้รับทราบข้อมูลด้วย

จากนั้น น.ส. สุภิญญา ได้กล่าวสรุปปิดท้ายว่า น่าจะได้ความร่วมมือกับดีป้า เพื่อพัฒนาต่อไป รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้และการฝึกอบรม บทบาทสื่อ และภาคประชาชนในท้องถิ่น มีความสำคัญที่ต้องรวมตัวกันเพื่อจะได้ทำงานด้านการเฝ้าระวัง

ในระดับบุคคลก็คงมีความตื่นตัวกันแล้ว แต่การรวมกลุ่มก็น่าจะมีเครือข่ายเพื่อร่วมกันให้ข้อมูลเฝ้าติดตามตั้งแต่ประเด็นพื้นฐาน จนถึงโครงสร้างระดับนโยบาย และ โครงสร้างพื้นฐานหรืออื่นๆ รวมทั้งการเสริมความเข้มแข็งของภาคพลเมืองในการต่อกรกับสื่อออนไลน์

การสร้างพื้นที่ในการพูดคุยหารือกับ Google หรือ Facebook ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ทำงานที่คืนกำไรให้สังคมไทยด้วย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

30 สิงหาคม 2561